วิธีปลูกราสป์เบอร์รี่ ในเมืองไทยก็ปลูกได้ ด้วยเทคนิคที่ง่ายกว่าที่คิด
หลายคนหลงเสน่ห์ความหอมและรสชาติหวานอมเปรี้ยวของราสป์เบอร์รี่ ผลไม้สดสีแดงสวยที่นิยมใช้ทำแยมและขนมหลากหลายเมนู จนอยากลอง ปลูกราสป์เบอร์รี่ กินเองบ้าง
หากอยาก ปลูกราสป์เบอร์รี่ แต่ยังลังเลเพราะไม่รู้จะเริ่มอย่างไรและถ้าลงมือแล้วจะสำเร็จไหม เราจึงชวนมาดูเทคนิคของ BerryCU สวนเบอร์รี่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทำให้รู้ว่าการ ปลูกราสป์เบอร์รี่ ในเมืองไทยไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด
- อาซาอิ พืชมาแรง ผลอร่อย มากประโยชน์ น่าลองปลูกในไทย
- เอบิว (Abiu) ไม้ผลแปลกน่าปลูก เรียนรู้เทคนิคการปลูกและดูแลให้ติดผล
คุณหน่อย-อนุรีย์ ณ สงขลา เล่าว่า เริ่มต้นจากความฝันที่อยากเก็บเบอร์รี่สด ๆ กินจากต้นเหมือนในต่างประเทศ จึงเริ่มปลูกเป็นงานอดิเรกลักษณะ Hobby Farm ใช้เวลากว่า 3 ปีในการทดลองปลูกผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ทั้งราสป์เบอร์รี่ แบล็กเบอร์รี่ มัลเบอร์รี่ และค่อย ๆ ต่อยอดปลูกไม้ผลชนิดอื่น จนพื้นที่ 10 ไร่นี้มีพืชพรรณหลากหลาย
ราสป์เบอร์รี่ เป็นไม้ผลขนาดเล็กอายุหลายปี ต้นสูงได้ถึง 2 เมตร มีทั้งชนิดที่มีหนามและไร้หนาม ใบเป็นใบประกอบ ขอบใบหยักซี่ฟัน ผลมีหลายสี เช่น แดงเข้ม แดง ชมพู เหลือง อุดมด้วยวิตามินซีช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ มีโพแทสเซียม ไนอะซิน ไรโบฟลาวิน และเส้นใยอาหารสูง นอกจากรับประทานสดแล้วยังนำไปคั้นน้ำ ทำแยมและขนม ใบนำไปทำแห้งชงเป็นชาดื่มได้
ปลูกราสป์เบอร์รี่ หลากหลายสายพันธุ์
พันธุ์ราปส์เบอร์รี่ ปัจจุบันราสป์เบอร์รี่มีพันธุ์ลูกผสมมากมายที่สามารถปลูกเลี้ยง เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย จึงได้รับความนิยมปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เทคนิคการ ปลูกราสป์เบอร์รี่
สามารถปลูกได้ทั้งในภาชนะและลงแปลงดิน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และความต้องการของผู้ปลูก
กรณีปลูกในภาชนะ ควรเลือกใช้กระถางที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 15 นิ้วขึ้นไป วัสดุปลูก ได้แก่ ดินร่วน 3 ส่วน ผสมกับกาบมะพร้าวสับละเอียด และขุยมะพร้าว อย่างละ 1 ส่วน หากไม่มีกาบมะพร้าวสับสามารถใช้ดินใบก้ามปูหรือแกลบดิบที่หมักแล้วทดแทนได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ดินถุงที่มีส่วนผสมของแกลบดำเพราะราสป์เบอร์รี่ไม่ชอบวัสดุปลูกที่เป็นด่างสูง หากจำเป็นต้องใช้ให้นำแกลบดำมาแช่น้ำทิ้งไว้ก่อน หลังจากปลูกจนมีหน่อขึ้นเต็มกระถาง ควรเปลี่ยนกระถางให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือขุดหน่อออกไปขยายปลูกใหม่ก็ได้
