อาคารเขียว การออกแบบบ้านและต้นไม้ให้เป็นส่วนเดียวกัน - บ้านและสวน
house-of-green

Green Building / Green Façade ออกแบบบ้านและต้นไม้ให้เป็นอยู่ร่วมกัน

มาออกแบบให้ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ทำได้หลายวิธี ทั้งสวนดาดฟ้า ผนังต้นไม้ สวนแนวตั้ง มาดู 7 เรื่องควรรู้ในการออกแบบกัน

อาคารเขียว

1. ต้นไม้อยู่ตรงไหนของบ้านได้บ้าง

บ้านปกติมักจะออกแบบให้มีสวนอยู่ล้อมรอบ แต่ถ้าไม่มีพื้นที่รอบบ้าน มาดูกันว่าจะสามารถออกแบบต้นไม้หรือจัดสวนให้อยู่ตรงไหนได้บ้าง อาคารเขียว

  • สวนบนอาคาร ได้แก่ สวนบนดาดฟ้า สวนบนระเบียง และสวนที่อยู่บนโครงสร้างอาคาร ควรเตรียมโครงสร้างในการรับน้ำหนักไว้ตั้งแต่เริ่มสร้างและทำระบบกันซึมปัองกันโครงสร้างเสียหายจากความชื้น
  • ผนังอาคารต้นไม้ อาศัยผนังอาคารหรือโครงสร้างของอาคารในการปลูกหรือให้ต้นไม้เกาะเกี่ยว เช่น การปลูกไม้เลื้อยเกาะผนังโดยตรง การปลูกไม้เลื้อยเกาะโครงสร้างเสริม หรือทำผนังอาคารเป็นกระบะปลูก
  • ผนังสวนแนวตั้ง เป็นการนำแผ่นหรืออุปกรณ์ที่บรรจุวัสดุปลูกไปติดตั้งบนผนังอาคารอีกชั้นหนึ่ง
  • สวนในบ้าน โดยออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้เป็นกระบะปลูกต้นไม้หรือพื้นที่จัดสวน ซึ่งอาจเป็นสวนภายในบ้านหรือสวนกึ่งภายนอก

2. การทำสวนบนหลังคา ระเบียง

การทำกระบะหรือพื้นที่ปลูกต้นไม้บนหลังคา ระเบียง และบนโครงสร้างอาคาร ควรเตรียมระบบกันซึมเพื่อป้องกันความชื้นที่มากับต้นไม้และดิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย รวมถึงเตรียมชั้นดินและระดับความลึกของดินให้เหมาะกับการปลูกพืชพรรณแต่ละชนิด

อาคารเขียว

3. การออกแบบผนังอาคารต้นไม้

การออกแบบฟาซาดบ้านให้ประกอบด้วยด้วยต้นไม้ หรือ อาคารเขียว เป็นแนวคิดที่สร้างความกลมกลืนกับธรรมชาติที่เห็นผลชัดเจนที่สุด โดยปลูกต้นไม้ปกคลุมอาคารทั้งหมดหรือบางส่วน ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้แม้ในพื้นที่จำกัด และเป็นอีกวิธีในการสร้างสภาพแวดล้อมของบ้านให้ดี สามารถออกแบบร่วมกับผนังอาคารประเภทต่างๆเพื่อช่วยให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น การปลูกต้นไม้ให้เป็นฟาซาดสามารถทำได้หลายวิธี เช่นอาคารเขียว

  • การปลูกให้ต้นไม้เติมโตจากด้านล่าง เป็นการปลูกต้นไม้บนพื้นดินให้เติบโตไปบนผนังอาคาร สามารถทำได้ทั้งการให้ต้นไม้เกาะกับผนังโดยตรง เช่น ต้นตีนตุ๊กแก และการทำโครงหรือตาข่ายให้ต้นไม้เกาะเกี่ยวขึ้นไป ซึ่งเหมาะกับพรรณไม้เลื้อยอาคารเขียว
  • การใช้ต้นไม้เป็นกรอบอาคาร สามารถทำได้ทั้งการทำผนังสวนแนวตั้ง โดยติดตั้งแผงวัสดุปลูกบนผนังอีกชั้นหนึ่ง และการออกแบบผนังอาคารเป็นกระบะปลูก หรือวางกระบะปลูกให้เป็นองค์ประกอบอาคารในระดับชั้นต่างๆ
  • การปลูกแบบผสมผสาน โดยใช้การปลูกต้นไม้บนพื้นดินให้เลื้อยขึ้นมา ผสมกับการทำกระบะปลูกบนชั้นต่างๆ และผนังสวนแนวตั้ง

4. การทำผนังสวนแนวตั้ง

เป็นการติดตั้งแผงวัสดุปลูกหรือทำโครงสำหรับปลูกต้นไม้บนผนังอีกชั้นหนึ่ง โดยการปลูกพรรณไม้ในแต่ละส่วนของผนังขึ้นอยู่กับการรับแสงแดดและความชื้น ส่วนที่โดดแดดจัดหรือส่วนบนสุดเหมาะกับพรรณไม้ทนแล้งที่ชอบแสงแดด ส่วนด้านล่างซึ่งมักได้รับแสงแดดน้อยกว่าก็เหมาะกับพรรณไม้ในร่มที่ชอบความชื้น ถ้าผนังที่มีความสูงมาก ควรเตรียมเรื่องวิธีการดูแลรักษา ทั้งการขึ้นไปตัดแต่ง การเปลี่ยนต้นไม้ และการรดน้ำ ซึ่งหากสูงเกิน 5 เมตร ควรติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ เช่น ระบบน้ำหยด การเดินท่อน้ำซึม หรือระบบพ่นหมอก อีกทั้งพื้นด้านล่างของผนังจะเปียกชื้นเป็นประจำจึงต้องมีการระบายน้ำที่ดี สวนแนวตั้งสามารถแบ่งตามการติดตั้งได้ 5 ประเภท คืออาคารเขียว

ผนังผ้า ใช้ผ้าใยสังเคราะห์ที่รักษาความชุ่มชื้นได้ดี เช่น แผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์ โดยทำเป็นกระเป๋าหรือถุงผ้าสำหรับใส่วัสดุปลูก แล้วนำไปยึดติดกับแผ่นผนัง ระบบนี้อาจใช้วัสดุปลูกไม่มาก แต่ให้สารละลายแบบไฮโดรโปนิกแทน โดยถ้าเป็นระบบไฮโดรโปนิกร้อยเปอร์เซ็นต์จะใช้ผ้าลักษณะคล้ายผ้าห่มใยสังเคราะห์ (Non-woven fabric) ซึ่งดูดซับน้ำและสารละลายได้ดี โดยรากจะยึดเกาะอยู่บนเนื้อผ้า

แผ่นผนังเขียว ลักษณะเป็นแผ่นหรือถาดที่แบ่งเป็นช่องๆ และมีรูสำหรับปลูกต้นไม้ วัสดุที่ใช้มักเป็นพลาสติกหรือโลหะที่มีน้ำหนักเบา ยึดกับโครงเหล็กเพื่อแขวนตกแต่งผนังอาคาร

กระถางแขวน การทำโครงใส่กระถางให้เอียงซ้อนกันในแนวตั้งโดยที่ดินไม่หกลงมา ระบบนี้มีข้อดีคือสามารถยกเปลี่ยนกระถางได้ง่าย

บล็อกปลูกต้นไม้ เป็นบล็อกที่มีช่องใส่ต้นไม้ อาจทำด้วยอิฐหรือคอนกรีต มีรูระบายน้ำผ่านทะลุแต่ละชั้นลงมา และวางท่อและหัวน้ำหยดไปตามบล็อก อาจก่อแนบผนังหรือก่อลอยตัวก็ได้ จึงสามารถติดตั้งโดยไม่ต้องมีโครงผนังยึดบล็อก แต่ต้องวางบนคานหรือพื้นรับน้ำหนักที่ได้ระดับ

