Urban Scape ผ่านมุมมองของคุณการุณ เจียมวิริยะเสถียร
หลายคนอาจเคยเห็นภาพวาดเมืองสเกลเล็กจิ๋วในรูปแบบแผนที่เมืองซึ่งแชร์กันบนโลกโซเชียล เชื่อหรือไม่ว่านั่นเป็นการวาดด้วยมือบนกระดาษขนาด A1 ผ่านมุมมองของ คุณชิว – การุญ เจียมวิริยะเสถียร ศิลปินอิสระ คุณอาจคิดว่านั่นคืองานที่ต้องตรากตรำอย่างคร่ำเคร่ง ซึ่งก็ไม่ผิด แต่เบื้องหลังความอุตสาหะนั้นคือความสุขในการค่อยๆบรรจงสร้างโลกใบเล็กอันละเอียดลออให้กลายเป็นจริงบนผืนกระดาษ เป็นภาพวาดที่เกิดขึ้นจากใจรัก จากความชื่นชอบในวัยเด็ก นำไปสู่ผลงานศิลปะที่น่าสนใจ
“ความจริงคือลืมไปแล้วว่าชอบทำงานแนวนี้ เพราะพอได้ร่ำเรียนมาทางศิลปะก็ได้หยิบจับทำงานศิลปะหลากหลายแบบ จนกระทั่งได้ไปเห็นภาพเมืองอย่างที่เรียกกันว่า Urban Scape จึงทำให้นึกย้อนกลับไปได้ว่าตอนเด็กๆเราเคยชอบวาดอะไรแบบนี้” คุณชิวเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการวาดภาพแผนที่เมืองให้เราฟัง ก่อนขยายความต่อว่า
“การได้เห็นภาพวาดเมืองปารีสในรูปแบบ Urban Scape ทำให้นึกย้อนได้ว่าตัวเองชอบวาดภาพแบบนี้มาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีกล้องถ่ายภาพ ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ แต่ชอบนั่งรถไฟเพื่อจะได้มองวิวสวยๆรอบข้าง และอยากจะเก็บสิ่งที่มองเห็นนั้นไว้ดู จึงต้องจดจำด้วยสายตาแล้วกลับมาวาดบนสมุดของตัวเอง นี่จึงเป็นสาเหตุแรกเริ่มในการตัดสินใจกลับมาวาดอีกครั้ง ภาพแรกที่เริ่มวาดคือภาพแผนที่เกาะรัตนโกสินทร์ และเมื่อได้เผยแพร่ภาพนั้นบนเพจส่วนตัว ก็ทำให้มีคนเห็นมากขึ้นและสนใจติดต่องานเข้ามา”
สำหรับขั้นตอนการทำงานของคุณชิวนั้นจะเริ่มจากการร่างภาพด้วยดินสอ ในบางพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยก็จะต้องลงไปดูพื้นที่นั้นๆเอง เพื่อให้ได้ภาพวาดที่เหมือนจริงในบริบทปัจจุบันให้มากที่สุด ทั้งหาข้อมูลเพิ่มในรายละเอียดเฉพาะของสิ่งต่างๆจากหนังสือ เช่น รายละเอียดของรถไฟ หรืออาคารในสมัยก่อน จากนั้นเมื่อร่างเสร็จแล้วจะวาดด้วยปากกาอีกครั้ง หากมีรายละเอียดที่เล็กมากๆ คุณชิวจะหยิบแว่นขยายมาส่องแล้ววาดเพื่อเก็บรายละเอียดขนาดเล็กจิ๋ว เมื่อวาดเสร็จก็นำภาพต้นฉบับไปสแกนลงคอมพิวเตอร์ เพื่อทำฉบับพิมพ์ซ้ำตามจำนวนที่กำหนดไว้
ภาพวาดเมืองของคุณชิวจะเน้นให้ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาให้ความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาด รายละเอียดทุกอย่างที่มีอยู่ หรือแม้กระทั่งทางเข้าปากซอยแต่ละซอยว่ามีอะไรอยู่บ้าง เขาจะเก็บให้ครบที่สุดเท่าที่จะวาดลงไปได้ เช่นเดียวกับการวาดทุกรายละเอียดของภาพด้วยมือ เพื่อแสดงลายเส้นของตัวเองและเป็นเสมือนการเก็บบริบทและบรรยากาศเมืองในช่วงเวลานั้นให้ครบถ้วน สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ภาพแผนที่ของคุณชิวแตกต่างจากแผนที่ทั่วไป เมื่อทุกคนดูแล้วก็สามารถเข้าใจได้ง่าย รู้ถึงเส้นทางได้ชัดเจน เด็กๆก็ดูแผนที่นี้ได้ มองแล้วสบายตา และยังแสดงให้เห็นถึงเสน่ห์ของแต่ละพื้นที่อีกด้วย
เมื่อสอบถามถึงแรงบันดาลใจในการวาดภาพแนวนี้ คุณชิวตอบว่าเริ่มแรกก็ทำด้วยใจรักจนเกิดความเพลิดเพลิน แล้วจึงต่อเติมด้วยจินตนาการ ระหว่างทางก็กระตุ้นความสนุกด้วยการลงไปดูพื้นที่จริงที่ไม่คุ้นเคย เท่านี้ก็เป็นการเติมแรงบันดาลใจได้อย่างไม่มีขาดแล้ว
ในอนาคตเราอาจได้เห็นภาพวาดของคุณชิวกลายเป็นแผนที่ซึ่งสามารถขยายชมผ่านโทรศัพท์มือถือ บอกรายละเอียดแบบละเอียดยิบเป็นภาพวาดกึ่งสามมิติก็เป็นได้ การเก็บบันทึกเป็นความทรงจำแบบนี้เป็นเรื่องที่ใครๆก็ทำได้แม้แต่ตัวคุณผู้อ่านเอง ลองวาดเล่นๆตอนที่ไปเที่ยว แล้วนำไปอวดใครสักคนก็ดูเป็นเรื่องเข้าที หรือหากคุณนึกขึ้นได้ว่าอะไรที่คุณทำแล้วมีความสุขในวัยเยาว์ ลองกลับไปปัดฝุ่นกิจวัตรเหล่านั้น และลองทำอีกครั้ง อาจทำให้คุณพบอะไรใหม่ๆที่ตัวเองสนใจบ้างก็เป็นได้
สำหรับผู้สนใจผลงานของคุณชิว เชิญติดตามต่อได้ที่ FB : Z i l l u S t a t i o n . ชิว
เรื่อง : “นิรดา วิทยาเวช”
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข