ราในตู้เสื้อผ้า กำจัดได้ พร้อมวิธีดูแลไม่ให้ตู้เสื้อผ้าเป็นราอีก

การดูแลและทำความสะอาดเชื้อราในตู้เสื้อผ้า ให้หมดปัญหากวนใจ

การเกิดเชื้อ ราในตู้เสื้อผ้า นั้นเป็นปัญหาที่หลายบ้านต้องเจอซ้ำไปซ้ำมาในช่วงที่มีอากาศชื้น หรือในช่วงที่ฝนตกติดต่อกันนาน ๆ ถึงแม้ว่าจะทำความสะอาด ได้กำจัดเชื้อราออกจากบานตู้เสื้อผ้าแล้ว แต่ก็บ่อยครั้งเชื้อราเหล่านั้น ก็ยังกลับมาใหม่อีก ซึ่งสาเหตุการเกิดเชื้อราในตู้เสื้อผ้า หลัก ๆ นั้นก็คือความชื้นในอากาศ

เมื่อความชื้นในอากาศมีมาก อาจทำให้เกิด ราในตู้เสื้อผ้า เรามาดูสาเหตุ และ วิธีทำความสะอาดตู้เสื้อผ้าเมื่อเกิดเชื้อราขึ้น และวิธีป้องกันไม่ให้เชื้อรากลับมากวนใจอีก ลองไปสำรวจสิ่งที่ควรจัดการ และรับมือกับปัญหาเชื้อ ราในตู้เสื้อผ้าด้วยอุปกรณ์ที่หาได้รอบตัว

สาเหตุของการเกิดเชื้อ ราในตู้เสื้อผ้า

ราในตู้เสื้อผ้า

ตัวการสำคัญ ของเชื้อราคือความชื้น โดยเฉพาะในบริเวณที่ แสงมักจะส่องไม่ค่อยถึง อากาศไม่ถ่ายเท จึงทำให้ตู้เสื้อผ้าเป็นมุมที่เชื้อรา สามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต เพราะทั้งมืด ทั้งอับ และไม่มีอากาศที่ถ่ายเทอย่างเพียงพอ

การก่อให้เกิดความชื้นแบบไม่รู้ตัว อาจทำให้ตู้เสื้อผ้า เกิดเชื้อราได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การนำเสื้อผ้าที่ยังแห้งไม่สนิท เก็บเข้าตู้ หรือ การทำความสะอาดห้อง โดยใช้ผ้าที่เปียก หรือผ้าที่ชื้นเกินไป วิธีนี้ทำให้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นต่าง ๆ ได้รับความชื้นที่มากขึ้นตามไปด้วย แม้จะคอยดูแลอยู่เป็นประจำ แต่สภาพอากาศที่ชื้นมากกว่าปกติ ในช่วงหน้าฝน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาเชื้อราขึ้นได้

การทำความสะอาดคราบเชื้อราในตู้เสื้อผ้า

ราในตู้เสื้อผ้า

ขั้นตอนที่ 1

จัดการเช็ดล้างคราบเชื้อรา คราบเก่าออกก่อนเป็นอันดับแรก โดยสามารถใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ มาค่อย ๆ เช็ดเชื้อราออก โดยระวังอย่าให้ฟุ้งกระจาย ซึ่งขั้นตอนนี้ แนะนำให้สวมหน้ากากอยามัย และ ถุงมือด้วย แต่ถ้าหากคราบเชื้อราค่อนข้าง ติดแน่น และสะสมอยู่เป็นเวลานาน แถมยังลุกลาม และกระจายออกเป็นวงกว้าง ก็สามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ อย่างแอลกอฮอล์ หรือ น้ำยาทำความสะอาดแบบอเนกประสงค์ หรือ สเปรย์สำหรับกำจัดเชื้อราโดยเฉพาะ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดคราบเชื้อราเหล่านี้ให้ออกไปได้

ขั้นตอนที่ 2

หากลงมือเช็ดล้างคราบเชื้อรา คราบเก่าออกไปแล้ว แต่ยังคงเหลือคราบเชื้อราอีกส่วน ที่ฝังลึกลงไปในเนื้อเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะ เฟอร์นิเจอร์จำพวกไม้ชนิดต่าง ๆ สามารถทำการแก้ไขได้ ด้วยการนำกระดาษทราย มาขัดบริเวณคราบเชื้อราออก โดยเริ่มจากการขัดกระดาษทรายแบบหยาบก่อน เพื่อให้เชื้อราหลุดออกไปให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ใช้กระดาษทรายแบบเนื้อละเอียด มาขัดย้ำที่ร่องรอยเดิม เพิ่มให้เนื้อเฟอร์นิเจอร์นั้นมีความเรียบสวยเหมือนเดิม

ขั้นตอนที่ 3

เมื่อทำความสะอาดคราบเชื้อราออกจนหมดแล้ว คราวนี้ก็มาถึงขั้นตอนการยับยั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้คราบเชื้อรา กลับมากวนใจอีกครั้ง  โดยการใช้น้ำส้มสายชูผสมกับน้ำเปล่าลงในขวดเสปรย์ แล้วนำมาฉีดพ่นลงไปให้ทั่วบริเวณที่เกิดเชื้อราทิ้งไว้ให้แห้งสนิท หรืออีกวิธีหนึ่ง คือการใช้ยาหยอดฆ่าเชื้อราในเล็บ หยอดลงไปในบริเวณที่มีเชื้อราอยู่ โดยน้ำยาฆ่าเชื้อราสำหรับเล็บนี้ สามรถหาซื้อได้ตามร้านขายยา เช็ดทำความสะอาด ตู้ที่มีเชื้อราทับลงไปได้ค่ะ

ราในตู้เสื้อผ้า

ขั้นตอนที่ 4

ทุกครั้งหลังขั้นตอนการทำความสะอาดด้วยน้ำ หรือ น้ำยาต่าง ๆ ที่มีการเพิ่มความชื้นให้กับตู้เสื้อผ้า จำเป็นต้องทำให้ตู้เสื้อผ้านั้น แห้งอย่างเร็วที่สุด ด้วยการนำผ้าแห้ง มาเช็ดซ้ำอีกครั้ง หรือใช้พัดลม หรือไดร์เป่าผม เป่าจนพื้นผิวบริเวณนั้นแห้งสนิท เพื่อไม่ให้เกิดความชื้น ซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุ ของคราบเชื้อรา และอาการบวมน้ำในเฟอร์นิเจอร์ต่อไปได้อีกนั่นเอง

ขั้นตอนที่ 5

หลังกำจัดคราบเชื้อราที่เกิดขึ้นออกไปจากตู้เสื้อผ้าแล้ว ก็ควรจะต้องหาวิธีป้องกันพื้นผิวตู้เสื้อผ้า ให้ลดการสัมผัสกับความชื้น ที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการใช้น้ำยาเคลือบผิวไม้ ทาทับให้ทั่วตู้เสื้อผ้าอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นก็รอให้น้ำยาเคลือบผิวไม้แห้ง จนกลิ่นน้ำยาค่อย ๆ จางลงไป ก็สามารถนำตู้เสื้อผ้า กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม

การป้องกันเชื้อราไม่ให้กลับมากวนใจ

วิธีที่แนะนำ และง่ายที่สุด คือปรับบรรยากาศในห้อง ให้เป็นพื้นที่ที่เชื้อราไม่ชอบ นั่นก็คือการเปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเท และ มีแสงแดดเข้ามาบ้าง วิธีนี้จะทำให้ห้องไม่อับ และ แสงแดดก็ยังเป็นตัวช่วยเพิ่มความอบอุ่น ทำให้ความชื้นในห้องลดลงด้วย

ระวังสิ่งที่ทำให้เกิดความชื้นในห้องโดยไม่รู้ตัว ทั้งจากการทำความสะอาดด้วยผ้าที่เปียกไปจนถึงการนำเสื้อผ้าที่ยังไม่แห้งสนิทมาแขวนในห้องหรือในตู้เสื้อผ้า แม้สิ่งเหล่านี้จะเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความชื้นในห้องได้เหมือนกัน

การล้างแอร์ อาจเป็นการลดต้นตอ ของการเกิดเชื้อราได้อีกทาง เพราะบางครั้งเชื้อรา ก็อาจไปแอบซุกซ่อนอยู่ในช่องแอร์ได้เช่นกัน เมื่อเปิดใช้งานแอร์ ยิ่งเป็นการพ่นกระจายเชื้อรา ไปตามที่ต่าง ๆ และ ขยายออกไปเรื่อย ๆ ถ้าหากเป็นแบบนี้ ต่อให้ทำความสะอาดยังไงก็ไม่มีวันหมด ดังนั้น เราควรทำความสะอาด ล้างแอร์ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการทำความสะอาด แหล่งต้นตอของเชื้อราในห้อง

การติดไฟเพิ่มในมุมที่วางตู้เสื้อผ้า ก็สามารถช่วยลดการเกิดเชื้อรา ได้เหมือนกัน เพราะเชื้อราเกิดจากความชื้น แต่ความอบอุ่น ที่มาจากแสงของหลอดไฟ สามารถลดช่วยความชื้นได้ เป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยลดความชื้น โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศชื้นมากเป็นพิเศษ

ราในตู้เสื้อผ้า ลดความชื้น ดูดความชื้น

ใช้ตัวช่วยอย่างกล่องดูดความชื้นหรือสารดูดความชื้นต่าง ๆ มาลดต้นเหตุที่ทำให้เกิดเชื้อรา โดยการนำไปวางตามมุมอับอย่างในตู้เสื้อผ้าหรือบริเวณใกล้เคียงที่เป็นพื้นที่ปิด ซึ่งก็มีหลากหลายแบรนด์ให้เลือกใช้ แต่ละแบบก็อาจมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเรื่องกลิ่นและระยะเวลาการใช้งานที่แตกต่างกันไปให้เลือกเพิ่มเติม


my home คน/จัด/สิ่งของ EP.4 ได้เวลามาจัดระเบียบตู้เสื้อผ้า

[Before-After] เปลี่ยน ตู้เสื้อผ้าเก่า ให้เหมือนตู้ใหม่

ติดตามข้อมูลดีๆ เพิ่มเติมได้ที่เพจบ้านและสวน