ราวกันตกปลอดภัย สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ สัตว์เลี้ยง - บ้านและสวน

ราวกันตกที่ปลอดภัยกับเด็ก ผู้สูงอายุ สัตว์เลี้ยง

ราวกันตกเตี้ย ระยะซี่ห่าง หรือมีขั้นให้ปีนป่ายได้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุในบ้านได้ มาดูการออกแบบ ราวกันตกปลอดภัย สำหรับทุกชีวิตในบ้านกัน

การพลัดตกจากที่สูง การล้มเสียหลัก เป็นอุบัติเหตุในบ้านที่เกิดขึ้นบ่อยกับเด็กและผู้สูงอายุ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) จึงได้ศึกษาการออกแบบราวกันตกและราวจับ เพื่อลดอุบัติเหตุภายในบ้าน แต่ก่อนที่จะออกแบบราวกันตกให้ปลอดภัยให้กับคนทั้งบ้าน (ครอบครัว) ได้ ต้องมาดูว่าใครในบ้านที่มีความเสี่ยงสูงในการใช้งานราวกันตกกันบ้างราวกันตกปลอดภัย  

บ้านคุณฤทธี, คุณกมลทิพย์ และคุณฤดีวรรณ มีขนอน ดูบ้านนี้แบบเต็มอิ่ม

เด็กในบ้านเสี่ยงพลัดตกมากที่สุด

อุบัติเหตุในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน สรุปปัจจัยสำคัญได้ดังนี้

  1. สรีระของเด็กและพัฒนาการตามวัย อยู่ในช่วงวัยที่อยากรู้อยากเห็น เด็กจึงชอบสำรวจ สัมผัสจับต้องสิ่งต่างๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งสภาพร่างกายของเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ร่างกายจึงยังไม่สมดุล
  2. ความประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ที่ดูแลเด็ก
  3. สิ่งแวดล้อม ทั้งสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ และสิ่งแวดล้อมด้านสังคม เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุในเด็กได้

(อ้างอิง : สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์, 2551; อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์, 2550; Morrongiello, Ondejko & Littlejohn, 2004)

จะเห็นว่าการป้องกันอุบัติเหตุในเด็กนั้น ต้องออกแบบรายละเอียดให้มีความปลอดภัยเพียงพอ และคำนึงถึงพฤติกรรมการอยากเรียนรู้ตามวัยของเด็กที่อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงคำนึงถึงการอยู่แบบลำพังได้ด้วย จึงได้มีการกำหนดการทำราวกันตก (The balcony railings) ที่ปลอดภัย ดังนี้

  1. ความสูงราวกันตก จากพื้นถึงขอบราวบนสูงไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยืนพิงได้อย่างปลอดภัย ไม่พลัดตกลงไปได้ ซึ่งเป็นความสูงที่มากกว่าระดับกึ่งกลางตัวคนทั่วไป
  2. ระยะห่างซี่ กำหนดให้ระยะห่างของซี่ในช่อง (ช่องแนวตั้งและแนวนอน) ช่องว่างต้องไม่เกิน 9 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นระยะที่เด็กเล็กไม่สามารถมุดลอด โดยเอาหัว เท้า ขา และลำตัวสอดเข้าไปได้ (อ้างอิง : ศูนย์วิจัยเพื่อเสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี “การประชุมเวทีประชาชนเพื่อความปลอดภัยในเด็ก” คณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน (จุฬา-รามา-ศิริราช) ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (มิถุนายน, 2554.)
  3. รูปแบบราวกันตก ต้องออกแบบรายละเอียดคิดถึงพฤติกรรมของทุกคน โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้ ต้องสามารถลดโอกาสการปีนป่าย ด้วยการออกแบบราวกันตกแบบซี่ หรือลูกกรงต้องเป็นแนวตั้ง ส่วนซี่ราวแนวนอน มีเป็นคานยึดซี่ราวกันตกได้เท่านั้น (ไม่มีโครงสร้างแนวนอน หรือไม่มีช่องรูที่วางเท้าได้)
  4. การลดความเสี่ยงปีนป่าย ไม่ควรวางของที่สามารถปีนป่ายได้ใกล้ราวกันตก เช่น คอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ที่นั่ง กระถางต้นไม้
  5. ความคงทนแข็งแรง ราวกันตกต้องติดตั้งแข็งแรงมากเพียงพอต่อการรับน้ำหนักของร่างกาย ทั้งการพิง การยึดตัว การประคองตัวได้ดี หากราวกันตกเป็นกระจก ควรเลือกชนิดกระจกลามิเนต (Laminated glass) เพราะหากถูกกระแทกจนแตก แผ่นฟิล์มจะยึดกระจกไม่ให้หลุดร่วงออกมา สามารถป้องกันการทะลุทะลวง และลดอันตรายจากการร่วงหล่นของเศษกระจกได้
ราวกันตกปลอดภัย
ราวกันตกปลอดภัย

รู้ไหม เพียงทำราวกันตกให้ปลอดภัย ก็ช่วยลดอุบัติเหตุในเด็กได้มาก

จากการรวบรวมสถิติข้อมูลประเทศไทย เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุของเด็ก อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 15 ปี ในปี พ.ศ. 2555 พบว่า เด็กได้รับอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้ม มากเป็นอันดับ 2 ทั้งปี 2555-2556 รองจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินและประสบอุบัติเหตุยานยนต์ (อนุชา เศรษฐเสถียร, 2557) และสถิติจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร ด้านการแพทย์ฉุกเฉินไทย, 2557) ก็ยังพบว่า สถิติเด็กมีอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้ม มากเป็นอันดับ 2 เช่นกัน

งานวิจัยของ Dr. John F Culvenor ประเทศออสเตรเลีย พบว่า ในปี 1992-1993 มีเด็กได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากที่สูงถึง 6,642 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ถึงร้อยละ 33 ของการบาดเจ็บทั้งหมด โดยการตกส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเครื่องกั้นหรือราวกันตกที่สูงไม่ถึง 90 เซนติเมตร หรือไม่ก็เป็นการมุดลอดตามช่องของซี่ราวกันตก ซึ่งมีความกว้างมากจนเด็กสามารถมุดลอดได้ โดยระบุว่าช่องว่างระหว่างราวระเบียงเป็นจุดที่ดึงดูดให้เด็กอยากเข้าไปเล่นมาก เนื่องจากมีขนาดที่เหมาะต่อการสอดแขน ขา หรือศีรษะ และอีกพฤติกรรมหนึ่งคือ การปีนราวกันตกหรือที่กั้นกันตก
(ที่มา: ศูนย์วิจัยเพื่อเสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี “การประชุมเวทีประชาชนเพื่อความปลอดภัยในเด็ก” คณะแพทยศาสตร์สามสถาบัน (จุฬา-รามา-ศิริราช) ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (มิถุนายน, 2554.)  

มาดูกันว่า เด็กๆ มักเกิดอุบัติเหตุอะไรอีกบ้าง

เด็กๆมักเกิดอุบัติเหตุตามพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยดังนี้

แหล่งที่มา : สุรีย์ลักษณ์ สุจริตพงศ์. (2552). Developmental Aspects in Childhood Injuries. ใน ดุสิต สถาวร, ฤดีวิไล สามโกเศศ และสมศักดิ์ โล่ห์เลขา (บรรณาธิการ). หน้า 308-314. Advance Pediatrics. กรุงเทพฯ: บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด.

ราวจับสำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงแล้ว ผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากเช่นกัน เนื่องจากความเสื่อมถอยของสภาพร่างกาย การเคลื่อนไหว และสายตาที่อาจจะมองไม่ชัดเจน ซึ่งนอกจากทำราวกันตกแล้ว ยังควรทำราวจับเพื่อช่วยพยุงตัวตามพื้นที่ต่างระดับ หรือจุดที่เสี่ยงต่อการล้มได้ บ้านที่มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุควรมีราวจับ 2 ระดับ สำหรับผู้ใหญ่ (ผู้สูงอายุ) และเด็ก โดยมีรายละเอียดการออกแบบดังนี้

ราวกันตกปลอดภัย
  • ราวจับมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30-45 มิลลิเมตร
  • ราวจับมีความสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 0.70–0.90 เมตร
  • ราวจับต้องต่อเนื่องกันตลอด และติดตั้ง 2 ข้างของทางเดินและบันได
  • วัสดุราวจับผิวเรียบ ทำความสะอาดได้ง่าย
  • ราวจับตรงบันได ควรเลยจากขั้นสุดท้ายไปอีกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร เพื่อมีระยะจับได้ต่อเนื่อง ช่วยพยุงตัวได้ดีขึ้น
  • ราวจับด้านที่อยู่ติดผนังให้มีระยะห่างจากผนังไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร
  • วัสดุราวจับควรเป็นสเตนเลส หรือไม้กลมเกลี้ยงโดยสามารถจับได้สบายมือ ซึ่งไม่เย็นหรือร้อนตามสภาพอากาศ
  • วัสดุราวจับมีความมั่นคงแข็งแรง

ราวกันตกสำหรับสัตว์เลี้ยงแสนรักในบ้าน

ครอบครัวในปัจจุบัน นอกจากคนแล้ว ยังมีสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักเป็นเสมือนคนในครอบครัวอีกด้วย ดังนั้น การออกแบบให้เกิดความปลอดภัย ต้องรองรับความเสี่ยงของน้องหมา น้องแมว และสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ในบ้านของเราด้วย โดยได้มีการกำหนดราวกันตกจากงานวิจัยในแมวพบว่า หัวของแมวมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 เซนติเมตร (Tollin and Koka, 2009) จึงได้กำหนดราวกันตกที่รองรับการเลี้ยงสัตว์ไว้ ดังนี้ ราวกันตกปลอดภัย

ราวกันตกปลอดภัย
  1. ระยะห่างซี่ กำหนดให้ระยะห่างของซี่ในทุกช่อง (ช่องแนวตั้งและแนวนอนขอบล่างของราวกันตก) ควรมีระยะห่างค่อนข้างถี่ และมีระยะห่างช่องว่างซี่ลูกกรงไม่เกิน 5 เซนติเมตร เนื่องจากเป็นระยะที่แคบที่สุดที่สัตว์เลี้ยงจะสามารถมุดลอด ตะแคงตัวออกมาได้
  2. รูปแบบราวกันตก หรือส่วนประกอบอาคารที่ไม่ต้องการให้สัตว์เลี้ยงเดินผ่าน หรือหลุดลอดออกไปได้ ควรเป็นรูปแบบทึบ หรือหากต้องการให้มีการระบายอากาศได้ ราวกันตกแบบซี่ลูกกรงต้องเป็นแนวตั้ง ไม่มีสิ่งสำหรับปีนป่ายได้

การออกแบบควรให้ความสำคัญกับทุกคนในบ้าน รวมถึงสัตว์เลี้ยงของเราด้วย จึงได้คิดในทุกรายละเอียด อาจเป็นจุดที่หลายคนมองข้าม หรือทำตามข้อกฎหมายแล้วก็อาจยังไม่เพียงพอ ทีมนักวิจัย RISC จึงคิดอย่างละเอียดเพื่อทุกชีวิต และสร้างเป็น “มาตรฐานการออกแบบและพัฒนาที่อยู่อาศัย” ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันในบ้านได้อย่างปลอดภัย มีความสุขร่วมกันอย่างอิสระ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง


รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน

ติดตาม FB : riscwellbeing


เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน

เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์


การปรับบ้านเพื่อสุขภาวะที่ดี ตามหลัก WELL Building Standard

การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สร้างสุขภาวะที่ดี สร้างพลังงานสะอาด

ติดตามบ้านและสวน facebook.com/baanlaesuanmag