กรณีปลูกลงแปลงดิน ควรเตรียมแปลงปลูกให้มีความกว้างอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ส่วนความยาวแปลงขึ้นอยู่กับพื้นที่ อาจทำเป็นแปลงกั้นคอกแล้วใส่ดินปลูกสูง 25-30 เซนติเมตร เพื่อให้รากชอนไช ดูดซึมธาตุอาหารและแตกหน่อใหม่ได้ดี ทั้งยังให้ผลสมบูรณ์ การปลูกควรใช้ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวอย่างน้อย 30 x 30 เซนติเมตร ปรุงดินและหมักทิ้งไว้อย่างน้อย 7 วันก่อนลงปลูก จากนั้นใช้ฟางข้าวหรือขุยมะพร้าวคลุมแปลงเพื่อช่วยรักษาความชื้นบริเวณหน้าดิน วิธีนี้จะทำให้ต้นแตกกอได้ไว
หลังจากลงปลูก ควรพรางแสงต้นที่อยู่ในบริเวณที่มีแสงแดดจัด กระทั่งต้นเริ่มแตกหน่อใหม่จึงค่อย ๆ เอาซาแรนพรางแสงออก
หัวใจสำคัญของการปลูกราสป์เบอร์รี่ให้สำเร็จได้ง่าย ๆ ก็คือ วัสดุปลูกหรือดินปลูกต้องโปร่งร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ไม่ขังแฉะ หากวัสดุปลูกไม่ดีจะทำให้รากฝอยเสียหาย เป็นสาเหตุให้เชื้อโรคเข้าโจมตีจนเกิดโรครากเน่าและต้นเหี่ยวตายได้
การให้น้ำ
ราสป์เบอร์รี่เป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบแฉะหรือมีน้ำขัง การปลูกทั้งในภาชนะและลงแปลงดินควรรดน้ำวันละครั้งในช่วงเช้า หากอากาศร้อนมากอาจรดน้ำเพิ่มอีกครั้งในช่วงเย็นไม่เกิน 16.00 น. ข้อสังเกตว่าถึงเวลาให้น้ำหรือยังให้ดูจากความชื้นบริเวณหน้าดิน ถ้าดินแห้งค่อยให้น้ำก็ได้
การให้ปุ๋ย
– ช่วงบำรุงต้น ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 5 กรัมต่อต้นทุก 10 วัน หรือให้ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก อัตรา 100 กรัมต่อต้น ทุก 15-30 วัน
– ช่วงบำรุงต้นหลังปลูก 1 เดือน ให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15, 16-16-16 หรือ 20-20-20 โดยละลายน้ำแล้วรดบริเวณโคนต้น อัตรา 5 กรัมต่อต้น ทุก 30 วัน
– ช่วงเริ่มออกดอกติดผลหลังปลูก 3-4 เดือน ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 อัตรา 5-10 กรัมต่อต้น และให้ธาตุอาหารรองหรือจุลธาตุฉีดพ่นทางใบทุก 15 วัน
กรณีปลูกลงแปลงสามารถใช้ปุ๋ยคอกที่หมักแล้วก็ได้ เช่น ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว ขี้หมู เป็นต้น โดยอาจใช้วิธีหมักในแปลงก่อนลงปลูก
เทคนิคเพิ่มเติม
– หมั่นตัดแต่งใบที่เหี่ยวแห้ง ใบแก่ และใบที่หนาเกินไปออก เพื่อป้องกันการสะสมเชื้อโรคและแมลงศัตรู โดยตัดแต่งใบด้านล่างสูงขึ้นมาประมาณ 50 เซนติเมตร จะช่วยให้ทรงพุ่มมีการระบายอากาศที่ดี
– ตัดแต่งผลที่ไม่สมบูรณ์ออกบ้าง เหลือไว้เฉพาะผลที่สมบูรณ์ เพื่อให้มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ร่วมกับการฉีดพ่นธาตุอาหารรองกลุ่มแคลเซียมโบรอนในช่วงเช้าทุก 10 วัน จะช่วยบำรุงให้ผลมีขนาดใหญ่ สมบูรณ์ตามสายพันธุ์และรสชาติดีด้วย
– ขยายพันธุ์ง่าย ๆ ด้วยการแยกหน่อ หลังจากต้นแม่ให้ผลผลิตแล้วควรตัดทิ้งจนเหลือความสูงเหนือดินปลูก 10-20 เซนติเมตร เพื่อให้หน่อที่แตกใหม่เจริญเติบโตแทนที่ นอกจากนี้สามารถเพิ่มหน่อให้เยอะขึ้นได้ โดยใช้น้ำยาเร่งรากผสมน้ำรดบริเวณโคนต้นเดือนละครั้ง อีกวิธีหนึ่งที่นิยมคือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งช่วยเพิ่มจำนวนต้นอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับปลูกเชิงการค้า
โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
– โรครากเน่าโคนเน่า สาเหตุเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า สามารถแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางและรวดเร็วในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในต้นที่ไม่มีการตัดแต่งทรงพุ่ม ดินปลูกมีน้ำขังไม่ระบายน้ำ แก้ไขได้โดยถอนต้นออกไปเผาทิ้งแล้วโรยปูนขาวบริเวณที่เป็นโรค หรือปรับปรุงดินให้โปร่งร่วนซุย ระบายน้ำได้ดีตั้งแต่เริ่มปลูกจะช่วยลดการเกิดโรคได้
– ด้วงกุหลาบ หากปลูกไม่เยอะสามารถจับออกไปทิ้งในช่วงค่ำ หรือป้องกันโดยใช้มุ้งกันแมลงก็ได้
– ไรแดง ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบจนใบเป็นสีเหลืองมีจุดกระจายทั่ว เมื่อพลิกดูด้านใต้ใบจะพบแมลงตัวเล็ก ๆ สีแดงคล้ายแมงมุม วิธีป้องกันคือ หมั่นตัดแต่งใบด้านล่างทรงพุ่มอย่างน้อยทุก 15 วัน และฉีดพ่นด้วยน้ำหมักสมุนไพรจากสะเดา หางไหล น้ำส้มควันไม้ หรือสารป้องกันกำจัดไรแดงศัตรูพืช
ราสป์เบอร์รี่เป็นพืชที่ปลูกแค่ครั้งเดียวแต่สามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดปี โดยไม่ต้องลงปลูกใหม่ เพราะต้นมีหน่อใหม่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ยิ่งหมั่นดูแลและบำรุงต้นอย่างดี จะช่วยให้มีอายุเก็บเกี่ยวได้นาน 3-5 ปีทีเดียว นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ทุกสภาพอากาศ ในช่วงเดือนใดก็ได้ ไม่จำเพาะต้องเป็นฤดูหนาวเท่านั้น (แม้ปลูกในฤดูหนาวจะให้ผลผลิตดีที่สุดก็ตาม) ทั้งยังเก็บผลผลิตต่อเนื่องได้ทั้งปี นับเป็นไม้ผลต่างประเทศที่ปลูกง่ายในเมืองไทยอีกชนิดหนึ่ง
สำหรับมือใหม่และผู้สนใจอยาก ปลูกราสป์เบอร์รี่ ไว้รับประทานเอง สามารถสอบถามข้อมูล และไปชมแปลงปลูกราสป์เบอร์รี่ได้ที่ BerryCU ในตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แล้วคุณจะหลงรักไม้ผลตระกูลเบอร์รี่ ที่รวบรวมปลูกในสวนอีกหลายชนิดอย่างแน่นอน
เรื่อง : อังกาบดอย
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม และ BerryCU