บ้านชั้นเดียว กลิ่นอายญี่ปุ่น ที่เรียบสงบกลางธรรมชาติ
บ้านชั้นเดียว กลิ่นอายญี่ปุ่น ที่เน้นบรรยากาศเงียบสงบ สามารถนั่งมองธรรมชาติอันเรียบง่ายรอบตัวที่มุมระเบียงไม้โปร่ง บรรยากาศเหมือนนั่งอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในเกียวโต บ้านชั้นเดียวเรียบง่าย
จากคำบอกเล่าถึงการไปเที่ยวญี่ปุ่นเเล้วประทับใจในบรรยากาศ นำสู่การออกแบบบ้านหลังนี้โดยมีคุณบอย-พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปาน-ปานดวงใจ รุจจนเวท สถาปนิกแห่ง Anonym เป็นผู้สร้างสรรค์นำมาใช้เป็นแนวทางการออกแบบ บ้านชั้นเดียว กลิ่นอายญี่ปุ่น หลังนี้
แม้จะมีที่ดินอยู่เกือบไร่ก็ตาม แต่เจ้าของบ้านกลับไม่ได้อยากสร้างบ้านหลังใหญ่โตให้เต็มพื้นที่ เพราะสิ่งที่เขาต้องการเป็นเพียงบ้านชั้นเดียวขนาดพอดี ไม่ต้องสูงโดดเด่นออกนอกรั้วหน้าบ้านและมีฟังก์ชันใช้งานเท่าที่จำเป็น แล้วปล่อยพื้นที่เหลือจากบ้านให้เป็นสวนสีเขียวที่ร่มรื่น เพื่อให้ธรรมชาติทำหน้าที่บำบัดชีวิตในบ้านให้ได้สัมผัสกับความสุขสงบ คล้ายช่วงเวลาที่เคยดื่มด่ำอยู่ตรงระเบียงวัดในเกียวโตครั้งนั้น
เมื่อมองจากรั้วหน้าบ้านเราจึงยังไม่เห็นตัวบ้านด้านในจนกว่าจะเปิดรั้วเข้าไป พื้นที่แรกที่ทักทายคือสวนขนาดกว้างหน้าบ้านที่ไล่ระดับความสูงน้อยๆ ขึ้นไปจนถึงตัวบ้านชั้นเดียวซึ่งวางตัวทอดยาวและสงบนิ่ง คล้ายกล่องสี่เหลี่ยมที่มีช่องเปิดกว้างจากภายในเชื่อมต่อออกมาสู่ระเบียงไม้ขนาดใหญ่ติดกับสวน โดยสถาปนิกบอกว่าได้เลือกใช้ไม้เก่าจากบ้านหลังเดิมมาขัดและทำสีใหม่ แล้วจัดวางแพตเทิร์นสลับให้ดูเป็นธรรมชาติสวยงาม
เจ้าของบ้านช่วยเล่าเสริมว่า “เดิมเป็นบ้านที่คุณพ่อคุณแม่อยู่กันมา 40 ปีแล้วก็เก่ามาก พอคุณพ่อกับคุณแม่ย้ายไปอยู่บ้านข้างๆ ที่ซื้อเพิ่มขึ้นมา บ้านหลังเดิมนี้ก็เลยดูกว้างมากเกินไปที่จะอยู่เอง อีกอย่างตัวบ้านยังเคยโดนน้ำท่วมชั้นล่างไปเยอะเลยถือโอกาสทำบ้านใหม่ โดยรื้อบ้านเก่าทิ้งแล้วสร้างใหม่เป็นบ้านแค่ชั้นเดียวที่กะว่าจะอยู่ยาวไปจนเกษียณ อยากให้เป็นบ้านที่ดูเรียบง่ายธรรมดา ไม่มีสเต็ป ภายในโล่งๆ อยู่สบาย และทุกห้องสามารถหันหน้าออกไปชมสวนได้หมด”
สถาปนิกจึงวางผังของบ้านชั้นเดียวนี้ให้เป็นรูปตัวยู (U) ซึ่งเว้นช่องตรงกลางไว้เป็นคอร์ตยาร์ดสำหรับจัดแต่งสวนด้านใน “เราออกแบบตัวบ้านให้เน้นการเปิดโล่งรับกับทิศทางของลมธรรมชาติทำให้อากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา ภายในยกฝ้าเพดานให้สูงโปร่งเกือบ 4 เมตร โครงสร้างหลังคาเป็นเหล็กเพื่อทำให้เส้นสายส่วนนี้ดูบางและเบา มองแล้วไม่รู้สึกอึดอัดเพราะหลังคาของบ้านชั้นเดียวจะอยู่ใกล้กับระยะสายตามากกว่าบ้านสองชั้น และเลือกใส่ฉนวนกันความร้อนไว้เหนือฝ้าเพื่อช่วยป้องกันความร้อนเข้ามาภายใน แล้วใช้ลายเส้นเหล็กจากโครงหลังคาให้ต่อเนื่องเข้ามาเป็นแพตเทิร์นเรียบเท่แบบญี่ปุ่น ซึ่งดูคล้ายแนวพาดของไม้ที่ฝ้าเพดานภายในล้อรับไปจนถึงชายคาด้านนอก”
ฟังก์ชันใช้งานแต่ละมุมของบ้านไล่เรียงต่อเนื่องกันแบบตรงไปตรงมา ตั้งแต่ส่วนนั่งเล่นที่เชื่อมกับส่วนรับประทานอาหาร และครัว ตามด้วยห้องพระ ห้องทำงานและห้องนอน ทุกห้องมีบานประตูกระจกกว้างเพื่อเปิดมุมมองออกสู่สวนบริเวณคอร์ตตรงกลาง แต่เน้นพื้นที่ผ่อนคลายด้วยระเบียงขนาดกว้างพิเศษไว้ตรงห้องนั่งเล่นทั้งฝั่ง คอร์ตกลางบ้านและฝั่งสวนหน้าบ้าน เมื่อเปิดผนังทั้งสองฝั่งออกจึงดูราวกับว่าธรรมชาติกำลังโอบล้อมอยู่รอบตัว
พื้นที่สวนบริเวณคอร์ตตรงกลางได้ทำหน้าที่ปอดธรรมชาติของบ้านไว้อย่างดี เพราะไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของบ้านก็สามารถมองออกมาพินิจความหลากหลายของพรรณไม้ ที่ผสมกลมกลืนอยู่ร่วมกันทั้งไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้คลุมดิน โดยเฉพาะยังได้นั่งลงที่ระเบียงกว้าง คอยดูรูปทรงและความเติบโตของเหล่าพรรณไม้นี้ได้อย่างสงบสุข เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในวัดแห่งหนึ่งที่เกียวโต
DESIGNER DIRECTORY บ้านชั้นเดียว
ออกแบบสถาปัตยกรรม: Anonym โดยคุณพงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และคุณปานดวงใจ รุจจนเวท
ออกแบบภูมิสถาปัตรยกรรม : P do Landscape Studio
เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล
บ้านชั้นเดียวทรงจั่วสไตล์โมเดิร์นแบบอีสาน
บ้านชั้นเดียวในอ้อมกอดของขุนเขา