สวนผักข้างบ้าน ของผู้ประกาศข่าวที่บอกให้ผักสู้ชีวิต - บ้านและสวน

สวนผักตามสะดวกของผู้ประกาศข่าวที่บอกให้ผักสู้ชีวิต

สวนผักข้างบ้าน ที่เราตั้งเรียกสนุกๆ ว่า สวนผักตามสะดวก เกิดในระหว่างบทสนทนาถึงที่มาที่ไปของสวนครัวแห่งนี้

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคุณหญิง อรุโณทัย ศิริบุตร ผู้ประกาศข่าวที่ลงมือปลูกผักใน สวนผักข้างบ้าน นี้ได้บอกถึงหนึ่งวิธีดูแลผักของเธอว่า ต้องคุยกับพวกเขาเสมอและบอกกับเขาว่า “พวกเธอต้องอดทนนะ” เพราะบางช่วงเวลาทำงานอาจจะไม่ได้ใส่ใจใดๆ เลย

แต่กลับดูเหมือนว่าสวนผักข้างบ้าน ที่มีพืชผักนานาชนิดแห่งนี้จะงดงามสมบูรณ์และสู้ชีวิตพอสมควร เพราะการเรียนรู้เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือมีสวนครัวข้างที่เป็นเหมือนตู้เย็นเก็บผักสด ที่พร้อมเก็บเข้าครัวตลอด 24 ชั่วโมง อาจจะยังต้องใช้เวลาและอาศัยฤดูกาลเข้าช่วย แต่ระหว่างนี้การปลูกผักและทดลองอะไรใหม่ๆ ก็ยังคงเป็นความสนุกที่คุณหญิงเรียนรู้อยู่ทุกวัน

สวนผักข้างบ้าน

บทเรียนแต่ละเรื่อง ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสวนครัวแห่งนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เธอได้พัฒนาฝีมือการปลูกให้ลึกยิ่งขึ้น และเธอยังคงสนุกกับการทำสวนอยู่เสมอแม้จะมีเวลาบ้าง ไม่มีเวลาบ้างก็ตามที

เนื้อหาจากหนังสือ FarmHouse สวนเกษตรในบ้าน

สวนผักข้างบ้าน

ดิน เจ้าปัญหาแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำ สวนผักข้างบ้าน

ด้วยหัวใจที่ชื่นชอบธรรมชาติเป็นทุนเดิม จุดประสงค์แรกของพื้นที่ว่างข้างบ้านหลังใหม่จึงตั้งใจจะทำเป็นสวนป่าธรรมชาติ มีน้ำตกไหลรินให้ผ่อนคลาย แต่เมื่อถึงเวลาย้ายเข้าอยู่ความตั้งใจนั้นได้ถูกล้มเลิกเพราะเริ่มมีแนวคิดอยากปลูกผักไว้รับประทานเอง แม้จะมีสัญญาณเตือนบางอย่างบอกว่าดินที่มีอยู่ตอนนี้ไม่เหมาะจะปลูกพืชใดๆ

“พอรู้ว่าดินจากการถมดินไม่สามารถปลูกผักได้ จึงไปซื้อดินถุงมาปลูกค่ะ ตอนแรกไม่ผสมอะไรเลย เทปุ๊ปปลูกผักต่อเลย เราก็แปลกใจทำไมผักมันเป็นแบบนี้ ไม่สวยเลย ก็เลยไปศึกษาดูคนอื่นๆ ทำค่ะเขาใช้ดินแบบไหนกัน อย่างพี่แอน เพจเกษตรสุขกลางกรุงเขาจะหมักดินก่อนเราก็ลองทำบ้างพยายามผสมเครื่องปลูกลงในแปลงเลยค่ะ ไม่ได้หมักตามพี่แอน100% ที่ต้องใช้เวลานานถึง 1 เดือน จะมีบางแปลงที่ทำตาม บางกระถางก็ลองทำตามสูตรคนอื่นๆ ด้วย”

จากความไม่รู้สู่การทดลองทำตามครูเกษตรในอินเตอร์เน็ต สูตรดินที่คุณหญิงทดลองทำใช้เองจึงหลากหลาย ทั้งชนิดที่ผสมแล้วปลูกทันที แบบที่หมักในแปลงให้ย่อยสลายก่อน ผลที่ได้คือข้อแตกต่างที่ของผักในล็อตเดียวกัน ปลูกพร้อมกันแต่เติบโตไม่เท่านั้น จึงเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เธอรู้ว่าควรหมักดินก่อนปลูกผักเสมอ

สวนผักข้างบ้าน

ปลูกผักต้องจัดให้เหมือนอยู่ในแจกัน

“ผักชนิดแรกที่ปลูกคือถั่วฝักยาวค่ะ ปลูกยากเหมือนกันค่ะ ได้ผลฝักเล็กๆ แล้วก็เจอเพลี้ยแป้งมารุม ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะกำจัดยังไงก็ใช้น้ำฉีดออกค่ะ ตอนนั้นก็ไม่สวยเลย เหมือนเรายังปลูกไม่เก่ง แต่ก็ใจสู้อยากปลูกผักแล้วทำสวนให้มันสวยด้วยเลยทำแปลงปลูกจริงจัง ให้ช่างทำตามที่เราออกแบบ แล้วเริ่มจากปลูกผักง่ายอย่าง โพระพา กะเพรา”

“หลังจากนั้นก็เลือกสะเปะสะปะมากค่ะ อยากปลูกอะไรก็ปลูกโดยไม่รู้ว่ามันเหมาะกับฤดูไหน หรือว่ามันจะต้องปลูกดินอย่างไร ลองปลูกไปเรื่อยๆ ตอนนี้มีทั้งผักกินใบอย่างเคล ผักชี กะหล่ำปลี กวางตุ้ง มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว บัตเตอร์เฮด กะหล่ำปลี ผักกาดฮิ่น อยากปลูกอะไรที่มันเยอะๆ ค่ะ ชนิดที่ว่าเดินออกจากบ้านแล้วเก็บกินได้เลย คิดในใจว่าอยากจะทำข้างบ้านให้เหมือนตู้เย็นค่ะ”

ความหลากหลายของพืชผักที่ปลูกคละกันในแปลงปลูก คุณหญิงบอกเคล็ดลับของเธอที่ใช้ว่า คิดว่าให้เหมือนกับการจัดแจกัน มีสูงกลางต่ำ คละๆ ในหนึ่งแปลง เพื่อให้แปลงผักดูสวย น่าเข้าไปชมหรือใช้งาน แต่ต้องจัดการแปลงให้มีความโปร่งป้องกันเป็นที่อยู่ของเพลี้ยต่างๆ ด้วย

สวนผักข้างบ้าน

ไม้ผลปลูกแทนไม้ใหญ่ ให้ร่มเงาและกินได้

ด้วยพื้นฐานที่ชอบธรรมชาติเป็นทุนเดิม และเคยอยากทำสวนป่ารอบบ้าน ไม้ยืนต้น ไม้ใบ หลากหลายชนิดยังคงเติบโตอย่างสวยงามรอบรั้วบ้าน และยังมีไม้ผล ปลูกแซมอยู่อย่างแนบเนียนด้วย การเลือกทิศปลูกไม้ผลสำคัญมาก พื้นที่ที่มีจำกัดต้องเลือกปลูกในตำแหน่งที่ไม่บังแสงแดดตรงแปลงผักกินใบ แนวการปลูกจึงอยู่ในระยะห่างจากสวนครัว ชิดแนวรั้ว โดยใช้เป็นมุมนั่งเล่นที่มีร่มเงาช่วยบังแดดแทน

“ตอนนั้นที่ต้นไม้ใหญ่ตายไป เลยหาไม้ผลมาปลูกแทนที่ค่ะ จะได้กินผลด้วย ตอนนี้ก็มีทั้ง กระท้อน มะม่วง ส้มโอ ส้มจิ๊ด หลักๆ ก็จะเป็นมะม่วงมีหลายพันธุ์เหมือนกันค่ะ ปลูกไม้ผลมันดีตรงที่ไม่ต้องใส่ใจมาก ไม่เหมือนผักกินใบที่ต้องดูแลเป็นประจำ ”