ผนังไม้เลื้อย เป็นการปลูกไม้เลื้อยบนดินหรือกระบะแล้วปล่อยให้เลื้อยไปบนผนังหรือโครงยึดเกาะ สามารถใช้ทำแผงบังแดดและผนังอาคารได้ดี ควรเว้นระยะโครงให้ห่างจากผนังอย่างน้อย 10-15 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้ไม้เลื้อยเกาะผนังโดยตรง และป้องกันความชื้นซึมผ่านผนัง

ข้อมูล : หนังสือ “จัดสวนสวยบนผนังและหลังคา Vertical & Roof Garden” สำนักพิมพ์บ้านและสวนอาคารเขียว

5. สวนในบ้านและช่องเปิด

การนำต้นไม้เข้ามาปลูกภายในบ้าน นอกจากเลือกพรรณไม้ที่เหมาะสมแล้ว ต้องเตรียมพื้นที่ให้เอื้อต่อการเติบโตของต้นไม้ มีการเปิดช่องแสงและช่องเปิดให้อากาศและแสงธรรมชาติเข้ามาได้ โดยมีไอเดียการทำสวนในบ้านดังนี้

  • คอร์ตในบ้านเล่นระดับ ออกแบบคอร์ตแทรกเข้าไปในส่วนต่างๆของบ้าน เพื่อสร้างบรรยากาศแบบกึ่งภายนอกกึ่งภายใน และสามารถสร้างความต่อเนื่องกันระหว่างชั้นในแนวตั้งได้ โดยทําหลังคาสกายไลต์และช่องเปิดให้แสงธรรมชาติส่องถึงบริเวณที่จะจัดสวน รวมถึงทำช่องหน้าต่างเพื่อให้แสงสว่างเข้ามาอย่างเพียงพอ ควรให้แสงแดดส่องถึงได้อย่างน้อยครึ่งวันเช้าซึ่งแสงแดดยังไม่ร้อนมาก ช่องเปิดหรือสกายไลต์จึงควรอยู่ในทิศตะวันออก พร้อมเตรียมโครงสร้าง ระบบกันซึม ระบบระบายน้ำ และระบบรดน้ำ
  • สวนแนวตั้งในตึกแถว บ้านที่มีลักษณะแคบยาวหรือมีพื้นที่จำกัด สามารถทำคอร์ตเล็กๆกว้าง1-1.50เมตร ที่ออกแบบเป็นสวนแนวตั้ง ผนังน้ำตก หรือสวนกรวดที่เน้นการดูแลรักษาน้อย ให้เป็นจุดพักสายตาและลดความอึดอัดภายในบ้าน สามารถทำเป็นช่องเปิดโล่งแบบไม่มีหลังคาก็ได้ แต่แนะนำให้ทําหลังคาโปร่งแสงพร้อมเกล็ดระบายอากาศก็จะดูแลรักษาง่ายกว่า

6. ไอเดียขยายขอบเขตสวนให้กว้างขึ้น

แม้พื้นที่ภายในบ้านมีจำกัด แต่ก็สามารถออกแบบให้ดูกว้างกว่าความเป็นจริง ด้วยการสร้างความต่อเนื่องระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกบ้านโดยใช้สวนเป็นตัวเชื่อมโยงทางสายตา เช่น

การขยายขอบเขตสวน สร้างมุมมองให้สวนภายในบ้านดูไร้ขอบเขต ด้วยการออกแบบให้ต่อเนื่องกับสวนภายนอกบ้านโดยกั้นด้วยผนังกระจกหรือประตูที่เปิด-ปิดได้ ก็จะทําให้การอยู่ภายในบ้านรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติได้โดยไม่ต้องเดินออกไปข้างนอก

