กร่าง
กร่าง เป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ เหมาะปลูกในพื้นที่กว้าง เช่น สวนสาธารณะ ลานจอดรถ ควรปลูกห่างจากสิ่งก่อสร้างมากกว่า 10 เมตร เพื่อป้องกันรากดันโครงสร้าง ทรงพุ่มให้ร่มเงาได้ดี ทนแล้ง ปัจจุบันมีพันธุ์ใบด่าง ที่ปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับในกระถางหรือปลูกลงแปลงสวนได้
กร่าง / ไทรทอง / ลุง / ฮ่างขาว / ฮ่างหลวง /ฮ่างเฮือก / ไฮคำ
ชื่อวิทยาศาสตร์: Ficus altissima Blume
วงศ์ : Moraceae
ประเภท : ไม้ต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ สูง 10-20 เมตร เรือนยอดทรงกลมแน่นทึบ
ลำต้น : เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา โคนต้นเป็นพูพอน ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว และรากอากาศจำนวนมาก
ใบ : ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ ใบรูปรีถึงรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนเป็นติ่งแหลมสั้น โคนใบมน แผ่นใบหนา สีเขียวเข้ม เส้นใบย่อยที่โคนใบออกจากรอยต่อก้านใบ ก้านใบยาวประมาณ 3 เซนติเมตร
ดอก : ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น อยู่บนฐานรองดอกที่ขยายตัวเป็นทรงกลม มีดอกย่อยจำนวนมากอยู่ภายใน เป็นดอกแยกเพศ ออกช่วงฤดูหนาวเข้าฤดูร้อน และติดผลช่วงฤดูร้อน
ผล : แบบมะเดื่อ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 เซนติเมตร เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ซึ่งส่วนที่เป็นเนื้อผล คือฐานรองดอก
อัตราการเจริญเติบโต : โตเร็ว
ดิน : ดินร่วน
แสงแดด : ตลอดวัน
น้ำ : ปานกลาง
การขยายพันธุ์ : ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง
การใช้งานและอื่น ๆ : เหมาะปลูกในพื้นที่กว้าง ระยะปลูก 8-10 เมตร เช่น สวนสาธารณะ ลานจอดรถ ควรปลูกห่างจากสิ่งก่อสร้างมากกว่า 10 เมตร เพื่อป้องกันรากดันโครงสร้าง ทรงพุ่มให้ร่มเงาได้ดี ทนแล้ง มักมีนก กระรอกมาอยู่อาศัยเพื่อกินผลสุกเป็นอาหาร
เกร็ดน่ารู้ : ถิ่นกำเนิดในอินเดีย ทางตอนใต้ของจีน ประเทศแถบอินโดจีน มาเลเซีย ในไทยพบทั่วทุกภาค ปัจจุบันมีพันธุ์ใบด่าง ที่ปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับในกระถางหรือปลูกลงแปลงสวนได้ มีอีกต้นที่มีลักษณะคล้ายกับกร่างคือ Ficus benghalensis ที่ในตลาดต้นไม้เรียกว่า “ไทรใบขนุน” หรือมีอีกชื่อว่า “นิโครธ” ซึ่งมีใบป้อม หนากว่า ใต้ใบมีขนนุ่ม และผลสุกสีแดง ด้านสมุนไพร รากเหนียว ใช้ทำเชือกได้ เปลือกชั้นในใช้ทำกระดาษ ต้นใช้เลี้ยงครั่ง
ติดตามหนังสือใหม่ได้ทาง : สำนักพิมพ์บ้านและสวน