ด้วงเต่าตัวห้ำ (Lady Beetle) เจอในแปลงผัก ต้องเก็บไว้!! - บ้านและสวน

ด้วงเต่าตัวห้ำ (Lady Beetle) เจอในแปลงผัก ต้องเก็บไว้!!

ด้วงเต่าตัวห้ำ (Lady Beetle) แมลงตัวห้ำ ที่หากเจอในแปลงผัก ต้องเก็บไว้!! ด้วงเต่าตัวห้ำมีหลายชนิด ลักษณะและสีสันแตกต่างกันไป ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถทำลายแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรศัตรูพืช รวมทั้งไข่ของแมลงศัตรูพืช มาทำความรู้จักด้วงเต่าตัวห้ำกัน

สำหรับคนปลูกผัก ตั้งแต่มือใหม่ที่เริ่มต้นด้วยการปลูกกินเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสวนครัว ไปจนถึงเกษตรกรมืออาชีพ ไม่ว่าจะปลูกแบบกลางแจ้ง ปลูกในโรงเรือนที่มีการป้องกันเป็นอย่างดี ปลูกลงดินหรือไร้ดินรูปแบบต่าง ๆ มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในกระบวนการปลูกหรือไม่ก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ ศัตรูพืช โดยเฉพาะโรคและแมลงศัตรูต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายแก่พืชได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ทั้งส่วนที่อยู่ใต้ดินและบนดิน ยิ่งถ้าหากไม่สามารถควบคุมศัตรูพืชได้ดีพอ ยิ่งทำให้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชอย่างมีประสิทธิภาพจึงสำคัญอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นแมลง สัตว์ โรคพืช หรือวัชพืช ล้วนมีศัตรูในธรรมชาติของตัวเอง เราเรียกตัวกระทำการควบคุมโดยชีววิธีเหล่านี้ว่า ศัตรูธรรมชาติ โดยแมลงที่นับเป็นศัตรูธรรมชาติและถูกนำมาใช้ควบคุมศัตรูพืชมีอยู่ 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ แมลงตัวห้ำ (Predatory Insects) และแมลงตัวเบียน (Parasitic Insects)

แมลงตัวห้ำ ส่วนใหญ่อยู่ในอันดับของแมลงกลุ่มด้วง (Coleoptera) ได้แก่ ด้วงเต่าตัวห้ำในวงศ์ Coccinellidae ด้วงในวงศ์ Carabidae เช่น ด้วงดิน (Ground Beetle) และด้วงเสือ (Tiger Beetle) ในบทความนี้แนะนำให้รู้จัก ด้วงเต่าตัวห้ำ (Lady Beetle) ซึ่งพบได้บ่อยครั้งในแปลงปลูกผักทั่วไป

ด้วงเต่าตัวห้ำ (Lady Beetle) มีหลายชนิด ลักษณะและสีสันแตกต่างกันไป ได้แก่

ด้วงเต่าลายสมอ (Coccinella repanda)

ด้วงเต่าลายหยัก (Menochilus sexmaculatus)

ด้วงเต่าลายจุด (Harmonia octomaculata)

ด้วงเต่าสีส้ม (Micraspis discolor)

ด้วงเต่าตัวห้ำเหล่านี้ ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถทำลายแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย ไรศัตรูพืช รวมทั้งไข่ของแมลงศัตรูพืชอีกหลายชนิด

นอกจากนี้ยังมี ด้วงเต่าแคระ ที่มีขนาดตัวเล็กกว่าหัวเข็มหมุด วิ่งได้เร็ว ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินแมลงกลุ่มเพลี้ยและไร

 

Did You Know?

  • ด้วงเต่าตัวห้ำระยะตัวอ่อนจะกัดเหยื่อให้เป็นรูแล้วดูดกินของเหลวภายในตัวเหยื่อ จากนั้นจึงกินซากที่เหลือ ส่วนตัวเต็มวัยทำลายเหยื่อโดยกัดกินทุกส่วนของเหยื่อ ยกเว้นส่วนที่แข็ง
  • กรณีนำด้วงเต่าตัวห้ำมาปล่อยในแปลงผัก แนะนำให้ปล่อยด้วงเต่าตัวห้ำติดต่อกัน 2 ครั้ง คือ ในช่วงต้นฝนและปลายฝน หรือทยอยปล่อยตามจำนวนที่พอหาได้ เพื่อให้ด้วงเต่าที่ปล่อยแพร่พันธุ์และพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้ในสภาพแวดล้อมใหม่

อ่านเพิ่มเติมได้ใน หนังสือ รู้ทันโรคและแมลงศัตรูพืชผัก

สั่งซื้อหนังสือได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :

12 แมลงศัตรูพืช จอมป่วนในแปลงผัก

10 แมลงศัตรูธรรมชาติ มีประโยชน์ในแปลงผัก

สมุนไพรไล่แมลง ทำใช้เอง แบบง่าย ๆ เห็นผลจริง