“โมเดิร์นทรอปิคัลดีไซน์” คือการออกแบบให้ถูก “กาลเทศะ” - room magazine

“โมเดิร์นทรอปิคัลดีไซน์” คือการออกแบบให้ถูก “กาลเทศะ”

“การที่แยกเมืองออกจากพื้นที่เกษตรกรรมเป็นแนวคิดที่ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไร เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญยิ่งกว่าที่อยู่อาศัยเสียอีก ทุกคนจึงควรได้ใกล้ชิดกับแหล่งที่มาของอาหาร” – กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล ในทศวรรษที่ผ่านมาความเปลี่ยนแปลงของโลกด้านต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการอยู่อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะความสะดวกสบายมาให้ แต่ความต้องการใกล้ชิดกับธรรมชาติของผู้คนกลับทวีคูณเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Spacetime Architects

แนวทางของ Spacetime Architects ภายใต้การนำของ กรรณิการ์  รัตนปรีดากุล สถาปนิกผู้ก่อตั้ง ตอบรับกับความต้องการดังกล่าวได้ดี หลาย ๆ ผลงานของสเปซไทม์ได้รับการออกแบบให้เชื่อมโยงกับบริบทธรรมชาติรอบข้างมากที่สุด ซึ่งหมายถึงการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติในเขตร้อนชื้นอย่างกลมกลืน

นอกจากนี้สเปซไทม์ยังเชื่อว่าการผสมผสานของ “สถาปัตยกรรม” และ “ธรรมชาติ” อาจเป็นจุดเริ่มของการผสมผสานพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เกษตรกรรมให้เข้ากับรูปแบบการพักอาศัยของคนเมือง มากกว่านั้นยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเป็นพื้นฐานการสร้างแหล่งอาหารหน่วยย่อยให้กับผู้คนในอนาคตได้อีกด้วย

โมเดิร์น – ทรอปิคัล / กาละ – เทศะ

“จากชื่อบริษัท SPACETIME แปลไทยได้ว่าเป็น กาละ และ เทศะ ที่นี่เราพยายามจะตอบโจทย์และออกแบบแต่ละงานให้ถูกกาลเทศะเสมอ ถ้าพูดถึง “โมเดิร์นทรอปิคัลดีไซน์” คำว่า “โมเดิร์น” ก็เปรียบเหมือนคำว่า “กาละ” ซึ่งหมายถึงความร่วมสมัยหรือยุคสมัยนี้ ส่วน “ทรอปิคัล” ก็คือ “เทศะ” รู้ว่าสถานที่ที่เราพักอาศัยอยู่นั้นมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ตราบได้ที่เราเข้าใจสภาพแวดล้อม และบริบทต่าง ๆ งานสถาปัตยกรรมที่แสดงออกมาเราถือว่าเป็นโมเดิร์นทรอปิคัล ที่ถูกกาลเทศะ”

เปิดรับธรรมชาติภายใต้ข้อจำกัด

“เราพยายามนำวัสดุจริงในธรรมชาติมาใช้ในการออกแบบก่อสร้าง เพราะไม่ต้องใช้พลังงานในการแปรรูปเยอะ และเข้ากับธรรมชาติมากที่สุด แต่การใช้ไม้เทียมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ค่อนข้างยาก เพราะลูกค้าที่ต้องการจะสร้างบ้านไม่มีศักยภาพในการดูแลรักษาระยะยาวมากพอ  และถึงแม้จะชอบไม้จริงแต่ก็ไม่สามารถยอมรับได้ว่าไม้นั้นต้องเก่าไปตามอายุการใช้งาน ทั้งยังไม่มีเวลาดูแลเคลือบน้ำยาบ่อย ๆ ซึ่งเราก็เข้าใจตรงจุดนี้

“ส่วนใหญ่คนยุคนี้อยากได้บ้านโปร่งโล่ง ประตูหน้าต่างสามารถเปิดรับบรรยากาศภายนอกได้เต็มที่ แต่ว่าในทางกลับกันกลับกลัวแมลง กลัวขี้ฝุ่น เหมือนว่าอยากเปิดรับธรรมชาติ แต่ก็อยากคัดเลือกเฉพาะบางอย่าง ถ้าในเวลาอากาศไม่ดีก็จะปิดหน้าต่างแล้วเปิดแอร์ ดังนั้นการจะควบคุมการใช้พลังงานในสเปซขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพเป็นโจทย์ที่ยากอีกเช่นกัน เราจึงต้องออกแบบสเปซแบบไฮบริด ผสมกันระหว่างการใช้ระบบปรับอากาศกับการระบายอากาศ แถมยังต้องกันแมลงได้ด้วย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่ท้าทายพอสมควร”

