The Creeper House คาเฟ่ของคนรักต้นไม้ - บ้านและสวน

The Creeper House คาเฟ่ของคนรักต้นไม้

จากจุดเริ่มต้นที่หันมาสนใจปลูกต้นไม้เมื่อประมาณ 4 ปีก่อนเพราะเริ่มทำร้าน The Creeper House ใน อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง คาเฟ่บรรยากาศดีท่ามกลางสวนผลไม้ของ คุณแบงค์-ประดิทรรศณ์ เนียมผาสุข กับเพื่อนสนิทอีก 2 คน  คุณสิต-พัชรากร จุลม่อม และ คุณเอ-ณัฏถพงศ์ เจริญศักดิ์ ทำให้คุณแบงค์เริ่มลงมือปลูกต้นไม้และจัดสวนด้วยตัวเอง เพราะในระยะแรกที่ทำร้านต้องการประหยัดงบให้มากที่สุด จากสวนผลไม้ดั้งเดิมจึงค่อย ๆกลายมุมที่นั่งเก๋ๆ แทรกตัวอยู่ในสวน ส่วนที่อยู่ใกล้ร้านเน้นกลิ่นอายแบบอิงลิชคอทเทจ ขณะที่บางส่วนก็ยังคงบรรยากาศร่มรื่นของสวนผลไม้เดิมได้อย่างลงตัว

เจ้าของ-จัดสวน :  คุณประดิทรรศณ์ เนียมผาสุข

ที่อยู่ 34/8 ม.8 ถนนสาย 11 ซอย1 ตำบล มาบข่า อ.พัฒนานิคม จ.ระยอง โทรศัพท์ 096 945 4941

มุมด้านนอกคาเฟ่ปลูกเหลืองชัชวาลคลุมขึ้นไป นำโต๊ะและเก้าอี้ตัวเก่ามาจัดวางไม้กระถางง่าย ๆกลายเป็นมุมน่ารักให้แวะชมก่อนเข้าไปในร้าน
ทางเดินจากส่วนจอดรถเข้าไปยังคาเฟ่ จงใจปลูกต้นไม้ขนาบทางเดินแคบๆ และโรยกรวดสีขาวนำเข้าไปสู่ลานด้านใน
ตีไม้เป็นโครงสี่เหลี่ยมทำหน้าที่เป็นประตูเข้าไปสู่สวน
ลานกว้างบริเวณหน้าร้าน ใช้หินก่อขึ้นมาเป็นวงเวียนเล็กๆตรงกลางแทรกไม้พุ่มผิวสัมผัสละเอียดคุมโทนสีในสวนให้ความรู้สึกสบายตาและเลือกใช้กรวดสีขาวให้บรรยากาศสวนแบบฤดูหนาว
พื้นที่บางส่วนในสวนปล่อยเป็นพื้นที่โล่งโรยกรวดสีขาวแซมไม้พุ่มปลูกให้ขึ้นแทรกกันอย่างเป็นธรรมชาติ
คุณสิต คุณแบงค์ และคุณเอ กลุ่มเพื่อนสนิทหุ้นส่วนคาเฟ่ในสวน ทั้งสามคนชอบต้นไม้กันอยู่แล้วสวนสวยที่เห็นทั้งหมดจึคงเกิดจากความใส่ใจดูแลและช่วยกันเนรมิตออกมา กลายเป็นสวนแบบง่าย ๆ แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดทุกจุด

เนื่องจากคาเฟ่แห่งนี้ตั้งอยู่ในสวนผลไม้ จึงมีไม้ยืนต้นมากมายทั้งไม้ผลและต้นไม้ทั่ว ๆ ไป โดยสร้างอาคารให้แทรกไปกับต้นไม้เหล่านี้อย่างกลมกลืนและค่อย ๆ จัดสวนไปทีละมุม เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณจัดสวนในครั้งเดียว จากส่วนจอดรถเมื่อเดินเข้ามาด้านในจะสัมผัสได้กับบรรยากาศร่มรื่นของสวนผลไม้เพราะจงใจทำทางเดินให้คล้ายกับอุโมงค์ต้นไม้ก่อนจะมาถึงส่วนคาเฟ่ที่เปิดเป็นลานโล่งก่อนเข้าสู่อาคาร

