เจาะลึกเรื่องราวของ “กระท่อม” ปลูกอย่างไรให้ไม่ตาย?
นับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนให้ทราบถึงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงว่าในประเทศไทยสามารถปลูกและบริโภค กระท่อม ตามวิถีชาวบ้าน
ทั้งนำใบมาเคี้ยวและต้มเป็นน้ำดื่มโดยไม่ผสมสารเสพติดอื่นใด หรือจะซื้อจะขายใบกระท่อมภายในประเทศได้โดยไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป กระท่อม จึงกลายเป็นพืชมาแรงที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เราจึงขอพาไปรู้จักต้นกระท่อมให้มากขึ้น มาดูกันว่าต้องปลูกและดูแลอย่างไรให้เจริญเติบโตได้ดี
กระท่อม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. วงศ์ Rubiaceae เช่นเดียวกันต้นเข็มและกาแฟ เป็นต้นไม้พื้นเมืองของประเทศไทยและมาเลเซีย สามารถพบได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา คนริมทะเลทางภาคใต้เรียกว่า “ท่อม” ส่วนภาคกลางบางสถานที่เรียก “อีถ่าง” ประเทศมาเลเซียเรียกว่า “เบี๊ยะ” (Biak) หรือ “เคอตุ่ม” (ketum)
กระท่อม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูงประมาณ 15-30 เมตร ใบคล้ายใบกระดังงา มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียวเรียงตัวเป็นคู่ตรงข้ามรูปไข่แกมขอบขนาน หูใบรูปหอกอยู่ระหว่างก้านใบ แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อย่อยรูปทรงกลมคล้ายดอกกระถินขนาด 3-5 เซนติเมตร ผลมีลักษณะแคปซูล ภายในผลย่อยมีเมล็ดอัดแน่น เมล็ดมีลักษณะแบน มีสายพันธุ์หลักอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ก้านแดง ก้านเขียว (แตงกวา) และแมงดา (ยักษ์ใหญ่/ขอบใบหยัก/หางกั้ง)
ปลูกด้วยต้นพันธุ์แบบไหนโตเร็วสุด
การขยายพันธุ์กระท่อมมีหลักอยู่ 3 วิธี คือ การเพาะเมล็ด การชำกิ่ง และการเสียบยอด ซึ่งการชำกิ่งในระยะเวลาประมาณ 5 ปีแรกต้นไม้จะโตได้อย่างรวดเร็ว แต่หลังจากนั้นก็จะเริ่มโตช้า สุดท้ายในระยะเวลาประมาณ 10 ปีก็จะได้ขนาดต้นพอๆกับการต้นไม้ที่เกิดจากการเพาะเมล็ดอยู่ดี แต่อย่างไรก็ตามการเพาะเมล็ดจะทำให้คุณภาพและรสชาติของกระท่อมเปลี่ยนไปจากต้นแม่ ส่วนวิธีที่นักปลูกกระท่อมนิยมกันที่สุดคือวิธีการเสียบยอด โดยใช้ต้นกระทุ่มนาเป็นต้นตอ เสียบด้วยต้นพันธุ์จากกิ่งพันธุ์ที่ต้องการ ก็จะได้ต้นกระท่อมที่รสชาติและคุณภาพเหมือนต้นแม่และเติบโตเป็นต้นใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
ต้นกระท่อม ชอบดิน น้ำ แสงแดดแบบไหน
ต้นกระท่อมปลูกได้ในดินทุกประเภทและทนต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง แต่อาจจะได้ผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพดีเท่าที่ควร ต้นกระท่อมจะเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีอินทรียสารสูงหรือดินเหนียวที่มีน้ำและความชุ่มชื้นในดินสูง พื้นที่โดยรอบมีน้ำมากตลอดทั้งปี ทนต่อน้ำท่วมขังและมักนิยมปลูกในบริเวณพื้นที่ริมน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ ชายคลอง หรือริมบึง หากต้องการปลูกเพื่อจำหน่ายและเก็บผลผลิตจำเป็นต้องมีการจัดการน้ำที่สม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง
กระท่อมเป็นต้นไม้ที่ต้องการแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน และไม่ชอบร่มเงาจากสิ่งแวดล้อมรอบๆที่มาบังเรือนยอด ในธรรมชาติหากได้รับแสงแดดไม่เพียงพอจะแทงยอดพุ่งขึ้นสูงและไม่แผ่กิ่งก้าน ทำให้ปริมาณใบน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ใบมีขนาดที่ใหญ่บางขนาดฝ่ามือสีเขียวเข้มและมีโรคพืชรบกวน รวมถึงอาจได้รสชาติและสรรพคุณไม่ได้ตามที่ผู้บริโภคต้องการ หากได้รับแสงแดดเพียงพอจะแผ่กิ่งก้านไปทั่วทุกด้าน โดยมักจะออกกิ่งทีละคู่แทงออกจากลำต้นคนละด้านกัน สลับทิศกันกับกิ่งคู่ต่อไป ดังนั้นจะเห็นว่าเรือนยอดของต้นกระท่อมมีกิ่งที่แผ่ออกจากลำต้นออกไปทั้งสี่ด้านเท่าๆกัน ทำให้ปริมาณใบมีมากขึ้นตามไปด้วย
การดูแลต้นกระท่อม
ต้นกระท่อมเป็นต้นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เองโดยไม่ต้องดูแล ยิ่งหากขึ้นเองในบริเวณที่มีน้ำมากและแสงแดดเต็มวันจะโตเร็วและให้ผลผลิตที่ดีมาก แต่สิ่งสำคัญคือต้นกระท่อมไม่ชอบปุ๋ยเคมี หากดินไม่มีความอุดมสมบูรณ์พอหรือต้องการเร่งผลผลิต สามารถใช้ปุ๋ยคอกโรยที่โคนต้นเพียงอย่างเดียวได้
กระท่อม ยังจัดว่าเป็นต้นไม้ที่มีโรคและแมลงรบกวนไม่มาก โดยโรคที่พบคืออาการใบตกกระอันเกิดจากเชื้อราดำและเชื้อราขาว โดยจะเกิดกับต้นที่ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอและความชื้นสูง ศัตรูพืชสำคัญคือหนอนชนิดต่างๆ เช่น หนอนผีเสื้อหรือบุ้งร่าน คนทั่วไปมักใช้วิธีการกำจัดทีละตัวหรือใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่นให้ทั่วเพราะเป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อการบริโภคกว่า แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งควรทิ้งไว้อย่างน้อย 30 วันจึงสามารถเก็บมาบริโภคหรือจำหน่ายได้
การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากกระท่อมสามารถทำได้ทันทีที่เริ่มแตกใบ โดยจะเก็บใบคู่แรกที่แตกจากกิ่งแขนงไว้กับต้นและเริ่มเก็บผลผลิตในใบคู่ที่ 2-4 เพื่อให้กิ่งนั้นยังสามารถแตกใบใหม่ได้ หากต้องการปลูกเพื่อเก็บผลผลิตในระยะยาวควรเก็บใบเพื่อบริโภค 30-40% จากจำนวนใบทั้งหมดเท่านั้น และทิ้งให้ต้นไม้ได้มีโอกาสแตกใบใหม่โดยเว้นช่วงเก็บเกี่ยวจากรอบแรกถึงรอบถัดไปไว้ประมาณ 15-30 วัน หมั่นสังเกตการติดดอกออกผลเพราะต้องคอยปลิดดอกออกเสมอ เพราะหากกิ่งใดที่ออกดอกและผลก็จะทิ้งใบและกิ่งตาย
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ และ ฤทธิรงค์ จันทองสุข