สวนผักข้างบ้าน

แปลงผักออกแบบตามสะดวก

“ไอเดียการทำแปลงผักก็ดูจากต่างเว็บประเทศค่ะ ตอนเลือกตำแหน่งว่าก็จะสังเกตทิศทางของแสงแดดที่จะพาดมาฝั่งนี้นานกว่าจุดอื่นๆ ไม่มีอะไรมาบัง แปลงผักจึงมาอยู่มุมข้างบ้านตรงนี้ทั้งหมด ได้แดดเกือบทั้งวันจะมีแค่แปลง 2 แปลงที่โดนแดดน้อย”

การจัดวางแปลงผักสวนครัวเลือกวางในตำแหน่งขวางตะวัน ดีไซน์แบบสมมาตร ใช้อิฐประสานก่อเป็นแปลงสี่เหลี่ยมผืนผ้าในความสูง 20 เซนติเมตร ยาว 1.80 เมตร กว้าง 0.80 เมตร ปูทางเดินเป็นเส้นตัดกากบาทสำหรับเป็นทางสัญจรให้ใช้งานได้ทุกด้าน โรยด้วยหินแม่น้ำแทนการปูหญ้า ทั้ง 4 แปลงปลูกกินใบเป็นหลัก มีแซมต้นมะเขือและมะเขือเทศบ้างตามลำดับความสวยงาม ส่วนแปลงด้านหลังขึ้นค้างให้ถั่วฝักยาว เคียงคู่กับบ่อทำดินจากเศษใบไม้

ปุ๋ยทำเองจากเศษใบไม้ใน สวนผักข้างบ้าน

ในบ่อหมักประกอบด้วยเศษอาหาร เศษใบไม้ มูลวัว น้ำหมักจุลินทรีย์ หมักสุมเป็นกองในบ่ออิฐประสานในมุมในสุดของสวน คุณหญิงเลือกปล่อยให้อินทรีย์วัตถุย่อยสลายตามธรรมชาติ ไม่มีการพลิกกลับกองใดๆ ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ปุ๋ยหมักมาใช้ ผักที่งอกงามในแปลงตอนนี้จึงเกิดจากการปรุงดินเป็นหลัก เสริมมูลวัวบ้างในบางครั้ง

“การใส่ปุ๋ยไม่มีตารางใดๆ เลยค่ะ  แค่สังเกตดูว่าตอนนี้ต้นไหนส่วนไหนมีสภาพย่ำแย่ก็จะเติมปุ๋ย เติมน้ำหมักให้ค่ะ ดูแลตามสะดวกจริงๆ”

มะระขี้นกยักษ์ ตั้งใจเก็บเมล็ดพันธุ์
ปลูกกะหล่ำปลีในพื้นที่กรุงเทพต้องสู้กับอากาศร้อน
พืชผักบางส่วนในสวน

มาถึงตรงนี้อาจจะเห็นภาพแปลงผักตามสะดวก ที่คุณหญิงดูแลแบบสบายๆ แต่เธอบอกกับเราทิ้งท้ายว่า ทุกอย่างต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ปัญหาที่เจอจะหาวิธีแก้ ไปค้นคว้าวิธีที่คนอื่นๆ ทำ แต่ก็หลายครั้งที่ทำตามมืออาชีพแล้วแต่ไม่ได้ผลกับสวนก็มี เพราะสภาพแวดล้อมแต่ละที่มันต่างกันจึงต้องค้นหาวิธีที่เหมาะกับสวนของเราเอง

 

เรื่อง Jomm YB

ภาพ ฤทธิรงค์ จันทองสุข

Little ‘Joy’ Garden สวน ‘จอย’ เล็กจิ๋ว แต่ความสุขใหญ่มาก

สวนครัวบนดาดฟ้า อาคารพาณิชย์เก่าที่มีพืชผักกว่า 100 ชนิด