การเลือกวัสดุที่ปลอดภัยเพื่อการอยู่อาศัยที่ดี ลดเสี่ยงเกิดโรค
วัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านก็ทำให้เสี่ยงต่อโรคและอันตรายได้โดยไม่รู้ตัว เพราะภายในวัสดุมีส่วนประกอบที่มองไม่เห็นแฝงอยู่ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) จึงศึกษาข้อมูลประกอบงานวิจัยเพื่อการสร้างสุขภาวะที่ดีในการอยู่อาศัย และแนะนำ 6 วัสดุ เพื่อสุขภาวะที่ดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ มะเร็ง สารพิษ และการบาดเจ็บ ซึ่งมีทั้งวัสดุที่ช่วยสร้างคุณภาพอากาศ และวัสดุเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของทุกคนในครอบครัว มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง
สีปลอดสาร VOCs ลดเสี่ยงภูมิแพ้
VOCs หรือ Volatile Organic Compounds คือ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย สามารถระเหยเป็นไอได้ในอุณหภูมิห้องและความดันปกติ ส่งผลต่อคุณภาพอากาศในบ้านทำให้อากาศเป็นพิษ ซึ่งพบได้ในน้ำยาทำความสะอาด สารฆ่าแมลง สีทาบ้าน กาว ยาแนว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ภายในบ้านมีระดับความเข้มข้นของสาร VOCs สูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน หากได้รับสารพิษนี้เป็นประจำจะก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทและภูมิคุ้มกัน หากได้รับสารเป็นระยะเวลานานๆ อาจก่อโรคมะเร็ง อวัยวะภายในถูกทำลาย ในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กแรกเกิดพิการได้ เพื่อคุณภาพอากาศที่ดีภายในบ้าน จึงควรสังเกตคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และเลือกใช้วัสดุที่ปราศจาก VOCs หรือมีค่า VOCs ต่ำ รวมถึงวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษที่ช่วยฟอกอากาศหรือช่วยดูดซับก๊าซพิษได้ เช่น สีทาภายในที่มีเทคโนโลยี Air Detoxify ช่วยสร้างอากาศที่บริสุทธิ์ มีส่วนผสมของ Microban ที่สามารถป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย หรือ ผลิตจาก Lime Base ที่ช่วยการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ รวมทั้งมีคุณสมบัติเช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่ายก็จะไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรีย หรือสังเกตการรับรองจากมาตรฐานต่างๆ เช่น Cradle to Cradle Gold, Global GreenTag, GreenTag Health PLATINUM, Sensitive Choice, French VOC A+, LEED วัสดุปลอดภัย
เฟอร์นิเจอร์ปลอดสารฟอร์มาลดีไฮด์ ลดเสี่ยงมะเร็ง
ในทุกคืนที่หลับ เตียงนอนกำลังทำร้ายคุณด้วยสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่ก่อโรคมะเร็ง ของแถมที่มากับเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้มาตรฐานหรือเปล่า ? สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นก๊าซไม่มีสี มีความเป็นพิษ สามารถปนเปื้อนได้ในอากาศ สารชนิดนี้นิยมใช้ในอุตสาหกรรมสี สารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ไม้ ไม้อัดและไม้แปรรูปอื่นๆ และถูกนำมาใช้เป็นน้ำยารักษาเนื้อไม้เพื่อป้องกันปลวกและแมลงต่างๆ โดยเฉพาะในการทำตู้ โต๊ะ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงสิ่งทอและที่นอนมาตรฐานต่ำ ลองสังเกตง่ายๆ เวลาซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้เข้าบ้าน มักจะมีกลิ่นฉุน “ของใหม่” ซึ่งก็คือไอระเหยของสารฟอร์มาลดีไฮด์นั่นเอง หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจเกิดอาการเป็นพิษเฉียบพลัน ปวดท้อง อาเจียน อุจจาระร่วงและหมดสติหรือถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด แต่ถ้าสูดดมในปริมาณน้อย อาจเกิดอาการระคายเคือง เช่น แสบตา แสบจมูก และหากสูดดมในระยะยาว จะทำให้เกิดผลเสียกับระบบร่างกายต่างๆ และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย
วิธีเลือกเฟอร์นิเจอร์หรือวัสดุทำเฟอร์นิเจอร์ที่ปลอดภัยจากสารฟอร์มาลดีไฮด์ ให้ดูสัญลักษณ์ที่บ่งบอกค่ามาตรฐานการวัดค่าสารฟอร์มาลดีไฮด์ European formaldehyde emission Standards ในเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่
- E2 มีการปลดปล่อยสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่อันตรายกับผู้ใช้
- E1 มาตรฐานสากลสำหรับพื้นไม้และเฟอร์นิเจอร์มีสารฟอร์มาลดีไฮด์ไม่เกิน 0.75 ppm
- E0 มาตรฐานขั้นสูงมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ไม่เกิน 0.07 ppm
- Super E0 ไม่พบสารฟอร์มาลดีไฮด์เลย
ดังนั้นการลงทุนเลือกเฟอร์นิเจอร์ประเภท E1 E0 และ Super E0 คือการลงทุนกับสุขภาพในระยะยาว เฟอร์นิเจอร์ เพราะแม้เฟอร์นิเจอร์จะราคาถูกเพียงใด แต่ก็คงไม่คุ้มกับโรคภัยไข้เจ็บที่แอบแฝงอยู่แบบไม่รู้ตัว
กระเบื้องหายใจ-ฟอกอากาศได้
ปัจจุบันมีนวัตกรรมกระเบื้องตกแต่งหลายแบรนด์ที่มีคุณสมบัติช่วยฟอกอากาศ ดักจับสารพิษ ฝุ่น สามารถดูดซับและระบายความชื้นได้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยลดการเกิดเชื้อรา ลดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ป้องกันการแพร่กระจายกลิ่นเหล่านี้ไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ลดฝุ่น ที่สำคัญสามารถดูดซับสารฟอร์มาลดีไฮด์ และสาร VOCs ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น กระเบื้องที่ผลิตจากดินและเถ้าภูเขาไฟที่พัฒนาให้มีรูพรุนขนาดเล็กถึง 1 ในล้านส่วนของมิลลิเมตร ( 1 นาโนเมตร) ด้วยรูพรุนเล็กๆ ที่มีอยู่จำนวนมหาศาลของพื้นผิวและภายในเนื้อวัสดุ ทำให้กระเบื้องดูดซับและกักเก็บความชื้นและกลิ่นต่างๆไว้ในรูพรุนเล็กๆ เพื่อทำให้อากาศในห้องมีความบริสุทธิ์ และด้วยพื้นผิวที่มีความละเอียดสูง ทำให้น้ำและคราบสกปรกไม่สามารถฝังแน่นและเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย หรือ กระเบื้องฟอกอากาศที่มีเทคโนโลยี AIR ION ซึ่งจะปล่อยไอออนลบออกมา ช่วยดักจับฝุ่น PM2.5 พร้อมเพิ่มมวลอากาศให้สดชื่น จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์วัสดุที่ใช้แล้วสุขภาพดี (Well-being Materials for Better health) ไม่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในอนาคต
ท๊อปหินสังเคราะห์ Food Grade ปลอดภัยไร้มะเร็ง
เชื่อว่าหลายๆ บ้าน คงจะคุ้นเคยกับเคาน์เตอร์หินธรรมชาติหรือหินแกรนิต เพราะมีความแข็งแรง ทนทาน เนื้อแน่น ทนความร้อนได้ดี จึงนิยมใช้นำมาเป็นเคาน์เตอร์ครัวในบ้าน แต่รู้หรือไม่ว่า วัสดุที่มาจากหินธรรมชาติทั้งหลาย มีโอกาสเสี่ยงที่จะมีสารกัมมันตรังสี เช่น Radon ซ่อนอยู่
Radon (เรดอน) คือ สารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ เกิดจากการสลายของยูเรเนียมจากชั้นใต้ดินซึ่งยังไม่เสถียร จะสลายตัวและแผ่รังสีได้เองตลอดเวลาโดยไม่ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิหรือความดัน ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ซึ่งสามารถพบได้ในวัสดุก่อสร้างประเภทหินธรรมชาติ ลองคิดดูว่า เราคงไม่อยากให้มีสารกัมมันตรังสีปลดปล่อยออกมาขณะที่เรากำลังหั่นผักอยู่บนเคาน์เตอร์ครัวแน่ๆ
ห้องครัวเป็นพื้นที่ใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อราและแบคทีเรียต่างๆ จึงต้องใส่ใจดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัยและความปลอดภัยเป็นพิเศษ ดังนั้น หากจะมองหาวัสดุสำหรับเคาน์เตอร์ครัวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ จึง ควรเลือกวัสดุ Food Grade ที่ได้รับการรับรอง NSF 51 Certificated ปลอดภัยสำหรับการสัมผัสกับอาหาร อย่างหินสังเคราะห์ หรือ Solid Surface ที่นิยมนำมาทำท๊อปเคาน์เตอร์ครัว นอกจากคุณสมบัติที่ดี ใช้งานได้ทนทานต่อรอยขีดข่วนเหมือนหินแกรนิตแล้ว วัสดุ Solid Surface สำหรับเคาน์เตอร์ครัวส่วนใหญ่จะได้รับการรับรองโดย NSF Standard ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย ถูกสุขอนามัยไม่มีอันตรายจากการสารกัมมันตภาพรังสีอย่างเรดอนแน่นอน นอกจากนี้บางผลิตภัณฑ์ยังเพิ่มเติมคุณสมบัติเรื่อง การยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ และง่ายต่อการดูแลรักษาอีกด้วย วัสดุปลอดภัย
กระเบื้องยับยั้งเชื้อโรค
กระเบื้องเป็นวัสดุก่อสร้างพื้นและผนังยอดนิยมเราจะต้องสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นี้ ทำให้ต้องหมั่นทำความสะอาดพื้นอยู่เสมอ การเลือกใช้กระเบื้องจึงควรคำนึงถึงเรื่องการทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีรอยต่อถี่จนเกินไปที่จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค รวมถึงวัสดุที่เลือกใช้ควรที่จะมีคุณสมบัติต้านทานแบคทีเรียได้ดี โดยมี Healthy Tile วัสดุกระเบื้องสำหรับยุค New Normal ที่คิดค้นออกมาหลากหลายให้ตอบโจทย์การทำพื้นที่ในบ้านให้ปลอดภัยจากเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรีย เพื่อสุขภาวะที่ดีของทุกคนในบ้าน เช่น กระเบื้องกลุ่ม ANTI-BACTERIA และ Hygienic Tile บางแบรนด์มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้ 99% หรือมีส่วนผสมของสารซิลเวอร์นาโน (Silver Nano) ในเนื้อสีกระเบื้อง ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษในการป้องกันและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้ เช่น เชื้อ Escherichia Coli หรือ E. Coli ซึ่งเป็นสาเหตุของท้องเสียรุนแรง โรคอุจจาระร่วง และ เชื้อ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง
พื้นปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ
การหกล้มเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายและพบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักมีการลื่นล้ม และครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อผู้สูงอายุหกล้มและกระดูกหักพบว่า 1 ใน 5 ไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอด ส่งผลให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองและต้องมีคนดูแลตลอดเวลา มีภาวะสับสน มีปัญหาการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดอาการซึมเศร้าตามมา
การออกแบบและเลือกใช้วัสดุสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะมีการออกแบบพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน หลีกเลี่ยงธรณีประตู ไม่มีระดับที่เสี่ยงต่อการสะดุด วัสดุพื้นจะต้องไม่ลื่นโดยเฉพาะในห้องน้ำ และเลือกใช้วัสดุที่มีความปลอดภัยสามารถรองรับแรงกระแทกได้ หากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายได้เป็นอย่างมาก เช่น วัสดุพื้นที่ทำจากแผ่นยาง EPDM ที่มีความยืดหยุ่น และทนทานในการใช้งานสูง สามารถดูดซับและลดแรงกระแทกเมื่อเกิดการหกล้มทำให้ลดโอกาสเสี่ยงกระดูกหักได้ คุณสมบัติของวัสดุสามารถทนความชื้นและรังสี UV จึงนำไปปูพื้นได้ทั้งภายนอกและภายใน เหมาะสำหรับห้องผู้สูงอายุ หรือนำไปใช้กับทางเดินและสนามเด็กเล่น หรือ พื้นไวนิลชนิดที่มีชั้นโฟมช่วยรับแรงกระแทก ก็ช่วยลดการบาดเจ็บการจากล้มได้ อีกทั้งควรเลือกพื้นผิวที่ไม่ลื่นแม้เปียกน้ำ สำหรับพื้นที่ซึ่งมีโอกาสเปียกน้ำ พื้นควรมีค่าการกันลื่นไม่ต่ำกว่า R10 และทนรอยขูดขีดข่วนจากการเข็นรถ Wheelchair ก็จะใช้งานได้อย่างยาวนานและปลอดภัย
รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาที่เน้นนวัตกรรมด้านคุณภาพชีวิตแห่งแรกของเอเชีย ประกอบด้วยเครือข่ายนักวิจัย นวัตกร ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้ผลิต เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่หลากหลายที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในโลก (For All Well-being) รวมไปถึงการฟื้นฟูและรักษาสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสมดุล เอื้อต่อการใช้ชีวิตของทุกสรรพสิ่งได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพ และยั่งยืน
ติดตาม FB : riscwellbeing
เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์