กระเจี๊ยบเขียว
กระเจี๊ยบเขียว ถือเป็นพืชวงศ์เดียวกับพวกชบา ปอกระเจา และโกโก้ มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก แต่บ้างก็ว่ามาจากแถบเอเชียใต้ พบปลูกทั่วไปในภูมิภาคแถบร้อนชื้นไปจนถึงเขตอากาศอบอุ่นอย่างแถบเมดิเตอร์เรเนียน
กระเจี๊ยบเขียว ในบ้านเราปลูกกันเป็นเรื่องเป็นราวแถบภาคกลาง ส่งออกไปญี่ปุ่น สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว โดยานิยมนำฝักกระเจี๊ยบเขียวไปลวก ต้ม แล้วราดกะทิสด รับประทานคู่กับน้ำพริก รสชาติอร่อยไม่แพ้ใคร
กระเจี๊ยบเขียว /กระเจี๊ยบมอญ/มะเขือทะวาย/มะเขือพม่า/มะเขือมอญ/มะเขือละโว้/Lady’s Finger/Okra
ชื่อวิทยาศาสตร์: Abelmoschus esculentus (L.) Moench
วงศ์: Malvaceae
ประเภท: ไม้พุ่ม อายุสั้น
ลำต้น: พุ่มสูง 0.80-2 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสีม่วงแดง
ใบ: รูปหยักเว้า 3-7 พู ขอบหยักซี่ฟัน มีขนสากมือ
ดอก: ดอกออกตามซอกใบ ก้านดอกสั้น ดอกสีเหลืองมี 5 กลีบ โคนดอกสีม่วงแดง
ผล: ผลเป็นฝักรูปกระบอก ปลายแหลม มี 5-9 เหลี่ยม หลังปลูกอายุ 45 วัน ฝักอ่อนมีขนาดโตเต็มที่ ยาว 8-9 เซนติเมตร ทยอยเก็บเกี่ยววันเว้นวัน
เมล็ด: รูปถั่วเขียว
อัตราการเจริญเติบโต: เร็ว
ดิน: ชอบดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี
แสงแดด: แสงแดดเต็มวัน
น้ำ: ปานกลาง ไม่ทนน้ำขัง
การขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด
การใช้งานและอื่นๆ: ปลูกเป็นผักสวนครัวลงแปลง ฝักอ่อนนำมาลวกหรือย่างไฟให้หอมเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือใส่ในแกงส้มหรือแกงเลียง แต่อาจไม่ถูกปากของหลายคนเพราะเมือกลื่นๆ ในฝัก ที่มีสารกัมและเพกตินช่วยเคลือบกระเพาะ ลดการระคายเคือง ช่วยป้องกันหลอดเลือดตีบตัน รักษาระดับความดันโลหิตให้ปกติ และช่วยขับพยาธิได้ หลังเก็บเกี่ยวหมดแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้เหลือแต่ตอจะแตกกิ่งใหม่ได้
ติดตามหนังสือใหม่ได้ทาง : สำนักพิมพ์บ้านและสวน