ล้อมบ้านหลังเล็กด้วยป่าส่วนตัว
อากาศบริสุทธิ์สดชื่นจากดงพญาเย็นพัดผ่านบ้านหลังเล็กที่ตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ ซึ่งผู้ออกแบบเรียกว่าเป็น “ป่าส่วนตัว” วันนี้เรามีโอกาสมาเยือนบ้านของ ครอบครัวรัตนปรีดากุล สถาปนิกผู้ออกแบบก็เป็นสมาชิกครอบครัวนี้ ซึ่งคงเป็นใครไม่ได้นอกจาก คุณเล็ก – กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล แห่งสำนักงานสถาปนิก Space Time นั่นเอง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Spacetime Architects
เราเริ่มด้วยคำถามที่ว่าการออกแบบบ้านของครอบครัวแตกต่างจากบ้านคนอื่นอย่างไรบ้าง และก็ต้องอมยิ้มกับคำตอบที่ได้รับ
“ก่อนหน้านี้เราจะห่วงเรื่องความเรียบร้อยของงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต เรื่องของงานออกแบบก็เช่นกัน เราเริ่มปล่อยวางภาระที่ไม่จำเป็น มีวิธีคิดและการใช้ชีวิตที่เชื่อมโยงไปยังงานออกแบบ ซึ่งโปรเจ็คท์นี้ก็เป็นชีวิตของเราเอง จึงทำให้ตัดสินใจเรื่องต่างๆได้ง่ายขึ้น การที่บ้านหลังนี้มีหลายส่วนเรียบร้อยน้อยกว่างานที่แล้วก็ไม่ได้แปลว่าบ้านจะมีคุณภาพด้อยลงไป กลับมีความเป็นธรรมชาติและความสบายมากขึ้น และใช้งานได้ดีไม่แพ้กันด้วย”
แนวคิดการออกแบบ “บ้านเขาลอย” หลังนี้คลี่คลายไปสู่ความเป็นธรรมชาติกว่าบ้านหลังอื่นๆที่ผ่านมา “ยกตัวอย่างการเลือกต้นไม้ของบ้านหลังนี้ เดิมเรามักเลือกต้นไม้เพียงไม่กี่ชนิด และออกแบบอยู่บนรูปแบบหนึ่งๆ ครั้งนี้เราตัดสินใจลองผสมต้นไม้หลายๆชนิดดู เช่น หน้าบ้านและข้างบ้านเลือกปลูกปีบ มะฮอกกานี ฯลฯ หลังบ้านก็มีต้นไผ่ รวมทั้งพืชคลุมดินอย่างต้อยติ่งและถั่วบราซิล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าพอใจ คือได้รับความร่มรื่นที่เป็นธรรมชาติ ระบบนิเวศรอบๆบ้านมีความสมบูรณ์ ทำให้เราคิดต่างไปจากกรอบเดิมๆ”
การออกแบบบ้านเริ่มจากโจทย์ที่ตั้งใจว่าจะทำบ้านยกใต้ถุนสูงเพื่อเปิดรับทิวทัศน์ ทั้งยังทำให้อากาศไหลเวียนได้ดี บริเวณชานบ้านเว้นร่องที่นอกจากจะระบายน้ำฝนที่สาดเข้ามาได้ดีแล้ว ยังเป็นช่องที่เว้นให้ลมพัดผ่านได้อีกด้วย บ้านหลังนี้มีผังเปิดเชื่อมโยงหลายๆส่วนของบ้านเป็นผืนเดียวกัน เพราะว่าเป็นบ้านพักผ่อนของครอบครัว จึงมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมบ่อยครั้ง เช่น ถ้าคุณเล็กพาพนักงานที่บริษัทมาตากอากาศ ชานบ้านกับครัวอาจเชื่อมโยงเป็นพื้นที่เดียวกันได้ แต่ถ้าพี่สาวมาพักผ่อน อาจใช้เวลาอยู่บนโซฟาที่เป็นสัดส่วนกว่าแบบแรก จึงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัว โดยที่ผังเปิดยังสามารถลดขนาดโดยรวมของบ้านลงได้ เพราะหลายๆพื้นที่ในบ้านมีการใช้ทางสัญจรร่วมกัน และผลพลอยได้อีกอย่างของผังเปิดที่เหมาะกับบ้านนี้ก็คือ ทุกพื้นที่สามารถมองเห็นกันและกันได้เสมอ
นอกจากความเป็นธรรมชาติของแมกไม้รอบบ้านแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่คนจะนึกถึงเมื่อเห็นงานออกแบบของคุณเล็กก็คือ บ้านอย่างไทยและความเป็นไม้ แต่เมื่อสังเกตดูดีๆแล้วจะเห็นว่าสัดส่วนของวัสดุที่ใช้จะเป็นเหล็กและปูนมากกว่าไม้เสียอีก เราจึงถามถึงเคล็ดลับจากเธอและได้ความว่า “ก็นำไม้มาไว้ในส่วนที่คนจะได้สัมผัส ทั้งทางตาและทางกาย เช่น จากหน้าบ้านก็มีไม้หมอนเก่าวางให้ขับรถข้ามรางระบายน้ำ เงยขึ้นมองก็จะเห็นพื้นไม้และฝ้าไม้ที่ชั้นสอง เดินขึ้นบ้านก็มีลูกบันไดไม้ ราวจับที่เป็นไม้ ห้องนอนด้านในก็จะมีไม้เป็นจุดจบสายตาในห้องน้ำ ซึ่งตอนแรกจะทำเป็นปูนเปลือย แต่ในที่สุดก็ไปหาไม้คร่าวแบบที่เขาขายเป็นมัด มาเรียงบนผนัง ก็ทำให้เกิดดีเทลของไม้ที่น่าสนใจ
“พอมีไม้มารับสัมผัสต่างๆในบ้าน บ้านก็จะมีความนุ่มนวลและอบอุ่นขึ้น เพราะไม้เป็นวัสดุเพียงไม่กี่ชนิดที่มาจากสิ่งที่เคยมีชีวิตเช่นเดียวกับคน อย่างเหล็กและปูนก็จะมีความแข็งและกระด้าง แต่ไม้สามารถเชื่อมโยงคนเข้าสู่สถาปัตยกรรมได้อย่างนุ่มนวลกว่า คนมักเลือกที่จะมองในสิ่งที่มีความละมุมละไม หลายครั้งสิ่งเหล่านี้จึงทำให้คนมองว่างานของ Space Time เป็นบ้านไม้ ทั้งที่ในเชิงโครงสร้างและองค์ประกอบแล้วจะมีวัสดุอื่นผสมอยู่ค่อนข้างมาก”
บ้านของครอบครัวจึงเป็นโจทย์ที่ทั้งยากและง่ายสำหรับคุณเล็ก เป็นทั้งบ้านต่างจังหวัดสำหรับการพักผ่อน บ้านที่ให้ความอบอุ่นเป็นธรรมชาติ มีขนาดกะทัดรัด ดูแลรักษาง่าย และมีการใช้งานที่ปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย แม้จะเลือกใช้วัสดุง่ายๆ แต่เมื่อผ่านการออกแบบที่แยบยล ก็ทำให้บ้านหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าอีกหลังหนึ่งเลยทีเดียว
เจ้าของ : ครอบครัวรัตนปรีดากุล
ออกแบบ : Space Time โดยคุณกรรณิการ์ รัตนปรีดากุล Facebook : spacetime . กา-ละ-เท-ศะ
เรื่อง : “วุฒิกร สุทธิอาภา”
ภาพ : ธนกิตติ์ คำอ่อน, ณัฐวัฒน์ ส่องแสง
สไตล์ : นิรดา วิทยาเวช