มะม่วงหิมพานต์
มะม่วงลังกา มะม่วงเล็ดล่อ มะม่วงสิงหล Acajou, Cashew, Maranon
ชื่อวิทยาศาสตร์: Anacardium occidentale L.
วงศ์: Anacardiaceae
ประเภท: ไม้ต้น
ความสูง: สูงได้ถึง 12 เมตร
ลำต้น: มีกิ่งก้านเป็นพุ่มแผ่โดยรอบ เปลือกต้นสีน้ำตาล ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีเหลืองและเหนียว
ใบ: เดี่ยว รูปไข่กลับ ออกเวียนสลับปลายใบมน โคนใบสอบ ยอดใบอ่อนสีแดงเรื่อ แผ่นใบหนาเป็นมันเห็นเส้นใบชัดเจน
ดอก: ช่อดอกออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว เมื่อบานเปลี่ยนเป็นสีชมพู ส่วนของฐานรองดอกเจริญเป็นผล
ผล: คล้ายชมพู่ เมื่อสุกสีเหลืองหรือสีแดงเรื่อ เรียกว่าผลปลอม ชาวใต้เรียกว่า เต้า ส่วนล่างมีเมล็ดรูปไตห้อยอยู่ เป็นผลที่เกิดจากการผสมเกสรคือส่วนของเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่กินกันทั่วไป
อัตราการเจริญเติบโต: ช้า
ดิน: ดินร่วน ระบายน้ำดี ทนดินเค็ม
น้ำ: น้อย ทนแล้ง
แสงแดด: เต็มวัน
ขยายพันธุ์: เพาะเมล็ด
การใช้งานและอื่นๆ: ปลูกประดับเพื่อให้ร่มเงา แต่ในฤดูติดผล เมื่อผลร่วงลงพื้นจะเน่าและส่งกลิ่นเหม็น ต้องคอยเก็บทิ้ง ♦ ยอดอ่อนกินเป็นผักสดกับขนมจีนน้ำยา แกงเผ็ด น้ำพริก หรืออาหารรสจัดต่าง ๆ หรือใส่แกงเลียง ♦ ยอดอ่อนรสฝาด มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ช่วยสมานแผลในลำไส้ แก้ท้องร่วง ♦ ใบแก่บดใส่แผลไฟไหม้ ส่วนใบสดนำมาเผาไฟ สูดดมควันเพื่อรักษาอาการไอ เจ็บคอ ♦ ผลสุกสีแดงกินเป็นผลไม้จิ้มกับเกลือมีรสเปรี้ยวอมหวาน ♦ การเก็บผลและเมล็ดมะม่วงหิมพานต์จากต้นมาบริโภค ควรระวังอย่าให้ยางโดนผิวหนัง เพราะจะกัดผิวจนเป็นแผลได้