อารีย์ ย่านน่าเดินแบบ "อารีย์สไตล์" - บ้านและสวน

อารีย์ ย่านน่าเดินแบบ “อารีย์สไตล์”

อารีย์ ย่านที่ปรับตัวเข้ากับบุคลิกและยุคสมัยของผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากิน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของย่านพักอาศัยที่เอื้ออารีกับทุกคน

ถ้าพูดถึง อารีย์ กับคนต่างช่วงวัย ภาพจำของแต่ละคนแตกต่างกันสิ้นเชิง หากถามคนสูงวัย มักนึกถึงบ้านพักของนักการเมืองหรือกลุ่มนายทหารระดับสูงผู้มีบทบาทกับบ้านเมืองในยุคก่อน หากถามคนวัยทำงาน หลายคนจะนึกถึงอาคารสำนักงานของธนาคารและเทคโนโลยี รวมทั้งส่วนราชการ แต่หากถามวัยรุ่นยุคนี้ แน่นอนว่าต้องเป็นแหล่งแฮงก์เอ๊าต์ ด้วยบุคลิกของความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายและเป็นตัวตน มารู้จักย่านอารีย์ผ่านมุมมองของ คุณณัฐนิช ชัยดี และ คุณนภัทร จาริตรบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม AriAround

คุณณัฐนิช ชัยดี และ คุณนภัทร จาริตรบุตร

ประวัติศาสตร์ของย่านที่มาพร้อมกับผู้คน

แรกเริ่มเดิมที อารีย์เป็นย่านอยู่อาศัย จากที่เรายังเห็นเค้าโครงของการเป็นพื้นที่ชุมชนจากการแบ่งสรรที่พักในซอยอารีย์อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยได้ชื่อ “อารีย์” มาจากชื่อไทยของ นายอารีย์ สุขวิรัชย์ นายห้างอีแอม กาติ๊บ ชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งรกรากในย่านนี้บนพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเกือบร้อยไร่ ก่อนจะแบ่งขายแล้วย้ายไปอาศัยในย่านราชวัตร

ฟากหนึ่งอารีย์เป็นย่านชุมชนที่พักอาศัยที่ยังยืนหยัดมาจนถึงปัจจุบัน เรายังคงเห็นบ้านเก่าหลังใหญ่ที่อยู่เป็นบ้านพักของคนรุ่นลูกหลานยาวนานถึงปัจจุบัน ทั้งคฤหาสน์สไตล์คลาสสิก บ้านที่คงบุคลิกดั้งเดิมในแบบโมเดิร์น มาจนถึงบ้านยุคใหม่จากฝีมือสถาปนิกชื่อดังของไทย อีกฟากหนึ่งริมถนนพหลโยธินเรียงรายด้วยอาคารสำนักงานที่เข้ามาทำการเป็นย่านธุรกิจและเทคโนโลยีมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งสองฟากเชื่อมต่อกันด้วยข้ามสะพานลอยคนข้ามรูปสามเหลี่ยมที่เป็นแลนด์มาร์กของอารีย์ อีกจุดสำคัญที่เชื่อมความเป็นย่าน ผ่านการเชื่อมคนจากทั้งฝั่งบ้านและฝั่งสำนักงานให้เข้าถึงกันง่ายขึ้นตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน

สะพานลอยรูปสามเหลี่ยม

สะพานคนข้ามรูปสามเหลี่ยมแห่งนี้ เป็นงานออกแบบของ ศาสตราจารย์ ดร.รชฏ กาญจนะวณิชย์ แห่ง R.K.V. Engineering และ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา จากโจทย์ที่ธนาคารกสิกรไทยต้องการสะพานลอยคนข้ามที่ไม่ใช่สะพานลอยธรรมดา อ้างอิงจากบริบทของสามแยกรูปตัวที (T) บริเวณหน้าปากซอยอารีย์ นักออกแบบจึงออกแบบให้เป็นรูปสามเหลี่ยมเพื่อร่นระยะการเดินข้ามฝั่งถนนให้สั้นที่สุด ความเป็นสามเหลี่ยมยังส่งต่อมายังรูปทรงของโครงสร้างเหล็กที่โอบล้อมทางเดินเอาไว้ ให้ชื่อว่า Space Truss บนเสารับน้ำหนักสามต้นของสะพาน และเรียกว่าได้รับเสียงตอบรับจากงานสถาปัตยกรรมที่สวยงามเป็นอมตะ และได้รับการยกย่องจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น สาขาอาคารสาธารณะประโยชน์

อ่านเรื่องน่าสนใจ : รวมร้านเด็ดดีไซน์เก๋ย่านอารีย์ที่ไม่ได้มีแต่คาเฟ่

อารีย์
ธนาคารทหารไทย สาขาสนามเป้า

ย่านที่ไม่เคยหลับใหล แม้ผ่านยุคสมัยที่หลากหลาย

หากจะพูดถึงหน้าตาของย่านที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับอารีย์แล้ว กลิ่นอายของสถาปัตยกรรม และอาคารบ้านเรือนในแนวราบยังคงมนตร์ขลังอย่างไม่มีเสื่อมคลาย แม้จะมีการแทรกตัวของกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยแนวดิ่งในบางพื้นที่ เรายังเห็นอาคารสหกรณ์พาณิชย์พระนครที่ยังเปิดทำการเป็นแหล่งจับจ่ายให้ผู้คน เคียงคู่ไปกับห้างสรรพสินค้าวิลล่าอารีย์ในฝั่งตรงข้าม หรือธนาคารทหารไทย สาขาสนามเป้า อาคารคอนกรีตเปลือยผิวลูกฟูกที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปนิกยุคโมเดิร์น ซึ่งคงอยู่ยาวนานมาจนถึง 47 ปี โดยมีฉากหลังในปัจจุบันเป็นอาคารวานิชเพลซ อารีย์ ที่กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วๆ นี้ ซึ่ง 1 ใน 34 สาขาแรกของธนาคารทหารไทยแห่งนี้ออกแบบโดยคุณชัชวาล​ พริ้งพวงแก้ว แห่ง Design 103 International ในขณะที่ยังเป็นสถาปนิกหนุ่มไฟแรง ด้วยแนวคิดของป้อมปราการ สอดประสานไปกับชื่อของธนาคาร พร้อมกับเป็นบังเกอร์เพื่อความปลอดภัยให้ธนาคารที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งโล่งกว้างในยุคนั้น

ยุคสมัยของสถาปัตยกรรมเปลี่ยนผ่านไปตามการย้ายเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คน จากยุคทหารหรือผู้มีอันจะกิน ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่กลายเป็นพื้นที่อุ่นใจของศิลปินและนักออกแบบที่เลือกเข้ามาอยู่ในย่านนี้เพราะความสะดวกสบาย จนรังสรรค์กลายเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ จะว่าไปเรื่องราวในฐานะพื้นที่แฮงก์เอ๊าต์ของอารีย์ก็เริ่มต้นจากร้านอาหาร “PLADIB ปลาดิบ” ที่อยู่คู่กับอารีย์มาเกือบยี่สิบปี จากไอเดียที่ว่า ทำไมอารีย์จะมีร้านอาหารดีๆ เหมือนทองหล่อไม่ได้ ตั้งแต่นั้นมา บุคลิกของอารีย์จึงกลายเป็นย่านสังสรรค์แบบสบายๆ แต่มีคาแร็กเตอร์ด้านดีไซน์ที่เป็นลายเซ็นชัดเจน ส่งต่อแรงบันดาลใจมาจนถึงยุคนี้

เอกลักษณ์สำคัญของคาเฟ่หรือร้านอาหารในย่านอารีย์​จึงมักเป็นการรีโนเวตหรือปรับปรุงอาคารเก่ามาเป็นร้านรวงรูปลักษณ์ใหม่ที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยยังคงเสน่ห์ของความเป็นกันเองในแบบอารีย์จากกลิ่นอายของบ้านเก่า บวกกับความคิดสร้างสรรค์ คาเฟ่หรือร้านรวงที่อารีย์จึงมอบบรรยากาศและความอบอุ่นแบบที่ไม่เหมือนที่ไหน

อารีย์
โรงงานนิวยอร์ค เคมีเกิ้ล
อารีย์

ตัวอย่างคาเฟ่ Beaker and Bitter ในซอยสายลม 1 (พหลโยธิน 8) ที่เคยเป็นโรงงานนิวยอร์ค เคมีเกิ้ล โรงงานยาธุรกิจครอบครัวที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2510 และถูกส่งต่อถึงคนรุ่นลูกหลาน จนสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้ให้เป็นทั้งคาเฟ่ และ Co-working Space ที่ยังคงรักษาข้าวของเครื่องมือเครื่องใช้และกลิ่นอายเดิมเอาไว้อย่างทรงคุณค่า เรียกว่าเป็นเหมือนกับการปลุกพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่หลับใหลให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และยังเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตของชุมชน เราเองก็เป็นหนึ่งในลูกค้าที่แวะเวียนไปยังร้านบ่อยๆ ด้วยจักรยานสีเหลืองคู่ใจ และคุณป้าเจ้าของบ้านก็มักจะมาคุยด้วย “อยู่แถวนี้หรอลูก มาบ่อยๆ นะ” นี่แหละกลิ่นอายความอบอุ่นแบบอารีย์ที่เรายังไม่เคยเจอจากที่ไหน

อารีย์
ซอยเสนาร่วม 1

อารีย์ อย่างอารี

อีกบุคลิกหนึ่งในความเป็นเมืองของอารีย์ที่ทำให้เราประทับใจและรักย่านนี้เป็นพิเศษคือ การเป็นเมืองเดินได้ จะเห็นได้ว่าทุกซอยในย่านนี้จะมีทางเดินเท้าที่รายล้อมด้วยต้นสนให้ร่มเงาตลอดทาง หลายร้านเดินทะลุกันได้ในระยะเดิน หรือช่วงเย็นย่ำ เราจะเห็นคนจูงสุนัขออกมาเดินเล่นริมฟุตปาธจนเป็นภาพที่ชินตาของย่านนี้

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความรู้สึกแบบอารีย์เหนียวแน่นแม้จะผ่านกาลเวลาไปแสนนาน คือความเป็นอยู่ของผู้คนในย่านนี้ หลายครอบครัวตั้งรกรากส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น หรือระหว่างร้านชิกๆก็จะมีร้านรวงเก่าแก่เป็นตำนานที่ยังยืนหยัดแทรกอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกระแสและสังคม หลายคนมองอารีย์ว่าเป็นย่านกลางเมือง แต่จะว่าไปเสน่ห์ของอารีย์ก็คือความอารี ความเกื้อกูลกันทั้งจากคนที่อยู่กันมาแต่เดิม และความเกื้อกูลกันระหว่างยุคสมัย ที่วิถีชีวิตทำงานได้ดีไม่ว่าจะกับคนที่อยู่ในย่านหรือผู้มาเยือน

อ่านเรื่องน่าสนใจ : THAMMADA SHOP คาเฟ่ย่านอารีย์ที่ชื่อ ‘ธรรมดา’ แต่ว่าพิเศษ

กิจกรรม Eco Walk เดินป่าในอารีย์ สำรวจพืชพรรณและสัตว์ในย่านของเพจ AriAround

เรามองว่าอนาคตของอารีย์ก็จะยังคงหน้าตาเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ด้วยเหตุผลของความเป็นชุมชนเข้มแข็ง แต่ยังคงเปิดรับความเปลี่ยนแปลงในระดับจุลภาคอยู่ตลอด ความเข้มแข็งของชุมชนไม่ได้มาจากเพียงแค่กลุ่มรกรากเดิม แม้แต่ผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่ต่างก็แนะนำที่นี่ให้เป็นย่านอยู่อาศัยที่ดีที่สุดย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ​ ก็สานสัมพันธ์เข้ากับย่านอย่างแน่นแฟ้น จากงาน Community Space และอีเว้นต์ขนาดเล็กหลังบ้านที่ทยอยจัดกิจกรรมรวมกลุ่มและความสนใจของผู้คนเป็นประจำ ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยในย่านนี้จึงใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในย่านอย่างสบายใจ ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีจากสิ่งที่เมืองขนาดเล็กแห่งนี้มอบให้


เรื่อง : ณัฐนิช ชัยดี, นภัทร จาริตรบุตร

ภาพ : Courtesy of AriAround (นภัทร จาริตรบุตร)


ทองหล่อ – เอกมัย การประชันและประนีประนอมในย่านสร้างสรรค์

ตลาดน้อย ย่านรอยต่อทางวัฒนธรรมและยุคสมัยของเมือง

ติดตามบ้านและสวน