กระถางเซรามิกใบนี้เพื่อ “พ่อ” เถ้าฮงไถ่ …น้อมรำลึกชั่วนิรันดร์
ชั่วโมงนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ เถ้าฮงไถ่ ”โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่อยู่คู่กับจังหวัดราชบุรีมานานกว่าแปดสิบปี ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจงานเครื่องปั้นดินเผาได้เข้ามาฝึกงาน รวมทั้งเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต้องแวะมาชมและถ่ายรูปจนกลายเป็นแลนด์มาร์กอีกแห่งหนึ่งของจังหวัด
ปัจจุบัน เถ้าฮงไถ่ บริหารงานโดยทายาทรุ่นที่สาม คุณวศินบุรี สุภานิชวรภาชน์ หรือ “พี่ติ้ว” ของพวกเราชาว “บ้านและสวน” จากกิจการที่เคยผลิตแต่โอ่งมังกรจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ พี่ติ้วยังคงพัฒนาเทคนิคและวิธีการผลิตเพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ โดยเน้นตั้งแต่เรื่องงานออกแบบไปจนถึงการเลือกใช้สีที่มีความหลากหลายมากกว่าหกร้อยสี จึงได้รับความไว้วางใจให้ผลิตผลงานเพื่อใช้ในงานสำคัญระดับประเทศ อาทิ การทำกระถางเซรามิกในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และล่าสุดกรมศิลปากรได้มอบหมายให้เถ้าฮงไถ่เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการออกแบบและผลิตกระถางเซรามิกที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
“เมื่อทราบว่าจะได้ทำงานนี้ถือเป็นโอกาสที่จะต้องทำให้ดีที่สุด ทางกรมศิลปากรได้กำหนดขนาดของกระถางมาให้ทางเราเป็นผู้ออกแบบลวดลายเมื่อส่งไปให้ทางการพิจารณาแล้ว จึงจะนำมาสร้างจริงต่อไป” พี่ติ้วเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจ
กระถางเซรามิกที่ใช้ประดับในงานพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้มีทั้งหมด 8 รูปแบบ ได้แก่
- กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดเล็ก (ทรงตรง) ประดับสัญลักษณ์เลข๙
- กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดกลาง (80 เซนติเมตร) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙
- กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดกลางติดลายนูน
- กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดใหญ่ (100 เซนติเมตร) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙
- กระถางเก้าเหลี่ยมลายคราม
- กระถางทรงกลมตามแบบกระถางในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
- กระถางหูสิงห์ประดับตราพระปรมาภิไธยย่อภ.ป.ร – ตราจักรี
- กระถางเขามอซึ่งมีส่วนประกอบเพิ่มเติมคือกี๋หรือฐานรอง
แม้การออกแบบรูปทรงของกระถางจีนโบราณจะเน้นเลขคู่ อาทิ ทรงหกเหลี่ยม หรือทรงแปดเหลี่ยม แต่สำหรับการออกแบบกระถางในครั้งนี้มีความพิเศษที่ออกแบบเป็นรูปทรงเก้าเหลี่ยม เพื่อน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พี่ติ้วเล่าว่ากระถางที่ตั้งใจผลิตนี้จะมีลักษณะคล้ายเหรียญห้าบาทเก้าเหลี่ยมในสมัยก่อน ซึ่งมีขั้นตอนการทำค่อนข้างยากและยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ส่วนลวดลายที่ปรากฏบนกระถางก็แฝงด้วยความหมายอันลึกซึ้ง ยกตัวอย่างเช่น “ดอกดาวเรือง” สีเหลืองของดอกจะตรงกับสีวันพระราชสมภพ ดอกไม้ชนิดนี้ยังสื่อถึงความเป็นนิรันดร์ เพื่อบอกเล่าถึงความรักอันไม่มีที่สิ้นสุดที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ และความรักที่ปวงชนชาวไทยมีต่อพระมหากษัติย์ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจและดอกดาวเรืองที่มีจำนวน 90 กลีบ สื่อถึงความรักอันเป็นนิรันดร์ที่ส่งต่อจากรัชกาลที่ 9 ไปยังรัชกาลที่ 10 นอกจากนี้ยังมีลายรูปคลื่น ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่องพระมหาชนก บทพระราชนิพนธ์ที่มีคติสอนใจในเรื่องความเพียร พี่ติ้วยังเล่าอีกว่าได้ร้อยเรียงภูมิปัญญาของชาวราชบุรี ลงไปบนผลงานในครั้งนี้ด้วยโดยนำลายมะลิเลื้อยจากผ้าจกตระกูลคูบัว ซึ่งเป็นผ้าพื้นถิ่นของราชบุรีมาประดับบนฐานของกี๋อีกด้วย
ถือเป็นความโชคดีของทีมงานบ้านและสวนที่มีโอกาสได้เห็นขั้นตอนการทำงานบางส่วน โดยผลงานที่เราเห็นเป็นชิ้นงานชุดสุดท้ายที่ทีมช่างบรรจงเก็บรายละเอียดอย่างสุดฝีมือ และพร้อมจะส่งมอบผลงานทั้งหมดในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ แม้จะเป็นการทำงานที่ค่อนข้างยาก แต่รายละเอียดของลวดลายอันอ่อนช้อยและความสวยงามของกระถางทุกใบ ก็สำเร็จลงได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของทีมงานเถ้าฮงไถ่ และน้องๆจิตอาสาที่เป็นลูกศิษย์ของพี่ติ้วก็ผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยงาน ซึ่งทุกคนตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะถวายงานแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย
ในโอกาสนี้เราได้เก็บภาพกระถางสวยๆมาฝากคุณผู้อ่านด้วย ขอเชิญชมกันได้เลยครับ
ขอขอบคุณ
ห้างหุ้นส่วนจำกัดเถ้าฮงไถ่ 234/1 หมู่ 2 ถนนเจดีย์หักตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมืองฯ จังหวัดราชบุรี
โทรศัพท์ 0-3233-7574
เรื่อง: “ไตรรัตน์ ทรงเผ่า”
ภาพ : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า, โกศล ผ่ายเผย
เรื่องแนะนำ :
“ บ้านบาตร ” ชุมชนของคนทำบาตรพระ
คนทำ หัวโขน : งานศิลป์ชั้นสูงที่ทุกคนสามารถทำได้