บ้านผู้สูงอายุ ปรับบ้านรับวัยเกษียณให้อยู่สุขสบาย - บ้านและสวน
elder-house

ปรับบ้านรับวัยเกษียณ

ใครจะสร้างบ้านหรือปรับปรุงบ้าน อย่าลืมคิดถึงคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือตอนที่เราเองกลายเป็นคนสูงวัยที่ร่างกายมีความเสื่อมถอย ทำให้ใช้ชีวิตในบ้านลำบากขึ้น มาดูการศึกษาเรื่องการปรับบ้านรับวัยเกษียณ ของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ Research & Innovation for Sustainability Center (RISC) เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในบ้าน และยิ่งไปกว่านั้นคือ ทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตง่ายขึ้นและมีความสุขมากขึ้น โดยปรับเปลี่ยนบ้านเพียงเล็กๆ น้อยๆ

บ้านผู้สูงอายุ เข้าใจการเสื่อมถอย 4 ด้าน

หากสังเกตว่าคุณปู่คุณย่าทำกิจวัตรประจำวันลำบากขึ้น จนบางท่านเกิดอาการท้อแท้ หดหู่ เพราะต้องพึ่งพาลูกหลานมากขึ้นทุกวัน ลูกหลานอย่าเพิ่งรำคาญ เพราะทั้งหมดนี้เกิดจากการเสื่อมถอยของร่างกาย 4 ด้านหลักๆ คือ การมองเห็น  การได้ยิน ฮอร์โมนและอารมณ์  และการเคลื่อนไหว ซึ่งถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้แล้ว ก็จะปรับ บ้านผู้สูงอายุ ให้ท่านใช้ชีวิตได้สะดวกและมีความสุขได้

  • การเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุมีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ระยะก้าวเดินสั้นลง การเคลื่อนไหวช้าลง สะดุดหกล้มง่าย นอกจากนั้น ผู้สูงอายุยังมีระยะการเอื้อมมือและแขนลดลง กล้ามเนื้อมืออ่อนแรงลงจากเดิม ทำให้ความแข็งแรงในการจับ หมุนหรือบิดลดลง
  • การมองเห็น ผู้สูงอายุมีความเสื่อมทางสายตา ทำให้มองไม่ชัด สายตาปรับตามการเปลี่ยนแปลงของแสงได้ช้า ทำให้ตาพร่า ต้องการแสงสว่างมากขึ้น แยกความแตกต่างของสีม่วง สีฟ้า เขียวไม่ออก เนื่องจากการมองเห็นช่วงความยาวคลื่นสั้นของสีลดลง หากเป็นสีคู่ตรงข้ามจะสามารถมองเห็นได้ดีและชัดเจนขึ้น
  • ฮอร์โมนและอารมณ์ ผู้สูงอายุจะมีความเสื่อมทางฮอร์โมน สารเคมีของร่างกายผลิตน้อยลง มีผลต่อการซึมเศร้า นอนไม่หลับ  เมื่อประกอบกับการดำเนินกิจกรรม หรือทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองลำบากขึ้น จึงทำให้อารมณ์ไม่ดี อาจเกิดอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่ายขึ้น
บ้านผู้สูงอายุ
  • การได้ยิน ผู้สูงอายุมีความเสื่อมทางการได้ยิน ทำให้ได้ยินไม่ชัดโดยเฉพาะเสียงสูง และไม่สามารถแยกเสียงพูดออกจากเสียงรบกวนได้ ทำให้ได้ยินการสนทนาไม่ชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้นการได้ยินของผู้ชายยังเสื่อมเร็วกว่าผู้หญิงอีกด้วย ดังนั้นยิ่งอายุมากขึ้น การจะได้ยินชัดจะต้องมีเสียงดังขึ้น
บ้านผู้สูงอายุ
ตัวอย่างการวางตำแหน่งห้องให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุและสภาพภูมิอากาศ

แนวทางการปรับปรุงบ้าน

เมื่อเข้าใจความเสื่อมถอยทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ใหญ่แล้ว มาดูแนวทางการปรับปรุง บ้านผู้สูงอายุ ให้สอดคล้องกับความเสื่อมแต่ละด้าน เพื่อเอื้อต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิต มีความสุขกาย สบายใจ  อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรับปรุงบ้านไม่จำเป็นต้องทำทั้งหลัง เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุจะคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่ซ้ำๆ เช่น ห้องครัว ห้องนอน ระเบียงหน้าบ้าน เป็นต้น เราสามารถเลือกปรับเปลี่ยนเฉพาะพื้นที่บริเวณดังกล่าว หรือพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้งานบ่อย เพื่อทำกิจกรรมได้ง่ายและสะดวก โดยที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก

บ้านผู้สูงอายุ
  • ห้องนอน ควรอยู่ชั้นล่าง จากเตียงนอนสามารถเข้าถึงห้องน้ำได้สะดวก ควรมีช่องรับแสงทางทิศตะวันออก เพื่อรับแสงยามเช้า ซึ่งช่วยให้ผู้สูงอายุรับรู้การเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา รู้สึกสดชื่นขึ้น ลดปัญหาเรื่องการเจ็บป่วย นอกจากนั้นห้องควรมีสีฟ้าอ่อน จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส ทำให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สงบ ลดความเจ็บปวด ลดอาการนอนไม่หลับ
  • ห้องน้ำ ควรมีพื้นกันลื่นและเรียบเสมอกัน แยกพื้นที่อาบน้ำที่เป็นส่วนเปียกออกจากส่วนแห้งเพื่อกันน้ำกระเด็นลื่น แต่ต้องไม่แบ่งพื้นที่จนเข้าถึงยากจนเกินไป
  • ห้องนั่งเล่น เป็นพื้นที่ใช้งานของผู้สูงอายุเกือบตลอดวัน ห้องนี้จึงควรอยู่ในทิศเหนือเพื่อได้รับแสงสว่างตลอดวัน แต่ไม่มีแสงแดด และมีพื้นที่ต่อเนื่องกับทิศใต้เพื่อรับลมประจำได้ตลอดปี บานหน้าต่างควรอยู่สูงจากพื้นไม่มากนัก เพื่อให้แสงเข้าได้ดี และสามารถมองเห็นทิวทัศน์นอกบ้านได้
  • หิ้งพระ อาจจะอยู่ภายในห้องนอนหรือมีพื้นที่เล็กๆ เพื่อให้ท่านได้กราบพระก่อนนอน นั่งสมาธิ ซึ่งดีต่อการปรับคลื่นสมอง ทำให้จิตใจสงบ สุขภาพจิตดี และส่งผลดีต่อสุขภาพกายด้วย
บ้านผู้สูงอายุ
  • ประตู มือจับ จากการที่ผู้สูงอายุมีกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง การจับ หมุนหรือบิดลดลง ประตูควรเป็นชนิดบานเลื่อนเพื่อความสะดวกในการเปิดปิด มือจับควรเป็นชนิดก้านโยกเพื่อลดการใช้กล้ามเนื้อมือในการออกแรงหมุน
  • เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เช่น เก้าอี้ โต๊ะ เตียง ตู้ ควรวางอย่างเป็นระเบียบ ไม่มีส่วนใดยื่นออกมาเกะกะ
  • สี ทาภายในบ้านควรเป็นสีที่สดใส นุ่มนวล เนื่องจากมีผลต่อความกระชุ่มกระชวยของผู้สูงอายุ
บ้านผู้สูงอายุ
  • พื้น ควรเรียบเสมอกัน ไม่มียกพื้นต่างระดับหรือธรณีประตู วัสดุพื้นผิวต้องไม่ลื่น แสงสว่างต้องเพียงพอต่อการมองเห็นชัดเจน ทางเดินต้องมีราวจับเพื่อช่วยพยุงตัว หากบ้านเรามีผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น ต้องทำทางลาดให้รถเข็นขึ้นลงได้อย่างสะดวก
  • สวนบำบัด เพียงแค่ผู้สูงอายุได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เช่น สวนต้นไม้ภายในบริเวณบ้าน สามารถทำให้เกิดการรับรู้เชิงบวกและผ่อนคลายได้ เนื่องจากเสียงซ้ำๆ ของน้ำและใบไม้ จะเกิดคลื่นอัลฟ่า (Alpha brainwave) ทำให้จิตใจสงบ เยือกเย็น สุขุม อารมณ์ดี นอกจากนั้นกิจกรรมการปลูกต้นไม้ยังช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ และยังมีต้นไม้ที่ช่วยดูดซับสารพิษ ต้นไม้กันยุง ต้นไม้กลิ่นหอม ผักสวนครัว สมุนไพร แต่ต้องระวังต้นไม้ที่เปราะหักง่าย มียาง และระคายเคืองต่อผิวด้วย

การส่งเสริมให้มีพื้นที่ใช้งานร่วมกัน

เรามาเริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ที่ทุกบ้านมีกันก่อน นั่นคือ “ครัว” เราจะขอแนะนำการจัดพื้นที่เล็กๆ นี้ให้ใช้งานได้คุ้มค่า จากพื้นที่ “ครัว” ให้เป็นพื้นที่ของ “ครอบครัว” ปกติพื้นที่ครัวที่เรามีอยู่ในบ้านจะใช้เป็นพื้นที่สำหรับการทำอาหารเท่านั้น แต่เราจะแนะแนวการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นมากกว่านั้น สามารถเป็นได้ทั้งห้องนั่งเล่น ทำงาน อ่านหนังสือ สังสรรค์ หรือแม้แต่พื้นที่กิจกรรมต่างๆ ของครอบครัวได้อีกด้วย

เริ่มจากการจัดพื้นที่ครัวให้เป็นแบบ “ครัวเปิด” มีการเชื่อมต่อพื้นที่ครัวกับส่วนอื่นๆ ที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกัน เช่น ส่วนรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น ซึ่งนอกจากจะช่วยกระตุ้น ดึงดูด  และส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมหรือปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแล้ว  ยังเป็นการช่วยให้เกิดการใช้งานพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำกิจกรรมได้หลากหลาย และประหยัดพื้นที่อีกด้วย

การเลือกสี

การศึกษาด้านจิตวิทยาสีพบว่า สีที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ สร้างบรรยากาศการสังสรรค์ ได้แก่ สีส้ม นอกจากนั้นสีส้มยังอยู่ในกลุ่มของสีโทนร้อนที่กระตุ้นระบบน้ำย่อย เพิ่มความอยากอาหาร ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งเด็กเล็กในบ้านที่มักทานอาหารยาก และช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้กับคุณตา คุณยายในบ้านของเราอีกด้วย

การเลือกแสงสว่าง

“แสง” แบ่งเป็น “แสงธรรมชาติ” และ “แสงไฟบนโต๊ะอาหาร”  ช่วงเวลากลางวัน แสงสว่างที่เหมาะสมที่สุด คือ แสงธรรมชาติ เพราะส่งผลต่อฮอร์โมน ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ดังนั้นควรจัดพื้นที่ใช้งานช่วงเวลากลางวันให้มีช่องเปิดรับแสงธรรมชาติทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศที่มีแสงสว่างตลอดวันโดยไม่ได้รับแดด

ส่วนแสงไฟ เน้นส่วนที่เป็นโต๊ะอาหาร ควรเลือกหลอดที่มีสีส้ม หรือ Warm White หลอดชนิดนี้จะเน้นสีของอาหารให้ดูน่ารับประทาน กระตุ้นความอยากอาหารให้กับเด็กและผู้สูงอายุในครอบครัวของเราได้ดี

สวนครัว

จากแนวคิดหลักที่จะทำให้พื้นที่ “ครัว” ให้เป็นพื้นที่ของ “ครอบครัว” นั้น เราสามารถดึงพื้นที่นอกบ้านเข้ามาร่วมด้วยได้ โดยจัดวางตำแหน่งห้องครัวให้เชื่อมต่อกับ “พื้นที่สวน” และตกแต่งสวนด้วยพืชผักสวนครัวก็จะเป็นการส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกันของคนในครอบครัว ตั้งแต่การเลือกผักที่จะปลูก การดูแล เก็บเกี่ยวผลผลิต ไปจนถึงการคิดเมนู และการประกอบอาหาร ปัจจุบันมีรูปแบบและอุปกรณ์ตกแต่งสวนครัวให้สวยงามได้แม้จะมีพื้นที่น้อย  นอกจากนั้นการเปิดพื้นที่ครัวสู่สวนภายนอกยังช่วยในเรื่องการระบายอากาศและกลิ่นจากการประกอบอาหาร  แต่ต้องระวังไม่ให้เป็นทิศต้นลมเพราะกลิ่นอาหารจะถูกพัดเข้าไปในทุกส่วนของบ้าน


รู้จักศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research and Innovation for Sustainability Center) เป็นศูนย์วิจัยที่รวบรวมบุคคลากรที่มีความหลากหลายในสาขาวิชาชีพ ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยและนวัตกรที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ผ่านการลงพื้นที่และเก็บข้อมูลจริง เพื่อตอบโจทย์ Well-being ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน การฟื้นฟูของสิ่งแวดล้อม และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของสรรพสิ่งบนโลก


เรื่อง : ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC)

เรียบเรียง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน


รวมบ้านอยู่สบาย ถูกใจวัยเกษียณ

รวมมิตร 50 “บ้านไม้” ยอดนิยมตลอดกาลของบ้านและสวน

ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag