วิธีเลือกไม้ไผ่สำหรับใช้ในงานสร้างอาคาร
เราคุ้นเคยกับบ้านเรือนแพและศาลา ไม้ไผ่ มานานแล้ว เพราะไม้ไผ่เป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เป็นพืชที่โตเร็วและราคาไม่แพง
ด้วยเอกลักษณ์ที่เป็นไม้ท่อนกลม เป็นปล้องๆ มีความอ่อนตัวสูง ทำให้อาคาร ไม้ไผ่ มีเสน่ห์เฉพาะตัว จึงมีการนำมาสร้างบ้าน รีสอร์ต และโรงแรมกันมากขึ้น คุณตั๊บ – ธนพัฒน์ บุญสนาน สถาปนิกและเจ้าของ บริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด เป็นคนรุ่นใหม่อีกคนที่ศึกษาและทำงานด้าน ไม้ไผ่ อย่างจริงจังมาหลายปี ในโอกาสนี้ได้เปิดโรงงานและแบ่งปันประสบการณ์ให้ บ้านและสวน เพื่อทำความรู้จักไม้ไผ่ การทรีตเม้นต์ และการนำไปใช้งานให้มากขึ้น เพราะหัวใจสำคัญของงานออกแบบคือ การเข้าใจธรรมชาติของวัสดุ แล้วเลือกใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของงานออกแบบที่ดี
รู้จักส่วนต่างๆ ของต้นไผ่
ไผ่เป็นพืชตระกูลหญ้า ลำต้นมีลักษณะเป็นปล้องๆ ภายในกลวง และมีหลายหลายพันธุ์มาก โดยแต่ละพันธุ์ก็มีลักษณะต่างกัน ทั้งพื้นผิว ความหนาเนื้อไม้ ความยาวของลำตัน และอายุการเติบโต มารู้จักส่วนต่างๆ ของต้นไผ่กัน
วิธีเลือกไม้ไผ่
ไม้ไผ่ที่เหมาะกับการใช้งาน คือ ไม้ไผ่ที่มีอายุแก่จัด โดยไม้ไผ่ลำใหญ่ที่ทำโครงสร้างจะใช้ได้ที่อายุ 4-7 ปี และไม้ไผ่ลำเล็กจะใช้ได้ที่อายุ 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับชนิด ถ้าไม้อ่อนเกินไปก็จะไม่แข็งแรงและมอดชอบกินเนื้อไม้อ่อน แต่ถ้าไม้แก่เกินไป เนื้อไม้จะเริ่มเหี่ยว ซึ่งไผ่แต่ละชนิดเมื่อโตเต็มที่ก็จะมีขนาดหน้าตัดต่างกันไป ในการนำไปใช้งานจึงมีการใช้ไม้ไผ่หลายชนิดผสมกันตามขนาดหน้าตัดที่ต้องการ ส่วนความยาวปล้องก็มีผลกับความแข็งแรง ถ้าปล้องสั้นและมีข้อถี่ก็จะยิ่งแข็งแรง แต่ถ้าจะนำไปผ่าหรือทำไม้สับฟากก็ควรเลือกปล้องยาวและข้อน้อยก็จะทำงานง่ายกว่า
ขั้นตอนการเตรียมไม้ไผ่สร้างอาคาร
จุดอ่อนของไม้ไผ่ คือ มักเสียหายจากการถูกมอดและแมลงกินเนื้อไม้ เนื้อไม้มีการยืดและหดตัวมาก จึงไม่ควรใช้ไม้ไผ่สดในการก่อสร้าง ควรใช้ไม้ไผ่ที่ผ่านการทรีตเม้นต์มาแล้วเท่านั้น โดยหลักการทรีตเม้นต์ คือ การทำให้สารประกอบในเนื้อไม้ที่เป็นแป้งและน้ำตาลเปลี่ยนสภาพไม่เป็นอาหารของมอดและแมลง ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- วิธีธรรมชาติแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน คือ การนำไม้ไผ่แช่ในน้ำไหลเพื่อชะล้างแป้งออก หรือการนำไปแช่ในน้ำนิ่งหรือแช่โคลนเพื่อให้แป้งบูดจนมอดไม่กิน
- ชาวเขาที่เชียงรายใช้กำมะถัน โดยการนึ่ง การต้ม หรือการเผาไฟ
- เกษตรกรบางกลุ่มที่ปลูกไผ่ใช้วิธีต้มไม้ไผ่ในน้ำส้มควันไม้ผสมเกลือ
สำหรับการทรีตเม้นต์ที่ใช้แพร่หลายทั้งในยุโรป อินโดนีเซีย และไทยในปัจจุบัน ซึ่งเหมาะกับการทำงานปริมาณมาก และได้ผลดี คือ การแช่ในสารละลายโบรอน (Boron) ซึ่งเป็นสารบอแรกซ์ (Borax) ผสมกับสารบอริค แอสิด (Boric Acid) เป็นการทรีตเม้นต์แบบเคมีที่ปลอดภัยไม่เป็นพิษกับคนและสิ่งแวดล้อม โดยมีขั้นตอนการทำดังนี้
ไม้ไผ่ในงานก่อสร้าง
ไม้ไผ่แต่ละชนิดมีลักษณะแตกต่างกัน สามารถนำมาใช้งานได้ทุกชนิด โดยเลือกให้เหมาะกับประเภทการใช้งาน สำหรับการใช้ในเชิงอุตสาหกรรมจะใช้ไผ่ที่มีการปลูกเป็นไร่สำหรับตัดขาย เพราะสามารถสั่งซื้อจำนวนมากได้ มีลำสวยงามกว่าไผ่ตามธรรมชาติ สามารถแบ่งตามการใช้งานได้ 3 ประเภท คือ ไม้ไผ่สำหรับโครงสร้าง ไม้ไผ่สำหรับงานตกแต่ง และไม้ไผ่สำหรับงานหัตถกรรม โดยเลือกใช้ตามความหนาของเนื้อไม้ เช่น ไม้ไผ่หนึ่งลำยาว 12 เมตร ส่วนโคน 6 เมตร ใช้ทำโครงสร้างได้ ส่วนปลายจะมีเนื้อบางกว่าก็นำมาทำงานตกแต่ง หรือไผ่เฮียะซึ่งมีเนื้อไม้บางก็เหมาะกับงานหัตถกรรม โดยเตรียมไม้ไผ่ให้มีความยาวมาตรฐาน 1.50 เมตร 3 เมตร และ 6 เมตร เพื่อความสะดวกในการนำไปใช้งาน และเป็นความยาวที่สามารถขนส่งด้วยรถบรรทุกได้
การรักษาเนื้อไม้
ไม้ไผ่สามารถทำการรักษาเนื้อไม้ได้ 2 วิธี คือ
- ป้องกันความชื้นเข้าเนื้อไม้ ความชื้นสามารถเข้า-ออกได้ทางหน้าตัดไม้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีผลให้ไม้มีการยืดหดตัวและเป็นต้นเหตุให้เกิดเชื้อราในปล้องได้ การปิดหน้าตัดไม้ด้วยวัสดุปิดผิวที่กันความชื้นได้ เช่น การทาวัสดุประเภทยางมะตอย เช่น ฟลินท์โค้ท หรือมีตัวอย่างที่บาหลีใช้ปูนเกราต์ฉาบหัวไม้ทุกลำซึ่งเป็นวิธีที่ดี แต่ก็ใช้เวลามากและทำให้งบประมาณสูงขึ้น
- การเคลือบผิว ผิวไม้ไผ่ส่วนมากจะมีผิวมันเงา มีการดูดซึมต่ำ จึงมักทาด้วยผลิตภัณฑ์รักษาเนื้อไม้ต่างๆ ไม่ติด หรือลอกในเวลาไม่นาน หากต้องการเคลือบลำไม้ไผ่ควรลอกผิวไม้ออกก่อน หรือใช้กับไม้ไผ่แปรรูปได้ เช่น แผ่นไม้อัดไม้ไผ่ คำแนะนำของคุณตั๊บคือ ถ้าเป็นไม้ไผ่ที่อยู่นอกชายคาโดนแดดและฝนตลอด แนะนำให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ แล้วเปลี่ยนเมื่อไม้เริ่มเสื่อมสภาพ ส่วนไม้ไผ่ที่อยู่ในชายคาสามารถเคลือบผิวด้วยพอลิยูรีเทนทั้งแบบใสและแบบด้านได้ เพื่อช่วยให้ผิวไม้มันเงาและดูใหม่เสมอ
ข้อควรพิจารณาก่อนเลือกใช้ไม้ไผ่สร้างอาคาร
ไม้ไผ่ไม่ได้เหมาะกับการสร้างบ้านหรืออาคารทุกประเภท ดังนั้นถ้าใครอยากใช้ไม้ไผ่ควรดูข้อควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ
- สำหรับเจ้าของอาคารที่จะเลือกใช้ไม้ไผ่ ควรเริ่มจากความชอบและเข้าใจธรรมชาติของวัสดุที่มีความอ่อนและแอ่นตัว มีการแตกได้ อาจเกิดเชื้อราซึ่งสามารถเช็ดออกหรือถ้าอากาศแห้งก็อาจหายไปเองได้ และต้องมีการเปลี่ยนเมื่อถึงเวลา หากยังไม่แน่ใจเรื่องเหล่านี้ควรเลือกใช้วัสดุประเภทอื่นแทน
- ในบ้านเรายังไม่มีวิศวกรที่ชำนาญเรื่องไม้ไผ่ ผู้ออกแบบจึงอาจใช้วิธีชั่งน้ำหนักไม้ไผ่ให้วิศวกร เพื่อให้สามารถคำนวณโครงสร้างได้ อีกทั้งการขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างหลักยังไม่สามารถทำได้ หากยังไม่พร้อมแนะนำให้ก่อสร้างโครงสร้างหลักด้วยคอนกรีตหรือเหล็กตามปกติ แล้วใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างรองและส่วนตกแต่งแทนจะดีกว่า
ขอขอบคุณ บริษัท ธ.ไก่ชน จำกัด โทรศัพท์ 08-4100-0233 www.thorkaichon-bamboo.com
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ธ.ไก่ชน
ภาพประกอบ: เอกรินทร์ พันธุนิล