7 ข้อควรรู้ก่อนลงมือทำแปลงผักสวนครัว เพื่อให้ดูแลจัดการง่ายขึ้น
การทำแปลงผักสวนครัว สามารถเลือกปลูกและออกแบบพื้นที่ได้หลายรูปแบบ เพื่อเหมาะกับบริเวณและรูปแบบของสวนตามความชอบ
แต่ทั้งนี้ควรคำนึงถึง 7 ข้อพื้นฐาน เพื่อให้สามารถดูแลและจัดการพื้นที่แปลงปลูกได้ง่ายขึ้น ดังนี้
1. พื้นที่ในสวนครัว ส่วนใหญ่ควรปูพื้นแข็ง
เพื่อหลีกเลี่ยงการปลูกหญ้า เพราะเพิ่มภาระในการตัดหญ้า หากมีช่องว่างระหว่างแผ่นทางเดิน ควรใช้กรวดโรยระหว่างแผ่น โดยต้องปรับดินให้แน่น ใช้ทรายหยาบบดอัดผิวหน้าให้พื้นเรียบ แล้ววางแผ่นทางเท้าฝังลงครึ่งหนึ่ง จากนั้นปูแผ่นตาข่ายพลาสติกรองพื้นเพื่อป้องกันกรวดจม แล้วจึงโรยกรวด ข้อสำคัญควรใช้วัสดุกั้นขอบระหว่างสนามหญ้ากับพื้นที่โรยกรวดด้วย เพื่อป้องกันกรวดกระเด็นออกจากขอบเขต วัสดุกั้นขอบอาจใช้อิฐมอญ ไม้หมอนรถไฟ แผ่นไม้เทียม เหล็กแผ่น หรือพลาสติกกั้นขอบสำเร็จรูป เป็นต้น
2. ไม่ควรทำเนินดิน
เพราะในที่แคบ เนินมีความชันมาก อาจทำให้ดินไหลพังทลายได้ง่าย หากต้องการยกแปลงให้สูง แนะนำให้ปลูกพืชสวนครัวในกระถางหรือกระบะจะดีกว่า
3. สำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมว
ควรแบ่งขอบเขตพื้นที่ของสวนด้วยรั้วกั้น ป้องกันสัตว์เลี้ยงเข้าไปทำลายหรือขับถ่ายบริเวณแปลงพืชผัก
4. หลีกเลี่ยงการจัดสวนในรูปแบบสวนหย่อม
เพราะมักมีการปลูกพืชหลายชนิดร่วมกัน และแบ่งขอบเขตแปลงพืชแต่ละชนิดไม่ชัดเจน ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีอัตราการเจริญเติบโตแตกต่างกัน พืชชนิดที่โตเร็วกว่าจะรุกล้ำไปยังแปลงอื่นๆ จึงควรแบ่งขอบเขตแปลงปลูกด้วยงานพื้นแข็งเพื่อง่ายต่อการจัดดูแลในภายหลัง
5. ควรปูพื้นแข็งใต้หัวก๊อกน้ำ เพื่อไม่ให้เฉอะแฉะ
ติดตะขอสำหรับแขวนสายยางไว้ด้านข้างหัวก๊อก และดูแลความสะอาดบริเวณใต้หัวก๊อกน้ำ เพื่อให้เข้าใช้งานได้สะดวก
6. การปูพื้นแข็งล้อมรอบแปลงปลูก
ต้องระวังปัญหาน้ำท่วมแปลงปลูกผักสวนครัว เนื่องจากระบายน้ำไม่สะดวกเท่าที่ควร การปูพื้นด้วยวัสดลอยตัวประเภทบล็อกพื้น แผ่นทางเท้าสำเร็จรูป สามารถระบายน้ำได้ดีกว่าการเทพื้นคอนกรีต แต่ต้องปูแผ่นให้มีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลไปสู่ฝาบ่อพักที่วางขนานกับกำแพงรั้ว ซึ่งเชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำสาธารณะนอกพื้นที่บ้าน เป็นการช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ดี
7. ควรเลือกปลูกพืชผักอายุยืน
สำหรับเป็นโครงสวน เช่น มะเขือ พริก มะนาว ตะไคร้ มะกรูด เป็นต้น เพราะจะได้ไม่ต้องปลูกพืชบ่อยๆ หากต้องการปลูกผักกินใบค่อยปลูกแทรกในบริเวณที่ง่ายต่อการปรับปลี่ยน
เขียน : รศ.ศศิยา ศิริพานิช ผศ.ดร.เสริมศิริ จันทร์เปรม