การยืมวิวสวน ถ้าลำพังการทำสวนภายในบ้านยังไม่สดชื่นพอ แล้วเห็นสวนเพื่อนบ้านสวยน่ามอง หรือมีมุมมองที่เห็นวิวต้นไม้นอกบ้าน สามารถใช้หลักการสร้างมุมมองให้ต่อเนื่องกันเพื่อยืมวิว โดยกำหนดจุดของมุมมอง แล้วปลูกต้นไม้หรือทำกระบะต้นไม้ให้สูงในระดับสายตาที่มองแล้วต่อเนื่องกัน ก็จะเห็นมุมมองสวนระยะใกล้และระยะไกลกลายเป็นภาพเดียวกัน      

7. ข้อควรระวัง

การออกแบบบ้านให้มีต้นไม้มาเป็นส่วนประกอบมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งความสวยงาม สร้างความร่มรื่น ช่วยทำให้บ้านเย็น แต่ก็มีข้อควรระวังหลายจุดเช่นกัน

ความชื้น ที่มาจากวัสดุปลูกและการรดน้ำทุกวัน เมื่อสะสมนานวันมักจะทำให้โครงสร้างเสียหายเร็วขึ้น ทั้งโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างเหล็ก อิฐและไม้ จึงควรปกป้องไม่ให้ความชื้นซึมผ่านพื้นผิวได้ง่าย เช่น การติดตั้งวัสดุกันซึม การผสมน้ำยากันซึม การทาสีหรือน้ำยาเคลือบผิว และออกแบบให้มีการระบายความชื้นออกได้ เช่น การทำระบบระบายน้ำให้เพียงพอ การเว้นช่องว่างระหว่างวัสดุปลูกกับผนังเพื่อให้มีอากาศพัดพาความชื้นออกมาได้

สัตว์และแมลง การปลูกต้นไม้ย่อมมีสัตว์และแมลงตามมาด้วย แมลงตัวเล็กอาจป้องกันยากและไม่ค่อยน่ากลัวนัก แต่ถ้าเป็นสัตว์เลื้อยคลานต้องระวังกันหน่อย จึงควรปิดบริเวณรอยต่อต่างๆ ให้มิดชิด เช่น ช่องว่างใต้ประตู ช่องระบายอากาศ ฝ้าชายคา ช่องว่างใต้ลอนกระเบื้องบริเวณเชิงชาย ซึ่งอาจเป็นทางเข้าของสัตว์เลื้อยคลานได้

การดูแลรักษา ต้นไม้ต้องการการดูแลอย่างสม่ำเสมอ จึงต้องคิดเผื่อการตัดแต่งกิ่งใบ การเปลี่ยนต้นไม้เมื่อตาย การบำรุงดิน รวมถึงพื้นที่เก็บอุปกรณ์การปลูก ถุงดิน บันได และการดูแลพื้นที่ซึ่งมักมีเศษใบไม้เศษดินอุดตันท่อน้ำและรางน้ำเป็นประจำ

โครงสร้างอาคาร ไม่ควรปลูกต้นไม้ที่มีระบบรากชอนไชเก่งไว้ใกล้อาคารหรือรั้วเพื่อป้องกันโครงสร้างเสียหาย และถ้าอาคารไม่ได้คำนวณการรับน้ำหนักเผื่อการทำสวนบนอาคาร ควรวางสิ่งที่มีน้ำหนักมากไว้ในแนวคานใกล้เสาเสมอ หากมีการเพิ่มน้ำหนักให้อาคารมาก ควรปรึกษาวิศวกรก่อนเพื่อความปลอดภัย


เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน

คอลัมน์สถาปัตยกรรม สิงหาคม 2564 นิตยสารบ้านและสวน


PARK ROOF HOUSE โอเอซิสสีเขียวส่วนตัวบนหลังคาบ้าน

สวนโมเดิร์นเส้นสายเรียบเท่บนดาดฟ้า

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag