15 วิธีลดบ้านร้อน
เวลาร้อนๆ ใครบ้างไม่หงุดหงิด ความร้อนจัดลดทอนคุณภาพชีวิตในหลายๆด้าน ที่สำคัญ ความร้อนทำให้สิ้นเปลืองพลังงานและเงินที่ใช้ทำความเย็น มาดู วิธีลดบ้านร้อน กันเถอะ
ก่อนจะไปดู วิธีลดบ้านร้อน ก่อนอื่นต้องทราบถึงสาเหตุที่ทำให้บ้านร้อนเสียก่อน โดยแยกเป็นหัวข้อ ดังนี้
- สภาพภูมิอากาศและฤดูกาลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บ้านร้อน
- ตำแหน่งบ้านในแง่ของการวางตามทิศทางแดดลมหรือไม่ พูดง่ายๆเรื่องนี้คือการวางบ้านให้รับลมหลบแดดได้ดี
- รูปแบบอาคารที่มีผลต่อการรับและถ่ายเทความร้อน รวมไปถึงการป้องกันความร้อนทางกายภาพจากองค์ประกอบอาคารนั้น
- สภาพแวดล้อมของอาคารบ้านเรือน แม้เราจะวางและออกแบบบ้านให้เย็นได้ แต่ถ้าอาคารและสิ่งแวดล้อมโดยรอบปิด โอกาสที่บ้านจะเย็นก็น้อยลง
- สภาพภูมิทัศน์มีผลต่อความร้อนเย็น กรณีนี้คงจะเห็นได้ชัดว่าต้นไม้ให้ร่มเงา ทำให้ร่มเย็น สระน้ำบ่อน้ำช่วยให้เกิดละอองน้ำ ทำให้บริเวณรอบๆเย็น ดังนั้นถ้าเราขาดซึ่งสภาพภูมิทัศน์ที่เหมาะสมก็จะทำให้บ้านร้อนได้
- ภาวะเรือนกระจก ไม่ได้ทำให้บ้านร้อนอย่างเดียว แต่ทำให้โลกร้อนขึ้นด้วย
เอาละ ตอนนี้มาดู วิธีลดบ้านร้อน กันครับ
1. วางตัวบ้านด้านยาวตามแนวตะวันออก – ตะวันตก
วางผังบ้านให้ผนังส่วนใหญ่ (ด้านยาว) หันไปในแนวเหนือ-ใต้ ถ้าทำไม่ได้ ให้หันหน้าบ้าน (จะเป็นด้านยาวหรือสั้นก็ตาม) ไปทิศเหนือ เพราะทิศเหนือเป็นทิศที่แดดสาดส่องเข้า (หน้า) บ้านได้น้อยที่สุด ขณะเดียวกัน ลมที่มาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้จะพัดเข้าหลังบ้านและข้างบ้าน วิธีนี้เรียกว่าเป็นการวางบ้านตามแนวทิศทางแดดลม เป็นวิธีแรกที่สถาปนิกต้องใช้
2. ออกแบบให้ห้องที่ใช้งานน้อยช่วยบังแดด
ออกแบบบ้านให้รับลมหลบแดด นอกจากประเด็นแรกแล้ว เราสามารถวางผังบ้านให้ห้องที่อยู่อาศัยประจำรับลมหลบแดดให้มากที่สุด ส่วนห้องที่มีการใช้งานน้อยหรือต้องการให้โดนแดดก็ให้อยู่ทางทิศตะวันตก เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว โรงรถ ห้องเก็บของ
3. ออกแบบให้มีหน้าต่างให้ลมเข้า – ออก ได้สะดวกมากที่สุด
เส้นทางที่ลมพัดผ่านไปสู่ทางออกย่อมผ่านห้องและบริเวณต่างๆ บ้านก็จะเย็น หมายความว่าควรมีหน้าต่างทางทิศใต้ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และมีหน้าต่างให้ลมออกได้ในทิศทางตรงข้าม
4. มีองค์ประกอบที่ช่วยกันแดด – ดักลมเข้าบ้าน
ส่วนต่างๆของบ้านสามารถกำหนดให้เป็นองค์ประกอบเพื่อการกันแดดดักลมให้เข้าบ้านได้ เช่น แผงบังตา ห้องครัว โรงรถ องค์ประกอบเหล่านี้ควรอยู่ทางทิศตะวันตก
5. ออกแบบบ้านให้ระบายและถ่ายเทความร้อนได้ดี
ข้อนี้ดูจะซ้ำกับข้อ 3. แต่จริงๆแล้วเป็นภาพรวมของแนวคิดในการออกแบบบ้านทั้งหลัง โดยให้อากาศพัดผ่านและถ่ายเทความร้อนได้เร็วที่สุด คือทำผังชั้นล่างให้มีความโปร่งโล่งมากที่สุด ลมจากหลังบ้านหรือหน้าบ้านพัดผ่านไปหลังบ้านได้ กรณีที่ดักลมเข้ามาได้แล้ว ควรวางผังห้องให้โล่งติดต่อกัน ให้ลมพัดออกมาได้มากที่สุด ในเวลาเดียวกันความร้อนที่สะสมอยู่กับผนังและส่วนต่างๆของบ้านก็ทำให้บ้านร้อนโดยการถ่ายเทออกมา บ้านที่อับทึบจะรู้สึกร้อนอบอ้าวมากที่สุด โดยเฉพาะบ้านก่ออิฐฉาบปูนที่ทำกันอยู่ การเจาะช่องหน้าต่างจึงช่วยระบายความร้อนได้ดี แม้จะอยู่ในทิศทางลมหรือไม่ก็ตาม
6. ใช้วัสดุกันความร้อนทั้งผนังและหลังคา
การทำผนังหนาทึบกับการเลือกใช้วัสดุกันความร้อนทั้งผนังและหลังคาช่วยทำให้บ้านเย็นได้ โดยการหน่วงให้ความร้อนเข้าได้ช้าลง แต่ในที่สุดก็เข้ามาได้ในเวลาหนึ่ง ดังนั้นการทำให้ลมพัดผ่านเพื่อระบายความร้อนออกไปก็เป็นวิธีที่ต้องทำเพิ่มเข้าไปด้วย
7. หลังคาจั่ว หลังคาปั้นหยาทรงสูง กันความร้อนได้ดีกว่าหลังคาแบน หลังคาทรงเตี้ย
เพราะอากาศในตัวหลังคาจะเป็นฉนวนกันความร้อนจากดวงอาทิตย์
8. ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา
ปลูกต้นไม้ทางทิศตะวันตก ตะวันตกเฉียงใต้ ช่วยให้ร่มเงาแก่ตัวบ้าน บ่อน้ำสระน้ำที่อยู่ในทิศเดียวกัน ความชื้นที่ได้จากไอน้ำ ละอองน้ำ ช่วยให้บ้านเย็นได้
9. กันสาดมีส่วนช่วยให้บ้านเย็น
กันแดด กันสาด มีส่วนช่วยให้บ้านเย็น เพราะกันแดดส่องกระทบบ้าน แต่ต้องไม่ลืมที่จะทำให้บ้านมีลมพัดผ่าน ถ่ายเทความร้อนได้ดี
10. สนามหญ้าหรือที่โล่งในสวนมีส่วนช่วยนำให้ลมพัดผ่านเข้ามาสู่ตัวบ้าน
วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่มีที่ดินมากๆ เพราะที่โล่งจะสร้างสภาวะให้เกิดความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสอากาศจากบริเวณโดยรอบที่มีความกดอากาศสูง กลายเป็นลมพัดเข้าปะทะตัวบ้าน
11. กำหนดให้พื้นที่หลักของบ้านอยู่ทางทิศตะวันออก
กำหนดให้พื้นที่สนาม ข้างบ้าน หลังบ้าน ที่ใช้เป็นพื้นที่หลักสำหรับทำสนาม ทำสวน อยู่ทางทิศตะวันออก บริเวณนี้จะร่มในตอนบ่าย ห้องหรือส่วนใช้สอยในทิศนี้จะร่มเย็นตั้งแต่บ่ายจนดวงอาทิตย์ตก ห้องอาศัยและทำกิจกรรมต่างๆในตอนกลางวันควรอยู่ในบริเวณนี้ ยกเว้นบริเวณหรือห้องที่ใช้รับแดดบังแดดให้ห้องอื่นๆตามที่กล่าวไปแล้ว
12. ทำหลังคาคลุมระเบียง เฉลีบง ชาน
ระเบียง เฉลียง ชาน ทั้งชั้นล่างและชั้นบนของบ้าน หากมีหลังคาคลุมนอกจากจะทำให้ได้การใช้สอยเต็มที่ คือกันแดดและฝนแล้ว หลังคาขององค์ประกอบเหล่านั้นยังทำให้เกิดร่มเงากับตัวบ้านได้อย่างมาก บ้านจึงไม่ร้อน
13. ไม่ควรทำลานพื้นคอนกรีตหรือกระเบื้องทางทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้
เพราะแสงแดดจะสะท้อนเข้าบ้าน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ทำหลังคาคลุม ปลูกไม้ยืนต้นบังแดด หรือทำแผงระแนงไม้เลื้อยบังแดด
14. บ้านชั้นครึ่งรับลมและระบายอากาศได้ดี
บ้านชั้นครึ่งสามารถออกแบบให้มีการรับลมและระบายอากาศได้ดีกว่าบ้านหนึ่งชั้นและสองชั้น
15. บ้านและต้นไม้ใหญ่ของเพื่อนบ้านทางทิศตะวันตกจะให้ร่มเงาดีแก่บ้านเรา
การวางตัวบ้านที่ค่อนมาทางทิศนี้จะทำให้บ้านเย็น วิธีนี้ไม่ใช่วิธีการในเชิงสถาปัตยกรรม แต่เป็นผลพลอยได้ในเชิงของทำเลที่ตั้งอาคาร แต่หากเป็นกลุ่มอาคารในโครงการใดๆสามารถใช้หลักการจัดวางอาคารให้บังแดดซึ่งกันและกันได้ และถือเป็นวิธีการทางสถาปัตยกรรม
เรื่อง : วรวิทย์
ภาพประกอบ : ธัญลักษณ์ วรรณเสน