“คาเฟ่ของเราเริ่มจากร้านเล็ก ๆ จนตอนนี้เป็นร้านขึ้นชื่อของจังหวัดครับ แรก ๆที่เริ่มทำร้านด้วยความที่งบน้อยผมจะขับรถเก๋งไปซื้อต้นไม้เองขนมาจนเต็มรถเลยครับ มีทั้งต้นไม้ตามร้านริมถนนของชาวบ้าน ไปจนถึงแหล่งผลิตใหญ่เส้นคลอง 14-15 ค่อย ๆ ทำไปทีละส่วน อย่างก้อนหินกับกรวดก็ช่วยกันยกเองจัดเองกับเพื่อน ๆและน้อง ๆ ที่ร้าน ของตกแต่งบางอย่างซื้อตามร้านของเก่ามาบ้าง ผมจัดแบบไม่มีหลักการอะไรแต่จะจินตนาการว่ามุมไหนอยากให้ออกมาเป็นแบบไหนก็จะมีผสมหลาย ๆ สไตล์เข้าด้วยกัน ทุกวันนี้ก็เริ่มมีลูกค้าบางคนมาที่ร้านแล้วอยากจะให้เราไปจัดสวนให้ด้วยครับ”

คาเฟ่แห่งนี้มีทั้งมุมสบาย ๆ ภายในร้านพร้อมทั้งโซนเอาท์ดอร์หลาย ๆ จุดให้ลูกค้าเลือกนั่งได้ตามอัธยาศัย ภายในสวนเน้นแปลงไม้พุ่มที่มีพืชพรรณหลายชนิดปลูกผสมผสานกันแบบไม่จงใจ โรยกรวดสีขาวเป็นลานกว้างขับให้พรรณไม้โดดเด่นขึ้นมา มีทั้งมุมนั่งเล่นที่แทรกตัวอยู่ในสวนและมุมเทอร์เรสเปิดรับวิวโดยรอบได้เต็มที่ให้บรรยากาศเหมือนนั่งเล่นในสวนหลังบ้านมากกว่าอยู่ในร้าน

นอกจากสวนที่อยู่รอบ ๆคาเฟ่แล้วยังมีเนิร์สเซอรี่ต้นไม้เล็กๆ และมุมนั่งเล่นแบบคอร์ทยาร์ดด้านหลังร้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวไม่ได้เปิดให้ลูกค้าเข้ามา เป็นมุมที่ซ่อนตัวอยู่เหมือนซีเคร็ตการ์เด้นประกอบไปด้วยโรงเรือนต้นไม้ย่อม ๆ เปิดโล่ง มีห้องนั่งเล่นในสวนต่อจากเศษไม้ง่าย ๆ พร้อมที่นั่งคอนกรีตยาวนั่งสบายกลิ่นอายแบบสวนเมดิเตอร์เรเนียนแทรกเอาไว้ด้วย ในโซนนี้เน้นใช้ไม้ใบเป็นหลักซึ่งมีต้นไม้แปลกและหายากอยู่หลายชนิด ได้แก่ ฟิโลหูช้าง, ราฟิโดฟอรา ‘สไปเดอร์’ , ฟิโลเดนดรอน ‘ทอร์ทัม’ , ฟิโลเดนดรอนอัลโบ้ , ซิงโกเนียม , อิพิเพรมนัม , บลูเอกวาดอร์ , มอนสเตอราดูเบีย, โกสน , มาแรนธา บอนสี และ Begonia maculata ที่ได้มาจากงานบ้านและสวนแฟร์  ซึ่งในอนาคตอาจจะเปิดเป็นที่ขายต้นไม้หรือจัดกิจกรรมเวิร์คช้อปได้ด้วย

แทรกเก้าอี้ไว้ในสวนสำหรับลูกค้านั่งรอด้านนอกก่อนเข้าร้าน
ทางเข้าคาเฟ่ที่ซ่อนตัวอยู่หลังพุ่มไม้ สร้างบรรยากาศแสนร่มรื่นแต่แฝงด้วยกลิ่นอายแบบสวนอิงลิชคอทเทจ
ศาลากึ่งโรงเรือนในสวน ใช้เหล็กทำเป็นโครงง่าย ๆ ทาสีเทาวางทับบนผนังหิน รอบด้านเปิดโล่งโปร่งสบาย เป็นอีกมุมนั่งทานขนมหรือเครื่องดื่มในสวนสำหรับลูกค้าที่มาเป็นกลุ่ม
ศาลารูปแบบคล้ายโรงเรือนใช้งานเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ หรือจัดปาร์ตี้น้ำชาในสวนได้ด้วย
บ้านที่มีอยู่เดิมในสวน ดัดแปลงมุมด้านนอกเป็นทั่งนังแบบโอเพ่นสเปซโดยทำเป็นเทอร์เรสกว้างเปิดโล่ง จัดวางที่นั่งสบาย ๆและตกแต่งไม้กระถางต่าง ๆให้ความรู้สึกเหมือนเป็นมุมนั่งเล่นที่บ้าน

