Wood Introduction 02 : รู้จัก “วัสดุไม้แผ่น” และ “วัสดุทดแทนไม้” แต่ละชนิดก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ
ด้วยเสน่ห์ของผิวสัมผัสที่ให้ความเป็นธรรมชาติ รู้สึกอบอุ่นทุกขณะที่ได้อยู่อาศัย รวมถึงลักษณะตามธรรมชาติที่ไม่เหมือนกันเลยสักชิ้นจนราวกับเป็นงานแฮนด์เมด นี่จึงเป็นเหตุผลให้ “ไม้” ยังคงเป็นวัสดุยอดนิยมสำหรับใช้ก่อสร้างที่พักอาศัยและงานตกแต่งเสมอมา เราจึงได้รวบรวมประเภทของ “ไม้” แต่ละชนิดมาฝาก ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมได้อย่างเหมาะสม ได้เนื้อไม้ที่ถูกใจ รวมไปถึงวัสดุทดแทนไม้หลากหลายประเภทที่ได้รับการผลิตขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ ของไม้จริง
2.วัสดุไม้แผ่น (WOOD SHEET) เป็นการนำชิ้นส่วนหรือเศษไม้มาขึ้นรูปใหม่ให้เป็นแผ่นขนาดมาตรฐาน ช่วยให้นำไปใช้งานได้ง่าย แบ่งตามโครงสร้างและวิธีการขึ้นรูปดังนี้
2.1.ไฟเบอร์บอร์ด แผ่นไม้วิศวกรรมทำจากเส้นใยของไม้ เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย แล้วใช้สารเคมีช่วยประสานเนื้อไม้
-ไม้ปาร์ติเคิ้ล หรือ ชิบบอร์ด ส่วนใหญ่นำเศษไม้ยางพารามาบด ผสมกาว ก่อนนำไปอัดเป็นแผ่น ภายในแผ่นไม้จึงเห็นเป็นเศษไม้ชิ้นเล็ก-ใหญ่ผสมกัน ปิดผิวด้านนอกอีกชั้นด้วยกระดาษพิมพ์ลายไม้ แผ่นฟอยล์ และแผ่นเมลามีน หรือถ้าใครไม่ชอบแบบปิดผิวก็มีแผ่นชนิดเปลือยให้เลือกใช้เช่นกัน
-ไม้ MDF(Medium-Density Fiberboard) นำไม้ท่อนมาบดอัดด้วยเครื่องอัดพิเศษที่ใช้ความร้อนและแรงอัดกำลังสูง โดยมีกาวเป็นตัวประสาน ทำให้แผ่นไม้มีความแน่น ผิวเรียบเนียน มีความหนาให้เลือกตั้งแต่ 3-25 มิลลิเมตร
-ไม้ HDF (High-Density Fiberboard) หรือ ฮาร์ดบอร์ด ลักษณะคล้ายไม้ MDF แต่มีความแข็งแรงกว่า เพราะใช้แรงอัดที่สูงกว่า และไม่จำเป็นต้องมีวัสดุช่วยประสาน แต่ใช้การใส่เรซินเติมเข้าไปแทน
2.2.ไม้อัด OSB นำเศษไม้มาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนอัดให้เป็นแผ่น แล้วนำมาเรียงให้เป็นลวดลายสลับกันไปมาอย่างน้อย 3 ชั้น โดยแต่ละชั้นจะวางเสี้ยนขวางตั้งฉากกัน แล้วนำไปอัดด้วยกาวเรซิน และน้ำยากันปลวกเพื่อช่วยให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น
2.3.ไม้อัด (Plywood) คือการนำท่อนไม้มาปอกเปลือกเป็นแผ่นบาง ๆ แล้วอัดเป็นชั้น ๆ จนแน่นอย่างน้อย 3 ชั้น หรือซ้อนกันเป็นจำนวนเลขคี่เสมอ จากนั้นใช้กาวช่วยประสาน แล้วอัดด้วยความร้อนและความดันกำลังสูง สามารถปิดผิวด้วยวัสดุได้หลากหลายตามประเภทการใช้งาน เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานภายใน ภายนอก และแบบชั่วคราว
2.4.ไม้ประสาน คือการนำไม้จริงท่อนเล็ก ๆ เช่น ไม้ยางพารา ไม้สัก ไม้โอ๊ก และไม้วอลนัท มาเรียงประสานต่อกันด้วยกาวตามแนวเสี้ยนไม้จนได้แผ่นไม้ขนาดมาตรฐาน มีลวดลายให้เลือก 2 แบบ คือ รอยต่อแบบฟันปลา และรอยต่อแบบเรียบตรง
3.วัสดุทดแทนไม้ คือการใช้วัสดุอื่น ๆ ที่ทำเสมือนไม้จริง โดยมีทั้งแบบที่ไม่มีส่วนผสมของไม้เลย และแบบที่มีส่วนผสมของไม้อยู่บ้างมาผลิต จนได้ผิวสัมผัส สีสัน และลักษณะรูปร่างที่ใกล้เคียงกับไม้จริง นอกจากจะมีราคาถูกกว่าแล้ว ยังช่วยแก้ปัญหาบางประการที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของไม้ เช่น ความชื้น ความร้อน การบิดงอ ปลวกและแมลงต่าง ๆ ได้อย่างดี
3.1.กระเบื้องพิมพ์ลายไม้ (Tile) หรือกระเบื้องปูพื้นและผนังที่มีการพิมพ์ลายไม้ลงไปบนพื้นผิว ด้วยเทคนิคการพิมพ์สมัยใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์ลวดลายให้มีมิติสวยงามสมจริง มีหลายขนาดให้เลือกนำไปใช้เพื่อสร้างแพตเทิร์นได้หลากหลายรูปแบบ ทนทานความชื้น จึงนำไปใช้ตกแต่งห้องน้ำเพื่อสร้างบรรยากาศอบอุ่นใกล้ชิดกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
3.2.กระเบื้องยาง (Vinyl) คือฐานแผ่นพลาสติกแล้วนำลายไม้มาประกบอัดด้านบนอีกที มีทั้งแบบผิวเรียบและนูนเลียนแบบไม้จริง ติดตั้งง่าย สะดวก รวดเร็ว สามารถเปลี่ยนหรือซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง และด้วยขนาดของแผ่นที่บางจึงสามารถปูทับพื้นคอนกรีต พื้นหินขัด และพื้นไม้เก่าได้ทันที โดยไม่ต้องปรับแต่งพื้นที่ใด ๆ
3.3.ไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber Cement Wood) หรือ ไม้เทียม คือการนำปูน ทราย และผงไม้มาผสมเข้าด้วยกัน แล้วนำไปผ่านกระบวนการอัดขึ้นรูปตามขนาดไม้จริงในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นไม้พื้น ไม้ระแนง ไม้เชิงชาย และไม้ระแนง สามารถตัดแต่งและเจาะรูได้เหมือนไม้จริง มีคุณสมบัติกันปลวก กันความชื้น และไม่บิดตัว
3.4.WPC (Wood Plastic Composite) วัสดุที่มีส่วนผสมระหว่างไม้กับโพลิเมอร์ก่อนนำไปอัดขึ้นรูปตามขนาดไม้จริง สามารถตัด เลื่อย และตอกตะปูได้ แต่รูปลักษณ์อาจดูเหมือนพลาสติกมากกว่าไม้ มีให้เลือกทั้งแบบภายในกลวงและแบบทึบตันทั้งชิ้น
3.5.ไม้ลามิเนต (Laminate) คือการนำกระดาษพิมพ์ลายไม้ลายต่าง ๆ ที่มีความบางมากมาปิดผิวลงไปบนวัสดุทดแทนต่าง ๆจำพวกวัสดุไม้แผ่น อย่างไม้ MDF หรือไม้ปาติเคิ้ล แล้วนำไปบีบอัดติดกันเป็นชั้น ๆ มากกว่า 2 ชั้น มีความหนาให้เลือกหลายขนาดตั้งแต่ 8-12 มิลลิเมตร
3.6.ไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineer Wood) ลักษณะคล้ายกับไม้ลามิเนต แต่มีความแข็งแรงคงทนกว่า เพราะไม้ปิดผิวด้านบนเป็นการใช้ไม้จริงที่ฝานมาจากซุงแล้วบีบอัดเข้ากับไม้จริงชนิดอื่น เช่น ไม้ยูคาลิปตัส ที่ซ้อนสลับกันไปมา จนทำให้มีความแข็งแรง ได้ผิวสัมผัสแบบไม้จริงที่มีทั้งความสวยงามและคงทน
3.7.วอลล์เปเปอร์ลายไม้ (Wallpaper) วัสดุตัวช่วยที่ง่ายที่สุดหากคุณต้องการเปลี่ยนบรรยากาศให้ที่พักอาศัย ปัจจุบันมีวอลล์เปเปอร์ลายไม้ให้เลือกหลากหลายรูปแบบ นอกจากจะมีสีสันและลวดลายเสมือนจริงแล้ว เทคนิคการพิมพ์แบบสามมิติยังทำให้วอลล์เปเปอร์มีพื้นผิวดูใกล้เคียงกับไม้ธรรมชาติยิ่งขึ้นด้วย
อ่านต่อ : Wood Introduction 01 : รู้จัก “ไม้แปรรูป” แต่ละชนิดก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ
เรื่อง foryeah!
ภาพ นันทิยา บุษบงค์