ไอเดีย รูปแบบค้าง สำหรับการปลูกผักเลื้อย - บ้านและสวน

ไอเดีย รูปแบบค้าง สำหรับการปลูกผักเลื้อย

การปลูกผักเลื้อย เช่น มะเขือเทศ แตงกวา บวบ ฟักทองบัตเตอร์นัท มะระ เมลอน แตงโม และถั่วบางชนิด จำเป็นต้องมี ค้าง หรือ ซุ้ม เพื่อให้สามารถจัดระเบียบลำต้นและกิ่งก้านได้เข้าที่เข้าทาง มองดูสวยงาม ดูแลง่าย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก มาดู ไอเดีย รูปแบบค้าง สำหรับการปลูกผักเลื้อย ที่นิยมใช้กัน

  

พืชผักหลายชนิดที่มีการเจริญเติบโตแบบเถาเลื้อย ออกดอกและติดผลบริเวณซอกใบหรือข้อของลำต้น นิยมปลูกโดยใช้ค้างหรือหลัก เนื่องจากมีข้อดีคือช่วยพยุงลำต้นให้เจริญเติบโตได้ดี ผลผลิตมีคุณภาพ รูปทรงสวยงาม มีผลสม่ำเสมอและสะอาด เพราะไม่ได้สัมผัสกับดินโดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ สามารถดูแลแปลงปลูกได้สะดวกทั่วถึง และช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่าย ทั้งยังใช้พื้นที่น้อย แต่ได้ผลผลิตมากกว่าการปลูกแบบปกติด้วย

โครงค้างที่ดีต้องแข็งแรง ทนทาน และสามารถรับน้ำหนักของต้นพืชที่ปลูกได้ วัสดุที่ใช้มีหลากหลาย เช่น ไม้ ไม้ไผ่ ท่อพีวีซี เหล็ก เสาปูน เป็นต้น โดยมีเส้นเชือก เอ็น หรือไนลอนขึงตามแนวขวางกับโครงค้างสานเป็นตาข่าย หรือขึงโยงกับพืชแต่ละต้นในแนวดิ่ง เพื่อรองรับกิ่งก้านและผลผลิต โดยความถี่ของเส้นเชือกที่ใช้ขึ้นอยู่กับจำนวนกิ่งที่ต้องการเก็บไว้

 

รูปแบบค้างที่นิยมใช้ปลูกผัก   

  • ค้างแบบเสารั้ว

    ทำง่าย ประหยัดพื้นที่ ปรับใช้ใกล้กับแนวกำแพงหรือผนังได้ สามารถเลือกขึงแนวเส้นเชือกได้ตามชนิดของพืชผัก เหมาะกับพืชผักอายุสั้นที่มีเถาเล็กและน้ำหนักเบา เช่น มะเขือเทศ มะระ แตงกวา

  • ค้างแบบกระโจม

    คล้ายกับแบบเสารั้ว แต่มีการเพิ่มเสาเพื่อเสริมความแข็งแรงให้โครงค้าง นิยมใช้กับถั่วฝักยาว พืชผักตระกูลแตง

  • ค้างเพิงหมาแหงน

    แข็งแรง รองรับน้ำหนักได้พอสมควร เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก สามารถปรับเปลี่ยนองศาของแผงค้างได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ นิยมใช้กับการปลูกบวบ มะระ ฟักเขียว เป็นต้น

  • ค้างสี่เหลี่ยม

    โครงค้างสมดุล ไม่ล้มง่าย สามารถเข้าไปปฏิบัติงานและเก็บผลผลิตได้สะดวก ค้างรูปแบบนี้ใช้กับพืชผักได้เกือบทุกชนิด

  • ค้างตารางหมากฮอส

    คล้ายค้างแบบสี่เหลี่ยม โครงค้างแข็งแรง ทนทาน เหมาะกับพืชผักที่มีเถาขนาดใหญ่และผลมีน้ำหนักมาก เช่น ฟักทอง ฟักเขียว

  • ค้างแบบซุ้ม หรือค้างตัว U

    สามารถทำเป็นอุงโมงค์ครอบเหนือทางเดินได้ ทั้งให้ร่มเงา ประหยัดพื้นที่ และเก็บผลผลิตง่าย แต่ถ้าตัวซุ้มมีความสูงมากอาจทำให้ตัดแต่งกิ่งค่อนข้างยาก ใช้กับพืชผักได้เกือบทุกชนิด

  • ค้างรูปตัว A

    ใช้พื้นที่ได้ทั้งสองข้างของค้าง นิยมใช้กับการปลูกแตงกวา แตงร้าน เนื่องจากสามารถตัดแต่งกิ่งและเก็บผลผลิตได้สะดวก

  • ค้างรูปตัว H และ ค้างรูปตัว T

    เป็นรูปแบบค้างที่นิยมใช้กับการปลูกไม้ผล เช่น องุ่น แก้วมังกร เสาวรส สามารถใช้กับการปลูกพืชผักได้เช่นกัน

 

การจะเลือกใช้ค้างรูปแบบใดขึ้นอยู่กับความสะดวกในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ งบประมาณ การปฏิบัติงานของผู้ใช้ ลักษณะพื้นที่ ชนิดของพืชผัก และจุดประสงค์ในการใช้งาน ซึ่งอาจใช้เพื่อเก็บผลผลิตเพียงอย่างเดียว หรือเพื่อความสวยงามด้วย โดยสามารถออกแบบการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบผสมผสานกัน

 

ศิลปกรรม : กฤติยา เรือนจันทึก
ภาพประกอบ : กัญญณัฐ ศิริมัย

บทความที่เกี่ยวข้อง :
9 พืชเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
เทคนิคปลูกราสป์เบอร์รี่ (Raspberry) ให้ติดดอกออกผล
จัดสวนสวย ด้วยซุ้มต้นไม้

ติดตามหนังสือใหม่ๆ ได้ทาง : สำนักพิมพ์บ้านและสวน