สวนสวยสไตล์ทรอปิคัล จากพื้นที่ทิ้งร้าง ทิ้งขยะของชุมชน - บ้านและสวน

สวนสวยสไตล์ทรอปิคัล จากพื้นที่ทิ้งร้าง ทิ้งขยะของชุมชน

พื้นที่สีเขียวแห่งนี้ตั้งอยู่ในย่านรามอินทรา 99 หลังแฟชั่นไอส์แลนด์ ซึ่งเดิมเป็นเพียงพื้นที่รกร้างและพื้นที่ทิ้งขยะของชุมชน แต่หลังได้รับการชุบชีวิตพลิกฟื้นพื้นที่ให้กลายเป็นสวนสวยใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ในสไตล์สวนทรอปิคัล

“ผมทำงานเกี่ยวกับการรับเหมามานาน ตั้งใจอยากเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นออฟฟิศใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยมีสวนให้ตัวเองและลูกน้องได้นั่งทำงานหรือนั่งผ่อนคลายให้หายเครียด มีออกซิเจนให้สูดได้อย่างเต็มปอด รวมถึงให้ลูกสาวได้มีพื้นที่วิ่งเล่น ประกอบกับเรามีโอกาสไปคาเฟ่หลายแห่ง และประทับใจในสวนที่จัดไว้ โดยเฉพาะที่ Chom Cafe and Restaurant จังหวัดเชียงใหม่ จึงเก็บแรงบันดาลใจจากสวนสวยในคาเฟ่ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมของประเทศที่เคยได้ไปสัมผัส มาจินตนาการเป็นสวนสวยในแบบฉบับของตัวเอง” คุณวัฒน์-จารุวัตร จีระมานะพงศ์ เจ้าของสวนสวย ณ แลเฌอ เดอ คาเฟ่ (Lae-Cher De Cafe) ได้เกริ่นถึงที่มาของความต้องการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่แห่งนี้

ตัวอาคารเลือกใช้ผนังกระจกใสที่เปิดมุมมองขนานยาวไปตามแนวสวน ทำให้ถึงแม้ว่าจะนั่งในโซนด้านในก็รู้สึกได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เพิ่มอรรถรสในการรับประทานอาหารหรือดื่มกาแฟมากยิ่งขึ้น
คุณจารุวัตร จีระมานะพงศ์ วิศวกรผู้มีใจรักและหลงใหลในสวน

“เมื่อผมมีแบบสวนที่อยากได้คร่าว ๆ ไว้ในใจแล้ว ก็เริ่มให้ทางน้อง ๆ ดีไซเนอร์ในออฟฟิศมาช่วยกันออกแบบ ทำเป็นภาพสามมิติออกมา จากนั้นก็คำนวณโครงสร้าง และให้ช่างรับเหมามาช่วยกันทำ แต่การทำสวนโดยวิศวกรแบบที่ไม่มีประสบการณ์ในการจัดสวน ก็ทำให้มีปัญหาต้องรับมือแก้ไขกันอยู่ตลอดเวลา อย่างบริเวณหัวน้ำตก ผมเข้าใจว่าเทคอนกรีตแค่บริเวณฐาน แล้ววางอิฐมวลเบาขนาดใหญ่ที่เหลือจากไซต์ก่อสร้างคู่กับการซ้อนหินฟองน้ำขึ้นไปก็พอแล้ว แต่ข้อผิดพลาดที่พบก็คือผมใช้หินเยอะมาก ทำให้โครงสร้างมีน้ำหนักมาก ยิ่งเมื่อเริ่มเปิดระบบน้ำก็พบว่าหินฟองน้ำและอิฐมวลเบาที่วางไว้อุ้มน้ำเยอะกว่าที่คาดการณ์ ทำให้น้ำหายไปจากระบบมากกว่าที่คำนวณ จาก 5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 20 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงฐานรากทรุดเล็กน้อย จึงต้องมีการปรับแก้กันใหม่ ส่วนต้นไม้ในช่วงแรกก็ขาดความรู้ในการดูแล แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มเข้าใจและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น”

สภาพพื้นที่เดิมมีน้ำขังอยู่ใต้ดินค่อนข้างมาก ทำให้มีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ส่งผลให้รากของต้นไม้ใหญ่ได้รับผลกระทบ ทางเจ้าของและนักจัดสวนจึงได้ยกระดับพื้นที่บริเวณตุ้มดินขึ้นและปั้นเนินดินใหม่แทนการฝังรากลึกลงในดิน
บอนกระดาด หนึ่งในพรรณไม้ที่คนในชุมชนนำมามอบให้ สำหรับใช้ปลูกประดับในสวน

หลังจากที่ทางเจ้าของได้สร้างโครงสร้างหลักและลงต้นไม้ใหญ่ไว้เป็นไม้ประธานของสวน รวมถึงงานฮาร์ดสเคปบางส่วนแล้ว แต่ภาพในจินตนาการกับของจริงยังไม่เหมือนกัน ก็ได้เวลาที่นักจัดสวนมากฝีมืออย่าง คุณไม้-ฐาปนิต โชติกเสถียร จากMurraya Garden จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและช่วยเติมแต่งภาพบรรยากาศในการจัดสวนแห่งนี้ด้วย

