รู้ทันโรคพืชและเทคนิคดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเองอย่างง่าย ๆ
ใคร ๆ ก็อยากให้พืชผักที่ปลูกมีสุขภาพดี แต่ผู้ปลูกทุกคนล้วนรู้ดีว่าพืชและ โรคพืช เป็นของคู่กัน หลายครั้งเราสังเกตเห็นพืชมีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะแสดงออกด้วยอาการใบเหลือง ใบหงิก ใบไหม้ ใบเป็นจุด ต้นเหี่ยว ต้นแคระแกร็น กระทั่งตายลงจนเก็บผลผลิตไม่ได้ อาการเหล่านี้เกิดจากสาเหตุใด แล้วมีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยให้พืชเติบโตได้อย่างแข็งแรง ออกดอกผลได้ดังใจหวัง
- โรคราน้ำค้างโหระพา
- โรคราสนิมขาวผักบุ้ง
- โรคราแป้ง
- โรคใบจุดคะน้า
- โรคเน่าเละของพืชผัก
- โรคขอบใบทองหรือเน่าดำ
- โรคใบจุดของมะเขือเทศ
- โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม
- โรคใบหงิกเหลืองของมะเขือเทศ
โรคพืช
หนังสือชุดคู่มือการเกษตร เรื่อง รู้ทันโรคพืช รวบรวมและเรียบเรียงจากประสบการณ์ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมาช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดกับพืชปลูก เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้ความเข้าใจในโรคพืชเบื้องต้น เป็นคู่มือดูแลสุขภาพต้นไม้ด้วยตัวเอง
สำหรับผักสวนครัวที่นิยมปลูกกัน ไม่ว่าจะเป็นผักกินใบอย่างผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ฯลฯ หรือผักกินผลนั้นเกิดโรคได้หลายโรค บางโรคมีอาการคล้ายกันจนทำให้ไม่แน่ใจว่าที่คิดว่ารู้นั้นเข้าใจถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะอาการใบเหลืองแบบต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้การป้องกันและรักษาโรคไม่ได้ผลหรือไม่มีประสิทธิภาพ สำนักพิมพ์บ้านและสวน รวมตัวอย่างโรคพืชที่พบเจอกันบ่อย ๆ พร้อมวิธีจัดการโรคเบื้องต้นมาแนะนำให้รู้จักกัน
โรคราน้ำค้างโหระพา
อาการ ใบด้านบนมีสีเหลืองเป็นแถบ ด้านใต้ใบพบกลุ่มของสปอร์สีเทาเป็นขุยฟู ต่อมาเนื้อใบส่วนที่เป็นสีเหลืองจะตาย เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำ อาการของโรคจะเกิดขึ้นกับใบแก่ที่อยู่ส่วนล่างของทรงพุ่มก่อน
การจัดการโรคเบื้องต้น
- แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 52-55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20-30 นาที ก่อนปลูก
- ปลูกโหระพาให้มีระยะห่างระหว่างต้นและหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มไม่ให้แน่นทึบเพราะความชื้นในทรงพุ่มสูงจะทำให้เกิดโรคและแพร่ระบาดได้ง่าย
- ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส
โรคราสนิมขาวผักบุ้ง
อาการ เริ่มแรกเกิดจุดสีเหลืองขนาดเล็กบริเวณส่วนบนของใบ ต่อมาจะขยายเป็นแผลไหม้ ใต้ใบเห็นจุดสีขาวนวลของเชื้อรา เมื่อโรคระบาดมากจะทำให้ใบแห้งตาย
การจัดการโรคเบื้องต้น
- ตัดใบ ถอนต้น และเก็บเศษซากที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูก รวมถึงวัชพืชและผักบุ้งป่าบริเวณรอบ ๆ
- ระมัดระวังการให้น้ำ โดยเฉพาะขณะมีโรคระบาด เพราะจะทำให้เชื้อกระจายจากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นข้างเคียงได้
- ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส
โรคราแป้ง
อาการ พบเส้นใยหรือสปอร์ของเชื้อเจริญปกคลุมผิวพืชเป็นผงขาวคล้ายแป้งหรือฝุ่นเกาะติดอยู่บนใบ ถ้าเป็นกับใบอ่อนในพืชบางชนิดจะทำให้ใบหงิกงอ ถ้าเป็นส่วนตาของพืชจะไม่เจริญ กิ่งที่เป็นโรคนาน ๆ อาจแห้งตายในที่สุด
การจัดการโรคเบื้องต้น
- หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้ทำลายเศษซากพืชที่เคยเป็นโรคโดยไถกลบและปลูกพืชหมุนเวียน
โรคใบจุดคะน้า
อาการ เกิดโรคกับพืชตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี ผักกาดขาว และผักกวางตุ้ง เป็นต้น อาการส่วนมากสังเกตได้ชัดเจนบนใบซึ่งจะเกิดเป็นแผลจุดเล็ก ๆ สีเหลือง ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ แผลมีลักษณะเป็นวงค่อนข้างกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
การจัดการโรคเบื้องต้น
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดเชื้อ หรือฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดโดยแช่ในน้ำอุ่น 49-50 องศาเซลเซียส นาน 20-25 นาที
- กำจัดวัชพืชในแปลงปลูกไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อโรค
- ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส
โรคเน่าเละของพืชผัก
อาการ เริ่มแรกพืชแสดงอาการฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลจะเน่าลุกลามขยายเป็นบริเวณกว้าง มีเมือกเยิ้ม ส่งกลิ่นเหม็น อารการของโรคพัฒนาอย่างรวดเร็วในสภาพอากาศร้อนจัดและมีฝนตกชุก
การจัดการโรคเบื้องต้น
- กำจัดเศษซากพืชและวัชพืชในแปลงให้หมดก่อนการปลูกผักแต่ละรุ่น แล้วไถพลิกกลับดินตากแดด 2-3 ครั้ง โดยทิ้งระยะให้ห่างกันพอสมควร เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคในดิน
- ควบคุมแมลงศัตรูพืชต่าง ๆ ในแปลงปลูก โดยเฉพาะหนอนและแมลงปากกัด
- เมื่อเริ่มพบต้นเป็นโรคควรรีบขุดถอนทิ้งนอกแปลงปลูก
- ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส
โรคขอบใบทองหรือเน่าดำ
อาการ ใบเหลืองจากขอบใบแล้วลามลึกเข้ามาในเนื้อใบเป็นรูปตัววี เส้นใบบริเวณนี้จะมีสีน้ำตาลดำ ต่อมาเกิดอาการแห้งจากขอบใบ ใบเหี่ยวเฉาหรือหลุดจากต้น
การจัดการโรคเบื้องต้น
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่รับรองปลอดโรค
- ขุดตอเก่ามาทำลาย และควรเก็บเกี่ยวผลผลิตด้วยการถอนต้นแทนการตัดหัวแล้วทิ้งตอไว้ในแปลงปลูก
- ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส
โรคใบจุดของมะเขือเทศ
อาการ เกิดจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลอ่อนบนใบ รูปร่างไม่แน่นอน ต่อมากลายเป็นสีน้ำตาลดำถึงดำ เมื่อเป็นโรครุนแรงใบจะร่วง อาจพบอาการจุดแผลบนลำต้นเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลดำ และเชื้อยังเข้าทำลายผล ทำให้ผลเป็นจุดสะเก็ดสีน้ำตาลดำด้วย
การจัดการโรคเบื้องต้น
- ใช้เมล็ดพันธุ์ที่รับรองปลอดโรคหรือพันธุ์พืชต้านทานโรคมาปลูก
- ทำลายเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดพันธุ์โดยแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส นาน 15 นาที
- กำจัดเศษซากพืชที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูกโดยการฝังหรือเผา ปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่พืชในตระกูลมะเขือ
- ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส
เคล็ด (ไม่) ลับ ปลูกมะเขือเทศแฟนซี แบบไร้สารเคมี
โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม เช่น มะกรูด มะนาว
อาการ ส่วนมากเกิดกับใบอ่อน ระยะแรกเห็นเป็นจุดฉ่ำน้ำเล็ก ๆ ต่อมาจุดขยายใหญ่ขึ้น นูนฟูสีเหลืองอ่อน จากนั้นแผลนูนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและยุบลงกลายเป็นสะเก็ดแข็ง ผิวขรุขระมีสีเหลืองล้อมรอบแผล อาการสามารถเกิดกับส่วนต่าง ๆ ได้แก่ กิ่ง ลำต้น และผล
การจัดการโรคเบื้องต้น
- ใช้ส่วนขยายพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ที่ไม่มีโรคมาปลูก
- ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคบริเวณใบ กิ่ง และลำต้นทิ้ง
- ควบคุมแมลงศัตรู โดยเฉพาะหนอนชอนใบที่ทำให้เกิดบาดแผลในช่วงใบอ่อนเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ
- ป้องกันด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส
วิธีขยายพันธุ์มะนาว ทำขายสร้างรายได้ ง่ายนิดเดียว
โรคใบหงิกเหลืองของมะเขือเทศ
อาการ เมื่อพืชได้รับเชื้อไวรัสจะเริ่มแสดงอาการที่ใบอ่อน โดยใบที่แตกใหม่มีขนาดเล็ก หงิกงอ สีเหลือง ใบด้างล่างทรงพุ่มจะมีขอบใบม้วนงอ อาจม้วนขึ้นหรือลงก็ได้ ผิวใบย่น ไม่เรียบ ใบหดเล็ก มีสีเหลือง ยอดแตกเป็นพุ่มแต่ไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น
การจัดการโรคเบื้องต้น
- ทำลายต้นเป็นโรคโดยถอนออกหรือฝังดินไม่ให้เหลือในบริเวณที่ปลูกพืช
- ควบคุมการระบาดของแมลงหวี่ขาว หรือวางแผนปลูกให้พืชเติบโตและแข็งแรงก่อนฤดูแพร่ระบาดของแมลงหวี่ขาว
วิธีปลูกมะเขือเทศกินเอง ไม่ยากอย่างที่คิด
นอกจากโรคพืชที่เกิดกับผักสวนครัวทั้ง 9 โรคนี้แล้ว มาทำความรู้จักโรคพืชในพืชปลูกอื่น ๆ ทั้งข้าว อ้อย ถั่ว พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับต่าง ๆ ว่ามีสาเหตุเกิดจากอะไรและมีอาการอย่างไร ตัวอย่างโรคพืชที่พบบ่อยจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ไฟโตพลาสมา เชื้อไวรัส และไส้เดือนฝอย พร้อมเทคนิคจัดการโรคพืชทั้งการใช้ชีววิธีด้วยจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ และสารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างมีประสิทธิภาพได้เพิ่มเติมในหนังสือ รู้ทันโรคพืช … ไม่นานเกินรอ
10 ผักนอกปลูกง่าย ปลูกในกระถาง ให้ผลผลิตดีเหมือนปลูกลงแปลง
เรื่องและภาพ : หนังสือ รู้ทันโรคพืช โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เรียบเรียง : วิรัชญา