บ้าน ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ได้แรงบันดาลใจ มาจากไอรอนแมน - บ้านและสวน

บ้าน ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่ได้แรงบันดาลใจ มาจากไอรอนแมน

บ้านที่มีความท้าทายในด้านการออกแบบหลังนี้ มีทั้งผนังที่เป็นเสมือนบังเกอร์ยักษ์ สระว่ายน้ำยกลอย ช่องเปิดไร้เสาซ่อนคานขนาดใหญ่ไว้กับโครงสร้าง มีห้องลับใช้สะสมโมเดลและนั่งทำงาน โดยมีบางส่วนได้แรงบันดาลใจมาจากไอรอนแมน แต่ทั้งบ้านก็อยู่สบาย อากาศไหลผ่านได้ดี และดูอบอุ่น จุดเริ่มต้นมาจากบุคลิกเฉพาะตัวของเจ้าของบ้านที่ชอบความท้าทายทางวิศวกรรม

สถาปนิก: IDIN Architects

เจ้าของ: ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และครอบครัว

 

พื้นคอร์ตกลางบ้านโรยกรวดเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล กระจกสะท้อนโรงรถฝั่งตรงข้าม ด้านขวาเป็นผนังกรุวีเนียร์หินจาก Plan X ซ่อนห้องทำงานส่วนตัวไว้ภายใน
คอร์ตยาร์ดภายในบ้านเปิดรับแสงและลมให้ไหลเวียน ในภาพจะเห็นว่าไร้เสาที่มุมของช่องเปิดนี้ ภายในคอร์ตจัดวางประติมากรรมที่มีความหมายแทนตัวเจ้าของบ้าน
อีกมุมของโรงจอดรถภายใน ติดตั้งม่านโรงรถเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน
สระว่ายน้ำบนชั้น 2 รับวิวสนามกอล์ฟ มีม่านเหล็กฉลุขนาดใหญ่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว บันไดวนสามารถขึ้นไปบนดาดฟ้าได้

บ้านต้องไม่เหมือนใคร

ความท้าทายของบ้านหลังนี้มาพร้อมกับภาพความต้องการที่ชัดเจนของเจ้าของบ้าน ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อาจารย์และวิศวกร ซึ่งต้องการให้ภายนอกดูเหมือนบังเกอร์ ขณะที่การใช้ชีวิตภายในเป็นแบบพูลวิลล่า และยังต้องรองรับผู้อยู่อาศัยทั้งสามรุ่น คุณเอ้บอกเล่าถึงภาพภายนอกของบ้านที่อยากให้เป็นว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมสมัยเมโสโปเตเมียที่เรียกว่า “ซิกกูรัต” (Ziggurat) คล้ายกับพีระมิดขั้นบันไดที่ดูทึบ และเมื่อได้พบสถาปนิก คุณเป้-จีรเวช หงสกุล แห่ง Idin Architects โจทย์แห่งความท้าทายนี้ก็ได้คลี่คลายไปสู่แบบบ้านจริง กับโจทย์ที่ว่า “บ้านต้องไม่เหมือนใคร ให้รู้สึกว่า ‘เฮ้ย ทำแบบนี้ได้ยังไง’”

 

มุมจากทางเดินเชื่อมไปยังคอร์ตที่สอง ไปยังคอร์ตใหญ่ ด้านซ้ายมือเป็นรูปวาดของสมาชิกในครอบครัว

ความต้องการต้องชัดเจน

ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็นวิศวกรและมีความชอบในเรื่องของงานดีไซน์ จึงเป็นเหตุให้บ้านหลังนี้เป็นส่วนผสมซึ่งไม่อยู่ในกรอบการทำงานปกติ ประกอบกับแนวคิดของสถาปนิกที่ต้องการให้สถาปัตยกรรมมีเนื้อหาที่ชัดแจ้ง บริบทต้องชัดเจน และสะท้อนบุคลิกของเจ้าของออกมาอย่างเต็มที่ การทำงานกับทั้งผู้รับเหมา บริษัทวัสดุแต่ละส่วน จึงต้องสอดรับกันไป พร้อมกับการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างทาง แต่ทั้งหมดต้องมีความต้องการที่ชัดเจน คอนเซ็ปต์ที่ไม่เปลี่ยน แต่หาวิธีทำให้ได้ในระดับที่เสมือนบ้านหลังนี้เป็นโชว์เคสที่ใช้อยู่อาศัยอย่างมีความสุขได้ทุกเวลา

เส้นสายของทางเข้าบ้านด้านหน้า กำแพงมีหน้าที่เป็นตัวกันแดดและความร้อน ซึ่งเว้นระยะให้ห่างจากตัวบ้านเป็นช่องลมเหมือนเป็นฉนวนกันความร้อน
ด้วยความชอบส่วนตัวของ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หลังกำแพงวีเนียร์หินกลางบ้าน จึงมีห้องทำงานเป็นเสมือนห้องลับในหนังสายลับซ่อนตัวอยู่ภายใน
ห้องทำงานลับ ภายในเป็นห้องสมุดเล็ก มีคอมพิวเตอร์ ของที่ระลึกส่วนตัว และยังมีชั้นวางโมเดลไอรอนแมนที่ชื่นชอบ

ผนังเหล็กเปรียบเสมือน “บ้านไอรอนแมน”

เนื่องจากต้องการให้บ้านเย็น คุณเอ้จึงกำหนดว่าผนังควรเป็นอิฐมอญ 2 ชั้น และด้านหน้าที่เป็นผนังทึบจะเว้นช่องว่างไว้เพื่อเป็น Air Gap ในการช่วยระบายความร้อน ในตอนแรกมีแนวคิดที่จะใช้หินภูเขาไฟแต่ก็พบว่ามีน้ำหนักมากเกินไป จึงเปลี่ยนเป็นการนำแผ่นเหล็กที่มีความบางมาพับขึ้นรูป (แบบ C Line) และมาประกอบหน้างานแทน โดยเหตุผลที่เจ้าของบ้านเลือกใช้เหล็กแทนก็เพราะชื่นชอบไอรอนแมน ซึ่งภายในบ้านยังได้ออกแบบห้องทำงานส่วนตัวให้มีลักษณะคล้ายห้องลับ เพื่อไว้ใช้ในเวลาที่คุณเอ้ต้องการทำงาน อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือในบรรยากาศเงียบๆ พร้อมกับเป็นที่เก็บโมเดลไอรอนแมนอันเป็นของสะสมส่วนตัว

 

ด้านซ้ายจะเห็นระดับของชั้น 2 ที่แตกต่างออกไป มีการยกระดับพื้นเพื่อซ่อนโครงสร้างและเซอร์วิสของสระว่ายน้ำชั้นบน

เบื้องหลังความโปร่งคืองานแก้ปัญหา

แปลนชั้นล่างของบ้านหลังนี้มีคอร์ตขนาดใหญ่และคอร์ตขนาดเล็ก แบ่งการใช้งานให้เป็นเสมือนตัวแอล (L) สองตัวที่ประกบกัน คอร์ตทำหน้าที่นำแสงเข้ามายังตัวอาคาร เมื่อเปิดคอร์ตใหญ่ก็จะได้บรรยากาศแบบเอ๊าต์ดอร์เป็นวิวภายใน จัดเป็นสวนหินกลิ่นอายญี่ปุ่น ด้วยข้อจำกัดของการปลูกหญ้าภายใน และยังจัดวางประติมากรรมที่เป็นพระเอกของโถงส่วนนี้ไว้ให้รับกับช่องประตูทางเข้า

ส่วนงานโครงสร้างของคอร์ตใหญ่นี้ยังได้ออกแบบให้ตัดเสารับหน้ำหนักตรงมุมออกไปเพื่อความโปร่งโล่ง แต่ก็ทดแทนด้วยการซ่อนคานขนาดใหญ่ 1.60 เมตรไว้แทน ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของสระว่ายน้ำแบบลอยตัวที่อยู่เหนือขึ้นไปอีกชั้นด้วย นับเป็นความท้าทายอีกจุดหนึ่งของการสร้างบ้านหลังนี้

 

คุณปู่คุณยายกับห้องนั่งเล่นส่วนตัว ซึ่งสามารถเปิดสู่คอร์ตที่สองของบ้านได้ และห้องนี้เองก็เป็นห้องที่สมาชิกในบ้านชอบมารวมตัวในช่วงเย็น
ห้องนั่งเล่นอีกด้านหนึ่งของบ้าน ส่วนนี้จะดูทางการขึ้นมาเล็กน้อย รับวิวด้วยกระจกเปิดเพดานสูงสองชั้น
ช่องเปิดทางด้านข้างของบ้านเป็นโรงรถ ที่เป็นกึ่งภายในและภายนอกอาคาร มีส่วนยื่นของอาคารทางทิศตะวันออกและทิศใต้คอยบังแดด

ภายในคือความสุข และชีวิตส่วนตัว

ห้องของคุณปู่คุณย่าก็แบ่งเป็นสัดส่วนรับวิวคอร์ตขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับครัว เป็นห้องนั่งเล่นที่มีความเป็นส่วนตัว แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่แต่กลายเป็นว่าในช่วงเย็นสมาชิกของบ้าน ทั้งคุณเอ้ ภรรยา และลูกๆ กลับชอบมานั่งคุยเล่นกันในห้องคุณปู่คุณย่าเป็นประจำ

ตลอดแนวทิศที่ติดกับสนามกอล์ฟและทะเลสาบด้านทิศตะวันตกก็ออกแบบเป็นระเบียงยาว สามารถนั่งเล่นรับวิวได้เหมือนร้านอาหารในรีสอร์ตที่รับวิวดวงอาทิตย์ตก แต่สถาปนิกต้องเลือกใช้พื้นไม้เทียมรุ่นที่มีความทนทานเป็นพิเศษเพื่อรับกับแดดแรงๆ ที่สาดเข้ามาในช่วงบ่าย สนามหญ้าด้านนี้ก็ปล่อยเป็นทางลาดลงน้ำ เพื่อไม่ให้ตลิ่งชันเกินไป สร้างความปลอดภัยและไม่ต้องลงทุนสร้างแนวปูนกั้นด้วย ทั้งหมดต่างจากภาพกำแพงเหล็กที่ดูเคร่งขรึม เมื่อพื้นที่ภายในเต็มไปด้วยบรรยากาศความอบอุ่นที่สมาชิกทุกคนใช้งานร่วมกันได้

 

พื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือนพูลวิลล่า ด้านหนึ่งเป็นสระน้ำ อีกด้านรับวิวสวนภายในบ้าน
ชั้น 2 ที่จัดพื้นที่ใช้งานแบบพูลวิลล่า สามารถใช้ชีวิตได้ครบในส่วนนี้เช่นกัน มีทั้งครัว พื้นที่นั่งเล่น เชื่อมต่อกับห้องนอนใหญ่พร้อมสระว่ายน้ำ
เคาน์เตอร์สีดำชั้น 2 มองผ่านสระว่ายน้ำไปเป็นสนามกอล์ฟสีเขียวชอุ่ม
บรรยากาศของห้องนอนใหญ่ให้ความรู้สึกเชื่อมต่อกับส่วนภายนอก เช่นเดียวกับการวางแปลนเรียบง่ายขนานกันไปตลอดแนวสระว่ายน้ำ
ห้องน้ำชั้น 2 อยู่ทางทิศใต้ช่วยกันความร้อนที่จะเข้าไปสู่ห้องนอน และรับแดดเพื่อช่วยในด้านสุขอนามัยที่ดี เชื่อมต่อกับสระว่ายน้ำได้

พูลวิลล่าบนชั้น 2

จากความต้องการที่จะให้การใช้ชีวิตในบ้านได้บรรยากาศพักผ่อนสไตล์พูลวิลล่าที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความท้าทายอีกอย่าง นั่นคือการยกสระว่ายน้ำขึ้นไปชั้น 2 โดยเป็นส่วนที่ยื่นออกไปจากตัวบ้านด้วย ในชั้นนี้บ้านจึงเหมือนมีการทำสเต็ปยกระดับขึ้นไปเพื่อรองรับสระว่ายน้ำ ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ซ่อนงานระบบในบางส่วนด้วย โดยวางแปลนให้มีครัว พื้นที่นั่งเล่น เชื่อมต่อกับสระว่ายน้ำผ่านบานเลื่อนกระจก จัดการทำม่านขนาดใหญ่เพื่อช่วยบังแดดและสร้างความเป็นส่วนตัวไปพร้อมกัน ด้วยการนำแผ่นเหล็กบางแบบเดียวกับที่ทำกำแพงด้านทางเข้ามาพับและเจาะเป็นลวดลายเพื่อให้ลมยังคงไหลผ่านและได้วิวบางส่วน

 

บ้านเบื้องหลังกำแพงจะเว้นช่องลมไว้ เพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนตามธรรมชาติให้อากาศไหลเวียน นอกจากนี้ยังมีการเติมเป็นบ่อบัวขนาดเล็กเพื่อช่วยเพิ่มความเย็นและความร่มรื่นก่อนเข้าบ้าน
มุมจากด้านสนามกอล์ฟย้อนกลับไปยังตัวบ้าน เห็นม่านเหล็กเด่นชัด มวลของอาคารที่ยื่นบนชั้น 2 คือสระว่ายน้ำ ถือเป็นความท้าทายในการทำโครงสร้างบ้านพักอาศัย

แม้จะแข็งกร้าว แต่มีความ “คราฟต์” มากกว่าที่คิด

คุณเอ้พูดถึงการสร้างบ้านหลังนี้ว่า แม้ว่าบ้านจะดูเคร่งขรึม แต่เมื่อลงรายละเอียดในทุกจุดเพื่อให้บ้านออกมาดีนั้น การทำงานมีความคราฟต์มากกว่าที่คิด ตั้งแต่รั้ว ผนังเหล็กที่ต้องพับเรียงสลับแบบอิฐ พื้นภายนอก วีเนียร์หินของผนังห้องลับ การเรียงไม้และกระเบื้องที่ต้องสื่อสารไปกับการจัดวางของต่างๆ ในบ้าน การแก้ปัญหาผนังบ้านร้าวจากการที่ผู้รับเหมาฉาบผนังภายนอกหนาเพื่อต้องการความเนี้ยบ แต่หลังจากที่ได้เดินชมบ้านหลังนี้ ก็พบว่าผลลัพธ์ที่ได้มีความคุ้มค่ากับความใส่ใจของทีมงานจริงๆ

 

เรื่อง: สมัชชา วิราพร

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล

สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์


บ้านโมเดิร์นบรรยากาศรีสอร์ตรับวิวที่เขาใหญ่

คาเฟ่สวยสำหรับคนที่รักงานโมเดิร์น โดย IDIN Architects

วิธีการจัดการกับต้นไม้และคอร์ตยาร์ดในบ้าน