ปุ๋ยหมัก จากเศษอาหาร Zero Waste ในบ้านที่ทุกคนทำได้
รู้หรือไม่? เศษอาหารที่เหลือทิ้งจากการบริโภคในแต่ละวันสามารถเอามาทำ ปุ๋ยหมัก ได้ง่าย ๆ วิธีนี้ไม่เพียงช่วยลดปัญหามลภาวะ แต่ยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ไว้บำรุงพืชผัก ประหยัดอีกต่อหนึ่งด้วย
ปุ๋ยหมัก
หนังสือ Garden & Farm Vol.15 เกษตรในเมือง (Urban Farming) ตอบโจทย์คนเมืองที่อยากสร้างพื้นที่อาหารของตัวเองและชุมชน ชวนไปเรียนรู้เรื่องเกษตรในเมืองกับคุณชูเกียรติ โกแมน ที่แปลงผักสาธิตภายในศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซอยงามดูพลี เขตสาทร กรุงเทพฯ
ในแต่ละวันเรามีเศษอาหารเหลือทิ้งจากการบริโภคครอบครัวละ 1-3 กิโลกรัม วิธีจัดการขยะอินทรีย์ที่คนเมืองส่วนใหญ่เลือกใช้คือรวบรวมใส่ถุงแล้วรอรถขยะมาขนทิ้ง อาจมาเก็บทุกวันหรือมาแค่สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ปริมาณขยะจึงสะสมเพิ่มเติมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งถ้าจัดการเก็บไม่เรียบร้อย ยิ่งทำให้เกิดกลิ่นเหม็นและมีแมลงรบกวนจนรำคาญใจ สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในทางเลือกที่ทุกคนและทุกบ้านทำได้โดยไม่ต้องรอรถเก็บขยะคือ การนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก โดยอาศัยการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ธรรมชาติ วิธีนี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างเก็บขยะมูลฝอยและไม่เป็นภาระต่อสังคม
“ขยะเศษอาหารทุกอย่างสามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้หมด เพราะเราต้องการให้ขยะอินทรีย์จากบ้านมันเป็นศูนย์” คุณชูเกียรติบอกถึงความตั้งใจขณะเตรียมอุปกรณ์สำหรับทำปุ๋ยหมัก
“ถ้าทำปุ๋ยหมักหรือกำจัดเศษอาหารในครัวเรือน ส่วนใหญ่คนจะกังวลเรื่องกลิ่นและแมลงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลงวัน แมลงสาบ หรือหนู ผมจึงออกแบบกล่องหมักปุ๋ยโดยใช้กล่องพลาสติกที่เราคุ้นชินกันอยู่แล้ว ซึ่งตัวกล่องมีฝาปิดมิดชิด ช่วยป้องกันกลิ่นและแมลงรบกวนได้ แต่การปิดฝากล่องจนสนิทจะทำให้เกิดการหมักในสภาพไม่มีอากาศ ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็นมากขึ้น ขณะที่ระบบการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ต้องการอากาศ ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้มีการนำอากาศจากภายนอกเข้าไปข้างในกล่องได้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดกระบวนการย่อยได้ดีขึ้น
“ภายในกล่องต้องมีอุปกรณ์ช่วยเติมอากาศ สามารถทำได้เองโดยใช้สว่านเจาะกล่อง แล้วต่อท่อพีวีซีที่เจาะรูไว้เป็นระยะเข้าไปด้านใน โดยเฉพาะมุมทั้งสี่ด้านของกล่องซึ่งเป็นจุดอับเพื่อเพิ่มอากาศให้บริเวณนี้ ไม่แนะนำให้เจาะรูที่ฐานกล่องโดยตรงเพราะอาจมีปัญหาแมลงตามมา หรือถ้ากังวลว่าอากาศในกล่องจะไม่พอก็สามารถต่อท่อออกซิเจนเพิ่มอากาศเข้าที่รูด้านหน้ากล่องได้”
มาทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารกัน
Tips
– ใช้น้ำตาลธรรมชาติชนิดอื่น เช่น กากน้ำตาล น้ำตาลอ้อย น้ำตาลปี๊บ แทนน้ำตาลทรายได้ ถ้าใช้น้ำตาลปี๊บต้องนำมาละลายน้ำก่อนเพื่อให้น้ำตาลกระจายทั่วส่วนผสม
– ถ้าเศษอาหารที่นำมาทำปุ๋ยมีสัดส่วนของแกงกะทิและของคาว เช่น ไส้ปลา หัวกุ้งมาก ให้เพิ่มน้ำตาลเยอะหน่อย จะช่วยเพิ่มอัตราการย่อยสลายและลดกลิ่นได้
– ใช้กล่องหมักปุ๋ยขนาดใดก็ได้ที่สามารถเคลื่อนย้ายสะดวกและสัมพันธ์กับปริมาณเศษอาหารในครัวเรือน
“การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหารแบบนี้สะดวกสำหรับคนเมือง เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย มือไม่เลอะ ใช้เวลาไม่นานก็ทำเสร็จ สามารถใช้เวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์ผสมของแห้งเตรียมไว้ เมื่อมีเศษอาหารก็ค่อยผสมคลุกเคล้าเติมลงในกล่องได้เรื่อย ๆ จนเต็ม หลังจากกระบวนการหมักเสร็จสิ้นก็ได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีไว้ใช้ จะเอาไปผสมดินปลูกต้นไม้หรือโรยหน้ากระถางและแปลงผักก็ได้
“สิ่งที่ต้องระวังคือ ถ้าปุ๋ยหมักยังร้อนหรือมีเศษอาหารสดเหลืออยู่ แสดงว่าจุลินทรีย์ยังย่อยสลายไม่เสร็จจึงมีความร้อนเกิดขึ้น อย่าเพิ่งนำปุ๋ยมาใช้งาน เพราะจุลินทรีย์ในปุ๋ยหมักจะไปแย่งไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารของพืชมาใช้ ทำให้พืชเกิดอาการใบเหลืองได้”
การปลูกผักกินเองแบบไม่ใช้สารเคมีหรือปลูกผักอินทรีย์ จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยหมักในการปรับปรุงดิน เนื่องจากดินผสมบรรจุถุงที่จำหน่ายทั่วไปมักมีธาตุอาหารพืชน้อยจึงปลูกผักไม่ค่อยโต เมื่อสามารถทำปุ๋ยหมักได้เองก็นำไปผสมกับดินถุงก่อนปลูกผักโดยใช้อัตราส่วนเท่ากัน ยิ่งใส่ให้พืชอย่างสม่ำเสมอทุก 15 วัน ยิ่งทำให้การเจริญเติบโตดี ผลผลิตผักที่หวังไว้ย่อมไม่นานเกินรอ
การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักด้วยวิธีที่แนะนำนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาขยะอินทรีย์ได้อย่างเห็นผล เมื่อนึกภาพว่าทุกบ้านในเมืองร่วมด้วยช่วยกันทำ แนวคิดของเสียเหลือศูนย์หรือ Zero Waste ก็คงไม่ไกลเกินฝัน
ขอขอบคุณ คุณชูเกียรติ โกแมน ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดบริการ วันจันทร์-เสาร์ เวลา 9.00-17.00 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทรศัพท์ : 08-5090-2283
เรื่อง: อังกาบดอย
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม