Villa is Anywhere วิลล่าในฝัน ของผู้ชนะทั้ง 3 รางวัลจาก VC Fabric Young Designer Contest
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย นิยามของบ้านยังคงเป็นสถานที่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย เพื่อการพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ ยิ่งกระแสการออกไปท่องเที่ยว มองเห็นโลกกว้างที่กำลังมาแรงในยุคนี้ สถานที่ท่องเที่ยวถูกยกขึ้นเป็นภาพฝันในการออกแบบบ้านของหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศที่รายล้อม หรือการดึงเอาองค์ประกอบบางอย่างของสถานที่ท่องเที่ยวมาเป็นการตกแต่งภายในบ้าน เพื่อหลีกหนีจากความเคร่งเครียดด้านนอก สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย และเติมแรงบันดาลใจ
VC Fabric Young Designer Contest โครงการเฟ้นหานักออกแบบหน้าใหม่ที่จะถ่ายทอดจินตนาการของงานออกแบบอย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งจัดต่อเนื่องคราวนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว จึงชวนน้องๆ นิสิตนักศึกษามาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการออกแบบภายในภายใต้แนวความคิด “Villa is anywhere เพราะทุกๆ ที่คือวิลล่า” เพราะเล็งเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ภูเขา ทะเล หิมะ และสถาปัตยกรรมเลื่องชื่อทั่วโลก ล้วนแล้วแต่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างบรรยากาศพักผ่อน ซึ่งผสานเข้ากับไลฟ์สไตล์ และสร้างความสุขให้กับทุกคน ทั้งผู้ออกแบบและผู้อยู่อาศัย
หลังจากผ่านการแคมปัสทัวร์ตามมหาวิทยาลัย 9 แห่ง และเปิดให้น้องๆ ร่วมส่งผลงานตั้งแต่ 31 สค.-16 ตค. ที่ผ่านมา วันนี้ เราได้ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ซึ่งรับรางวัลเป็นทุนการศึกษา 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และงบตกแต่งห้องเรียนจำนวน 50,000 บาท ได้แก่ น้องพิมพ์ชนก ณ พัทลุง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน HIMAVANA ซึ่งได้ไอเดียการออกแบบจากการพักผ่อนท่ามกลางป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์และสวรรค์ จึงออกแบบวิลล่าโดยการใช้ความเรืองรองจากวัสดุที่สะท้อนแสง คู่ไปกับการใช้งานตกแต่งด้วยผ้าสีเหลือบร่วมกับผ้าโปร่งเพื่อสร้างมิติของความแวววาว ร่วมกับเฟอร์นิเจอร์ซึ่งใช้ผ้าบุผิวสัมผัสมันเงาช่วยขับให้สเปซโดดเด่นขึ้น
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของน้องวริศ อาชวุฒิกุลวงศ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน SPace Between Us จากความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ของมนุษย์และธรรมชาติให้สามารถอยู่กันได้อย่างสมดุล โดยการใช้ผ้าม่านโปร่งแสงเป็นจุดเชื่อมต่อของพื้นที่กับธรรมชาติ และการใช้ผ้าม่านสำหรับแบ่งฟังก์ชั่นของพื้นที่ ทำให้โดยรวมพื้นที่ดูนุ่มนวลน่าอยู่ และรองชนะเลิศอันดับ 2 เป็นของน้องณิชกมล ฟักเพ็ชร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กับผลงาน การพักผ่อนกับธรรมชาติ แรงบันดาลใจจากบริบทของวัฒนธรรมชาวเกาะบนเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ด้วยการผสานวัสดุพื้นถิ่นเข้ากับผ้าบุเฟอร์นิเจอร์สำหรับงานเอ๊าต์ดอร์ ซึ่งทนทานต่อแสงแดด ไปพร้อมกับการใช้ผ้าม่านแบบกันรังสียูวี ลดความร้อนและถนอมวัสดุธรรมชาติที่ใช้ในห้อง
ด้านทรรศนะของกรรมการผู้ตัดสินทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ คุณพริมา สกุลคู เจ้าของบริษัท ออกัส ดีไซน์, คุณโสภิต สุจริตกุล เจ้าของบริษัทครีเอทเกรท ดีไซน์ จำกัด และคุณดำรง ลี้ไวโรจน์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร room ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจในการประกวดครั้งนี้ว่า ผลงานทั้ง 5 ชิ้นที่เข้ารอบสุดท้าย เป็นชิ้นที่มีความโดดเด่นจากจำนวนกว่า 300 ชิ้นที่ส่งเข้ามา เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในการออกแบบ คือทำอย่างไรให้ผลงานของเราโดดเด่นเข้าตากรรมการ แน่นอนว่าต้องนำเสนอให้ตรงกับโจทย์ และใช้ความรู้ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ แต่ต้องไม่ลืมความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำให้งานของเราแตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝน เพื่อสร้างประสบการณ์และแรงบันดาลใจ รวมทั้งการร่วมประกวดแบบยังเป็นผลงานชั้นยอดสำหรับต่อยอดในอนาคต