“จากความต้องการของเจ้าของที่อยากได้สวนป่า โดยมีกนกนารีเลื้อย เฟิน และมอสส์เป็นต้นไม้หลักในสวน ร่วมกับต้นไม้ใหญ่ที่ลงไว้ ผมจึงเลือกคุมโทนของพรรณไม้เป็นโทนสีเขียว แต่มีมิติที่หลากหลายและดูแลรักษาได้ง่าย ด้วยไม้ยืนต้นระดับกลาง ไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน เช่น ทรีเฟิน บอนกระดาด หนวดปลาดุก โครงเครงเลื้อย และเสน่ห์จันทร์แดง ซึ่งจะมีขอบแปลงที่ชัดเจน เพื่อแบ่งระหว่างพื้นที่ของพรรณไม้กับพื้นทางเดิน ทำให้สามารถจัดการดูแลได้ง่าย และใช้งานได้สะดวก โดยในระหว่างทางที่ดำเนินการก็จะเป็นการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนไอเดียซึ่งกันและกันระหว่างผมในฐานะนักจัดสวนกับคุณวัฒน์ วิศวกรผู้มีใจรักและหลงใหลในสวนอยู่ตลอดเวลา จนทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายมาเป็นผลงานสวนที่ค่อนข้างลงตัวครับ”

น้ำตกขนาดใหญ่ที่ซ่อนอยู่ด้านในสุดของสวนเปรียบเสมือนโอเอซิสที่ช่วยเติมความสดชื่นให้แก่ผู้คนที่มาเยี่ยมเยือน
ทางเดินในสวนออกแบบให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ภาพรวมดูน่าสนใจและน่าใช้งาน อีกทั้งยังมีการเล่นระดับ เพื่อให้รู้สึกเป็นธรรมชาติคล้ายกำลังเดินขึ้นเนินเล็กๆ ในป่า
การปลูกมอสส์สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ การใช้ดินเหนียวเชื่อมระหว่างวัสดุกับมอสส์ และการติดมอสส์ลงไปที่หินโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหินฟองน้ำสำหรับสวนน้ำตก

“เมื่อสวนเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง จากตอนแรกที่คนส่วนใหญ่มองว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่มีมูลค่า และยากที่จะเปลี่ยนแปลง กลายเป็นตอนนี้ต่างก็ให้ความสนใจ และจากที่คนในชุมชนรอบ ๆ สงสัยว่าจะสร้างอะไร พอเห็นเป็นสวนก็เอาต้นไม้มาให้ปลูก นอกจากนี้อาคารสำนักงานที่เดิมตั้งใจไว้ว่าจะเป็นแบบโมเดิร์นก็เปลี่ยนมาเป็นบาร์นเฮ้าส์ หรือโรงนาในรูปแบบผสมผสานเพื่อให้เข้ากับสไตล์สวนมากยิ่งขึ้น ส่วนห้องประชุมริมหน้าต่างก็เปลี่ยนมาเป็นคาเฟ่ที่ชื่อ แลเฌอ เดอ คาเฟ่ (Lae-Cher De Cafe) ซึ่งมาจากคำว่า ‘แล’ ที่หมายถึง ดูหรือชม คำว่า ‘เฌอ’ ที่หมายถึง ต้นไม้ ซึ่งเป็นชื่อของลูกสาวด้วย ในตอนนี้แลเฌอจึงเป็นคาเฟ่ในบรรยากาศกลางสวนที่ทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่รวมความสุข ผู้คน และสัตว์น้อยใหญ่ไว้ในที่เดียวกัน” คุณวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย พร้อมรอยยิ้ม

การจัดวางหินประดับน้ำตกควรเน้นทิศทางการไหลของน้ำ และมีจำนวนที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

หากพิจารณาดูดี ๆ แล้ว กรุงเทพฯ ยังคงมีพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่มีผู้ใช้งานและถูกปล่อยปละละเลยทิ้งไว้จนรกร้างกระจายตามจุดต่าง ๆ อยู่มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งหากเราสามารถเปลี่ยนพื้นที่เหล่านี้ให้กลายมาเป็นสวนเขียว ๆ เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยธรรมชาติที่สมบูรณ์ได้เช่นเดียวกับสวนแลเฌอแห่งนี้ เมืองก็คงจะน่าอยู่เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเลยทีเดียว

แลเฌอ เดอ คาเฟ่ (Lae-Cher De Cafe)
Facebook: https://www.facebook.com/laechaedecafe
เลขที่ 100 ซอย 99 ถนน รามอินทรา คันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230
โทร : 086 308 3912

นิตยสารบ้านและสวน เดือนมีนาคม 2566
เจ้าของ: คุณจารุวัตร จีระมานะพงศ์
จัดสวน: Murraya Garden โดยคุณฐปนิต โชติกเสถียร
เรื่อง: สริดา จันทร์สมบูรณ์
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
ผู้ช่วยช่างภาพ: เอกสุวัชร์ จงจิรวัฒน์