สวนเมืองร้อน ของสถาปนิกระดับโลก
บ้านและสวนเดินทางไปประเทศศรีลังกา และมีโอกาสได้เยี่ยมชมบ้าน สวน และสถานที่สวยๆหลายต่อหลายแห่ง ที่หนึ่งที่เราประทับใจคือบ้านในสวนกว้างของสถาปนิกระดับปรมาจารย์ชาวศรีลังกาที่ชื่อ Geoffrey Bawa หลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อเสียงและเห็นภาพผลงานของเขามาบ้างแล้ว ที่นี่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวก่อนที่เขาจะกลายเป็นผู้ที่ทำให้สถาปัตยกรรมและการจัดสวนสไตล์บาหลีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก สวนเมืองร้อน
บาวาเติบโตในครอบครัวเลือดผสมในยุคที่ประเทศศรีลังกายังเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ เขาได้รับการเลี้ยงดูแบบผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก ดังนั้นความคิดความอ่านและมุมมองของเขาในเรื่องศิลปะวัฒนธรรมจึงกว้างขวาง แม้จะเรียนจบทางด้านกฎหมายในปี 1942 และเริ่มทำงานเป็นทนายความตามที่บิดาคาดหวังไว้ แต่หลังจากทำงานนี้ได้ไม่นานเขาก็เริ่มเบื่อหน่าย ในที่สุดบาวาก็ลาออกจากงานและไปท่องเที่ยวทวีปยุโรปในปี 1946 การเดินทางครั้งนี้ทำให้เขาหลงใหลในสุนทรียภาพของสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมคลาสสิกของประเทศอิตาลี เขาได้เห็น “วิลล่า” หรือคฤหาสน์บนเขาที่มีสวนและทิวทัศน์โดยรอบที่เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อเดินทางกลับประเทศศรีลังกาในปี 1948 เขาได้ซื้อสวนยางพาราเก่าที่ปล่อยทิ้งร้างบนภูเขาในเมืองเบนโตตา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะแปลงโฉมที่ดินเสื่อมโทรมผืนนี้ให้กลายเป็นสวนสวยแบบที่เขาเคยเห็นในประเทศอิตาลี สวนยางแห่งนี้มีชื่อว่า “ลูนากังก้า” (Lunaganga) สวนสไตล์บาหลี
บาวาพยายามออกแบบบ้านและจัดสวนด้วยตัวเอง แต่ก็ได้พบความจริงว่า เขามีความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการออกแบบบ้านและสวนไม่มากพอ ในปี1951 เขาตัดสินใจหางานทำในสำนักงานสถาปนิกเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มเติม และสมัครเข้าเรียนด้านสถาปัตยกรรมที่ Architectural Association สถาบันออกแบบที่มีชื่อเสียงของประเทศอังกฤษ ขณะนั้นเขามีอายุ 34 ปี และกลายเป็นนักศึกษาปีหนึ่งที่มีอายุมากที่สุดในโรงเรียน
สามสิบปีต่อมาบาวากลายเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงของประเทศศรีลังกา ผลงานของเขามีอิทธิพลต่อวงการออกแบบทั่วโลกในช่วงปลายศริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาได้รับการยกย่องให้เป็นนักออกแบบที่ผสมผสานสุนทรียภาพจากระเบียบแบบแผนในงานออกแบบของยุโรปให้เข้ากับศิลปะวัฒนธรรม และเสน่ห์การใช้ชีวิตของชาวเอเชียใต้ได้อย่างกลมกลืน นอกจากงานในประเทศแล้ว เขายังมีงานออกแบบในกลุ่มประเทศเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่ง โดยเฉพาะที่โรงแรมบนเกาะบาหลีซึ่งกลายเป็นต้นแบบของอาคารในประเทศเขตร้อนที่เราเรียกว่า “สไตล์บาหลี” ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้หมายถึงงานออกแบบจากเกาะบาหลีสักทีเดียว ในต่างประเทศมีการให้คำจำกัดความสไตล์การออกแบบของเขาว่าเป็น “Romantic Vernacular” หมายถึงงานออกแบบพื้นถิ่น (Vernacular) ของแถบเอเชียใต้ ที่ผนวกเข้ากับวิธีการคิดแบบยุโรป โดยเฉพาะจากอิตาลี (Roman)
ณ สวนแห่งนี้เราได้เห็นถึงสิ่งที่บาวาได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 1948 จนถึงปี 1998 ระยะเวลาที่เขาทุ่มเทให้กับสวนแห่งนี้ยาวนานกว่าชีวิตการทำงานด้านสถาปัตยกรรมของเขาเสียอีก ที่นี่จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่บ้านตากอากาศ แต่เรียกว่าเป็นชีวิตจิตใจของเขาเลยก็ว่าได้ เพราะที่นี่คือแรงบันดาลให้เขากลายเป็นนักออกแบบ ที่นี่คือผลงานชิ้นเอกของสถาปนิกระดับโลก และที่นี่คือสวนแรกและสวนสุดท้ายของบาวา ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1998
เขาได้วางแผนให้บ้านกลางสวนแห่งนี้เป็นอุทยานพิพิธภัณฑ์ และเปิดให้เช่าสถานที่เพื่อจัดงานต่างๆ หรือเป็นบ้านตากอากาศ ปัจจุบันเงินที่ได้จากการทำธุรกิจจะกลับเข้ากองทุนเพื่อนำไปบำรุงรักษาบ้านและสวน “ลูนากังก้า” แห่งนี้ต่อไป
เรื่อง : เจรมัย พิทักษ์วงศ์
ภาพ : ฤทธิรงค์, ปิยะวุฒิ, เจรมัย
สวนธรรมชาติ ทรอปิคัลผสมสไตล์อังกฤษ