สมุนไพรริมรั้ว…ตู้ยาธรรมชาติ
ขึ้นชื่อว่า “สมุนไพร” นั้นมีประโยชน์มากมาย นอกจากจะมีสรรพคุณทางยาแล้ว ยังสามารถปลูกประดับรั้วบ้านให้บรรยากาศแบบไทยๆ อีกทั้งช่วยสร้างความสดชื่นและร่มเงาในสวน ได้อีกด้วย
กะเพรา
ไม้ล้มลุก สูงประมาณ 30-60 เซนติเมตร โคนต้นออกแข็ง กะเพราแดงจะมีลำต้นสีแดงอมเขียว กะเพราขาวมีลำต้นสีเขียวอมขาว และยอดอ่อนมีขนสีขาว ใบเดี่ยวสีเขียวรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายใบมนหรือแหลม โคนใบแหลม ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อยและเป็นคลื่น แผ่นใบมีขนสีขาว มีดอกเป็นช่อที่ปลายยอด
กะเพราเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณทางยาช่วยรักษาโรคได้ มีรสฉุน ร้อน ช่วยขับลมแก้ซาง แก้ท้องขึ้น จุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น
กะเพรามีอยู่ 2 ชนิด คือ กะเพราแดงและกะเพราขาว โดยกะเพราแดงจะมีฤทธิ์ที่แรงกว่ากะเพราขาว ในสรรพคุณทางยาจึงนิยมใช้กะเพราแดง โดยส่วนที่นำมาใช้ทำเป็นยาสมุนไพรก็ได้แก่ ส่วนของใบ ยอดกะเพรา (ทั้งสดและแห้ง) และทั้งต้น แต่ถ้านำมาใช้ประกอบอาหารจะนิยมใช้กะเพราขาวเป็นหลัก
อ่านต่อเรื่อง ทำไม กะเพรา ถึงไม่หอมกลิ่นกะเพรา ?
กระเจี๊ยบแดง
ไม้พุ่มมีความสูงประมาณ 50-180 เซนติเมตร มีอยู่หลายสายพันธุ์ ลำต้นและกิ่งก้านมีสีม่วงแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะคล้ายรูปฝ่ามือ 3 แฉก หรือ 5 แฉก ใบเว้าลึกหรือเรียบ หรือใบเป็นรูปรีแหลม หรือรูปเรียวแหลม ขอบใบมีจักเป็นฟันเลื่อย
มีสรรพคุณทำให้สดชื่น ขับปัสสาวะ ขับน้ำดี ลดไข้ แก้ไอ แก้นิ่ว แก้กระหายน้ำ บำรุงธาตุ ตำพอกฝี ใช้น้ำต้มสีแดงฆ่าเชื้อล้างแผล ลูบไล้ใบหน้าขจัดฝ้าและริ้วรอยต่าง ๆ ลดไขมันในเลือด บำรุงเลือด บำรุงธาตุ เป็นยาระบาย และน้ำกระเจี๊ยบมีวิตามินซีสูง ช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน อีกทั้งช่วยรักษาอาการต่อมลูกหมากโตอีกด้วย
กระชาย
ต้นกระชาย จัดเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าสั้น แตกหน่อได้ มีรากอวบ เป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปทรงไข่ค่อนข้างยาว ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มักพบขึ้นในป่าดิบร้อนชื้น
กระชาย มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง และ กระชายเหลือง ที่เป็นที่นิยมสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น แกงป่า หรือผัดต่าง ๆ โดยส่วนที่นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารกันมากที่สุดคือ รากสะสมอาหาร หรือ นมกระชาย ซึ่งจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และมีคุณสมบัติในการช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์เนื้อปลาได้เป็นอย่างดี
และมีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น รักษาอาการท้องร่วง ท้องเสีย โรคริดสีดวงทวาร ช่วยบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยบำรุงหัวใจ ไล่แมลง จนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น “โสมไทย” เนื่องจากกระชายกับโสมมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น สรรพคุณในการบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
ตำลึง
ต้นตำลึงจัดเป็นไม้เลื้อย โคนใบมีลักษณะเหมือนรูปหัวใจ มีมือเกาะที่ยื่นออกมาจากที่ข้อ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกคู่ กลีบดอกมีสีขาว และดอกมีลักษณะคล้ายรูประฆัง
ประโยชน์ทางยาของตำลึงมีมากมาย ใบตำลึง ใช้แก้คัน แมลงกัดต่อย โดยเอาใบตำลึงสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด ตำละเอียดแล้วผสมน้ำเล็กน้อย คั้นเอาน้ำตำลึงข้นๆ มาทาบริเวณที่คัน ทาซ้ำบ่อยๆ อีกทั้งใช้ลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยัง ช่วยกำจัดกลิ่นตัว ด้วยการใช้ต้นตำลึง (ทั้งเถาและใบ) นำมาตำผสมกับปูนแดงแล้วทาบริเวณรักแร้ และนิยมใช้ยอดและใบกินเป็นผักสด อาจจะลวกหรือต้มจิ้มกินกับน้ำพริก และใช้ในการประกอบอาหารได้หลายอย่าง ผลอ่อนของตำลึงนำมากินกับน้ำพริก หรือจะนำมาดองกิน ส่วนผลสุกมีรสอมหวานรับประทานได้
อ่านต่อเรื่อง มาทำความรู้จักกับ ตำลึง ไม้เลื้อยมากประโยชน์กันเถอะ
ใบบัวบก
เป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ชอบที่ชื้นแฉะ แตกรากฝอยตามข้อ ไหลที่แผ่ไปจะงอกใบจากข้อ ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไต ขอบใบหยัก ก้านใบยาว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ขนาดเล็ก 2-3 ดอก ดอกสีม่วงเป็นดอกช่อคล้ายร่มออกจากข้อ
เมื่อนึกถึงใบบัวบก สรรพคุณคงหนีไม่พ้นช่วยแก้อาการช้ำใน แต่ความจริงแล้ว ใบบัวบกนั้นมีสรรพคุณมากมาย อาทิเช่น รักษาโรคลมชัก โรคผิวหนัง ท้องเสีย ท้องอืด แผลในกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์กล่อมประสาท ช่วยบำรุงสมอง เพิ่มความจำ ช่วยลดความอ่อนล้าของสมอง
นอกจากนี้ใบบัวบกเหมาะสำหรับคนที่ขี้ร้อน มีภาวะแกร่ง หรือมีความร้อนชื้น เพราะเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาเย็น