erm_166_p098-110_rm-to-rm-01-6

ก้าวใหม่ของสถาปัตยกรรมอาเซียน

“สถาปัตยกรรมเขตร้อนเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่เฉพาะในไทยแต่ยังรวมถึงในภูมิภาคอาเซียนด้วย เห็นได้จากช่วง 15-20 ปี ผ่านมา ผู้คนเริ่มให้ความสำคัญกับ Globalization พอผ่านไปสักพัก ก็หันไปสนใจ Localization ล่าสุดสนใจ Glocalization โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นท้องถิ่นมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ ท่องเที่ยว หรือตั้งหลักแหล่งใหม่ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่แพ้กัน

“นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภัยธรรมชาติต่าง ๆ มีผลทำให้ผู้คนต้องหวนกลับมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ ด้วยการพยายามออกแบบที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับภูมิอากาศ และภูมิประเทศ ส่งผลให้มีการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรมในเชิงภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งกว่าแต่ก่อน”

เกษตรกรรมกลางเมือง: แหล่งอาหารสำหรับอนาคต

“สภาพภูมิอากาศเขตร้อนจริง ๆ มีความได้เปรียบในแง่ของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เพราะเราไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานเยอะ แค่ออกแบบบ้านอย่างไรให้ไม่ร้อนกว่าปกติ เช่น การเลือกใช้วัสดุที่ใช้พลังงานในการแปรรูปน้อย อย่าง ไม้ ไม้ไผ่ หรือดินให้มากขึ้น แต่ความยากส่วนหนึ่งในระยะยาว คือ เรื่องของค่านิยมในการอยู่อาศัย เช่น ค่านิยมในการมีบ้านเดี่ยว ซึ่งก็แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม อย่างที่เยอรมนีไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะเช่าห้องอยู่ไปทั้งชีวิตโดยไม่มีบ้านของตัวเอง เพราะเขาถือเป็นการแชร์ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า มากกว่าการที่ทุกคนจะต้องมีบ้านหลังใหญ่ของตัวเอง

“แม้ทุกวันนี้ผู้คนย้ายไปอยู่ในคอนโดมิเนียมสูง ๆ กันมากขึ้น แต่โดยส่วนตัวรู้สึกว่าอาคารอยู่อาศัยไม่ควรสูงเกิน 5 – 6 ชั้น เพราะเป็นขนาดที่มีความเป็นคอมมูนิตี้กำลังดี มีพื้นที่ส่วนกลาง มีพื้นที่สีเขียว สามารถผสมผสานพื้นที่เกษตรกรรมเข้าไปได้ การจะแยกเมืองออกจากพื้นที่เกษตรกรรมนั้น ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญกว่าปัจจัยอื่น ๆ ดังนั้นเราจึงควรได้ใกล้ชิดกับแหล่งที่มาของอาหารการกินมากขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ปลอดสารเคมี เพื่อให้มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและระบบนิเวศน้อยที่สุด

“หลาย ๆ ประเทศทางตะวันตกหรือในประเทศจีนเริ่มมีแนวคิดการดึงวิถีเกษตรกรรมเข้ามาในเมืองอย่างจริงจัง เพราะปัญหาเรื่องสารพิษในอาหารทำให้เขาตื่นตัว ส่วนใหญ่จะพัฒนาพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างให้เป็นพื้นที่สีเขียวของชุมชน ประเทศเราก็เริ่มมีมากขึ้น เช่น การทำสวนผักคนเมือง การปลูกผักบนดาดฟ้า หรือคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ก็ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวส่วนกลาง แต่ทำอย่างไรให้สิ่งนี้เป็นจริงได้ในวงกว้าง ทั้งที่สภาพแวดล้อมของเราถือว่าได้เปรียบ ปลูกอะไรก็ขึ้นง่ายกว่าเมืองหนาว นี่จึงเป็นคำถามที่รอให้ทุกคนได้กลับมาคิดทบทวน”

อ่านต่อ : บ้านเล็กในป่าใหญ่ – LITTLE HIDE AWAY

กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล

สำหรับใครที่อยากร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล พบกันได้ในงานเสวนา DESIGN TALK : Modern Tropical (re)Design วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคมนี้ 14.00 น. @งานบ้านและสวนแฟร์ มิดเยียร์ 2017, Hall 100 ไบเทคบางนา สำรองที่นั่งฟรีที่ www.baanlaesuan.com/designtalk-register 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติ่มได้ที่ : Room Fan


เรื่อง Monosoda
ภาพ ศุภกร, ทรงธรรม ศรีนัครินทร์