“โรงเรือนนี้เราออกแบบกันเอง สร้างมาแล้วประมาณ 1 ปี มีคุณพ่อของสิตและช่างช่วยกันทำเลยประหยัดงบได้มาก ซื้อของไป 10,000 บาท และค่าแรงอีก 10,000 บาท ตั้งใจเอาไว้วางโชว์ไม้ใบที่เราสะสมไว้ บางครั้งก็เปิดให้ลูกค้ามาดูต้นไม้บ้างเฉพาะเวลาที่เราอยู่ครับ ผมว่าข้อดีของโรงเรือนคือทำให้จัดต้นไม้ที่เก็บสะสมไว้เป็นระเบียบ จัดการเรื่องแสงและน้ำให้พอเหมาะกับต้นไม้ได้ง่ายด้วย”

เทคนิคดูแลไม้ใบในโรงเรือนของคุณแบงค์คือจะเสปรย์น้ำเบา ๆ สลับกับรดน้ำหนักบางวัน และรดน้ำลงพื้นด้วยให้ต้นไม้ได้ไอเย็น โดยเน้นรดน้ำตอนเช้าก่อน 8 โมงและคอยสังเกตว่าหากรดน้ำไปแล้วแดดหมดอีกวันต้องงดให้น้ำเพื่อไม่ให้ต้นไม้ได้รับความชื้นมากเกินไป และสเปรย์น้ำส้มควันไม้หลังรดน้ำประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ใส่ปุ๋ยเทอร์โมโค้ททุก 3 เดือน และใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ที่ทำเองฉีดพ่นต้นไม้

นอกจากคาเฟ่แห่งนี้จะโดดเด่นขึ้นชื่อในเรื่องของเครื่องดื่มและเมนูขนมที่ทำอย่างพิถีพิถันแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเดินทางมายังคาเฟ่แห่งนี้แม้จะเปิดอยู่ออกมาไกลตัวเมืองถึง 20 กิโลเมตร คือสเปซเอาท์ดอร์สวย ๆ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดทุกมุม ทั้งยังเป็นสวนที่นำไปทำตามได้ไม่ยาก จึงมีทั้งลูกค้าประจำแวะเวียนมาบ่อย ๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาระยองแล้วมักจะปักหมุดแวะมาที่นี่เสมอ คุณแบงค์ทิ้งท้ายกับเราว่า

“ผมมีวันนี้ได้เพราะต้นไม้ ลูกค้าหลาย ๆคนที่มาร้านหรือคนที่ติดตามในโซเชียลพอได้พูดคุยกันทำให้ผมรู้ว่าหลายคนต้องการสัมผัสธรรมชาติที่เขาไม่มี นอกจากผมจะปลูกต้นไม้แล้วก็อยากลงภาพต้นไม้ทุกๆวันให้คนที่เห็นมีความสุขกับสิ่งที่เรารักไปด้วยครับ”

หากใครต้องการหาไอเดียจัดสวนและเทคนิคการปลูกไม้ใบมาใช้ตกแต่งบ้าน สามารถติดตามภาพต้นไม้และมุมสวนสวย ๆ จากคุณแบงค์เพิ่มเติมได้ที่

IG : bankplantstory

Facebook: Bankplantstory

บริเวณด้านหน้าที่ดินอยู่ติดกับถนนใหญ่ใช้เมทัลชีทตีเป็นแนวรั้วสูงพรางสายตาจากภายนอกสร้างขอบเขตให้พื้นที่มีความเป็นส่วนตัว โซนนี้จัดเป็นสวนแบบดรายการ์เด้น (Dry Garden) เน้นไม้ทะเลทรายทนแล้งอย่างแคคตัสและไม้อวบน้ำ เป็นมุมสวนดูแลง่ายที่ไม่ต้องรดน้ำบ่อยนัก
ภายในคาเฟ่ส่วนที่สร้างขึ้นใหม่ทำเป็นห้องขายครัวซองโดยเฉพาะ จัดที่นั่งเหมือนห้องนั่งเล่นในบ้านวางไม้ใบกระถางตกแต่งและติดโคมไฟให้แสงสว่างแบบอบอุ่น
พื้นที่คอร์ทยาร์ดหลังร้าน เป็นมุมสวนแบบส่วนตัวที่ไม่ได้เปิดให้ลูกค้าทั่วไปเข้ามาใช้งาน  พื้นที่มุมนี้วางอาคารและแนวรั้วปิดล้อม มีทั้งส่วนนั่งเล่นเอาท์ดอร์ก่อเป็นที่นั่งคอนกรีตสีขาวยาว มีห้องนั่งเล่นในสวนทำจากไม้เก่าและโรงเรือนเก็บไม้สะสม
ภายในห้องกึ่งศาลานั่งเล่นใช้ไม้เก่าตีประกอบขึ้นมาง่าย ๆ ซึ่งคุณพ่อของคุณสิตทำขึ้นมาเอง มีหน้าต่างเปิดออกรับวิวธรรมชาติภายนอก จัดวางโต๊ะไว้สำหรับนั่งทำงานสบาย ๆ ในสวน
ผนังในห้องตีทึบขึ้นมาด้านหนึ่งติดชั้นไม้วางไม้กระถางและของตกแต่ง มีสาวน้อยประแป้งต้นใหญ่วางเป็นจุดเด่น
ปิดล้อมสวนมุมนี้ด้วยผนังซีเมนบอร์ดทาสีขขาวแต่ดูไม่ทึบตันด้วยบานหน้าต่างเก่าติดตั้งง่าย ๆ มีบ่อน้ำเล็กๆประดับตกแต่ง
ภายในโรงเรือนที่คุณแบงค์ตั้งใจสร้างไว้เก็บสะสมต้นไม้บริเวณด้านหลังคาเฟ่ อยู่ใต้ต้นลองกอง ออกแบบกันเองและใช้งบประมาณไปเพียง 20,000 บาท
คุณเอเป็นทั้งนักปลูกต้นไม้และผู้สร้างสรรค์เมนูขนมสุดอร่อยซิกเนเจอร์ของคาเฟ่ The Creeper House หากอยากทราบชื่อต้นไม้ต้นไหนในสวนคุณเอสามารถตอบและให้คำแนะนำได้ทั้งหมด
ภายในโรงเรือนสะสมต้นไม้ปล่อยพื้นที่เปิดโล่ง ผนังด้านหนึ่งตีแผ่นซีเมนต์บอร์ดเป็นฉากรับและติดชั้นวางต้นไม้ มีมุมโต๊ะใช้งานอเนกประสงคืและมุมจัดเก็บวัสดุปลุกให้เป็นระเบียบหยิบมาใช้งานง่าย
ผนังลวงตา การทำผนังขึ้นมาเป็นฉากหลังในสวนช่วยกั้นขอบเขตสวนให้ดูเป็นสัดส่วน และนำหน้าต่างบานเก่ามาติดเข้าไป มุมนี้ก็ดูเหมือนเป็นผนังด้านหนึ่งของบ้านได้ง่าย ๆ
สร้างเทอร์เรส ศาลาในสวนตั้งใจทำผนังทึบด้านหนึ่ง พร้อมปลูกไม้เลื้อยคลุมขึ้นไป จัดวางที่นั่งสบาย ๆสร้างความรู้สึกเหมือนเป็นเทอร์เรสที่ยื่นออกมาจากบ้าน
ปลูกต้นไม้ในร้าน มุมนั่งทานขนมในร้านเลือกวางโซฟาหวายจากร้านมือสองและตกแต่งไม้ใบกระถางรอบ ๆ สร้างบรรยากาศแบบโฮมคาเฟ่ให้นั่งทานขนมและเครื่องดื่มสบาย ๆ
มุมนั่งเล่นในสวน ก่อที่นั่งคอนกรีตและเว้นบางส่วนปลูกต้นไม้ดูเป็นเป็นธรรมชาติ ทำผิวคอนกรีตให้มีเท็กเจอร์และทาสีขาวให้กลิ่นอายแบบสวนเมดิเตอร์เรเนียน ฉากหลังใช้กิ่งไม้ตีเป็นระแนงโปร่ง

เรื่อง : วรัปศร

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ

หาไอเดียการสร้างโรงเรือนและเทคนิคการปลูกต้นไม้ของคุณแบงค์เพิ่มเติมได้ที่หนังสือ “โรงเรือนในสวน ต้นไม้ในบ้าน” สำนักพิมพ์บ้านและสวน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อนิตยสารได้ ที่นี่

บ้านและสวน ฉบับที่ 542 (ตุลาคม 2564)