Reflection House บ้านโมเดิร์น ที่สะท้อนความสัมพันธ์ครอบครัวและชุมชน
บ้านโมเดิร์นในพื้นที่จำกัด ที่ออกแบบให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างกลมกลืนและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ส่วนภายในก็มีความเป็นส่วนตัว และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคุณแม่และลูกชาย
Design Directory : ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน: AUN Design Studio
บ้านโมเดิร์นในพื้นที่จำกัด หลังนี้มีชื่อว่า Reflection House ด้วยความรักความผูกพันกับพื้นที่ และวิถีชีวิตในอดีตที่คิดถึง จึงออกแบบบ้านหลังนี้ให้อยู่ร่วมกับบริบทชุมชนโดยรอบ เพื่อสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความทรงจำในวันวานของ คุณหนุ่ม -ณรงค์เกียรติ เฝ้าทรัพย์ เจ้าของบ้านและคุณแม่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบ้านหลังใหม่ โดยได้สองสถาปนิกจาก AUN Design Studio คุณอุ่น-เขตขัณฑ์ ยอดพริ้ง และคุณปุ๋ย-ปรียานุช เรืองสังข์ มาช่วยสะท้อนความทรงจำเหล่านี้ให้ชัดเจนขึ้นในบ้านสองชั้นขนาด 240 ตารางเมตร บนที่ดินขนาดกะทัดรัด สำหรับอยู่อาศัยกับคุณแม่และครอบครัว ด้วยงบประมาณที่สามารถเอื้อมถึงได้
Rethinking การออกแบบผังสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในพื้นที่
เนื่องจากบ้านเดิมตั้งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างจำกัดและอยู่ติดกับบ้านใกล้เคียง การออกแบบผังจึงต้องคำนึงถึงประโยชน์จากการใช้งานพื้นที่ขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยต่างวัย สถาปนิกเล็งเห็นว่าการออกแบบโดยแบ่งทางเข้าบ้านออกเป็นสองฝั่งแทนการเปิดทางเข้าเพียงทางเดียวนั้น ทำให้เกิดพื้นที่ว่างขนาบตัวบ้าน ซึ่งมีข้อดีคือนอกจากจะช่วยแยกฟังก์ชันทางเข้าบ้านสำหรับแขกออกจากทางเข้าบ้านหลักแล้ว การจัดการพื้นที่ดังกล่าวยังช่วยให้ตัวบ้านตั้งอยู่ระหว่างพื้นที่ว่างซึ่งออกแบบให้เป็นสวนภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ แสงและลมธรรมชาติจึงสามารถเข้ามาในตัวบ้านได้จากทั้งสองฝั่ง ภายในบ้านจึงปลอดโปร่งมากกว่าการเลือกเปิดทางเข้าบ้านเพียงฝั่งเดียวเท่านั้น ซึ่งสถาปนิกตั้งใจออกแบบให้เป็นต้นแบบสำหรับบ้านที่มีเนื้อที่จำกัดในงบประมาณที่สามารถเอื้อมถึงได้
“การออกแบบผังเป็นรูปตัวที (T) ทำให้บ้านได้รับแสงและลมธรรมชาติ ทั้งยังได้มุมมองของคอร์ตทั้งสองฝั่งที่ต่างกัน ช่วยสร้างประสบการณ์การใช้งานพื้นที่หลากหลายอารมณ์”
เมื่อเข้ามาภายในบ้านเราจะพบกับพื้นที่รับประทานอาหารอยู่บริเวณกลางบ้านซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับส่วนเตรียมอาหารหรือห้องครัว พื้นที่ชั้นล่างนั้นออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคุณแม่ จึงไม่แปลกที่ห้องนั่งเล่นจะปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นโต๊ะรับประทานอาหารแทนการวางชุดโซฟา ด้วยกิจวัตรชอบทำอาหารและมักจะมีเพื่อนบ้านแวะมาพบปะพูดคุย ทำให้บริเวณนี้ทำหน้าที่เสมือนห้องรับแขกไปในตัว ถัดจากส่วนรับประทานอาหารจึงเป็นห้องนอนของคุณแม่และห้องเก็บของ ด้วยผังบ้านออกแบบเป็นรูปตัวที (T) ทำให้ห้องนอนคุณแม่ยังคงใกล้ชิดกับพื้นที่สีเขียวและมุมมองของพื้นที่ระหว่างห้องนอนกับห้องรับประทานอาหารยังคงมีปฎิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
“การออกแบบให้ห้องรับประทานอาหารเป็นทั้งพื้นที่นั่งเล่นและรับแขกสะท้อนถึงวิถีสังคมไทย ความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับคุณหนุ่มที่มักจะมาใช้เวลาร่วมกันในพื้นที่นี้” สถาปนิกกล่าว
ชั้น 2 ออกแบบให้เป็นพื้นที่ของคุณหนุ่ม ฟังก์ชันจึงประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่นซึ่งเชื่อมต่อมาจากชั้นล่าง มีเคาน์เตอร์บาร์สำหรับรองรับเพื่อนฝูงที่แวะเวียนมาสังสรรค์ ฟังก์ชันที่น่าใจบริเวณเคาน์เตอร์บาร์คือการออกแบบห้องน้ำซ่อนไว้ด้านในเสมือนห้องลับ ที่ดูเพียงผิวเผินประตูห้องน้ำจะกลมกลืนไปกับผนังบิลท์อิน และมีระเบียงขนาดเล็กช่วยต่อขยายพื้นที่ห้องนั่งเล่นออกไปให้ดูกว้างมากยิ่งขึ้น
สถาปนิกไม่ลืมที่จะนำความคุ้นเคยในอดีตของคุณหนุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้ จึงออกแบบห้องนอน ห้องน้ำ และห้องทำงานให้อยู่ในแนวเดียวกัน คล้ายกับการอยู่อาศัยแบบ “อพาร์ตเมนต์” โดยให้ห้องนอนและห้องทำงานอยู่คนละฝั่งเพื่อรับมุมมองของคอร์ตที่แตกต่างกัน ทั้งสองห้องเชื่อมต่อด้วยพื้นที่ห้องแต่งตัวและห้องน้ำ โดยทุกห้องสามารถเดินเชื่อมถึงกันได้หมด เพื่อให้ใช้งานสะดวกในขนาดพื้นที่ที่เพียงพอกับความต้องการ รูปแบบการอยู่อาศัยของอพาร์ตเมนต์ที่คุณหนุ่มเคยอยู่ มักจะมีชั้นลอยเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าของพื้นที่ใช้สอย สถาปนิกจึงนำมาออกแบบให้มีชั้นลอยเหนือห้องนั่งเล่นของคุณหนุ่มไว้สำหรับออกกำลังกาย ฝึกโยคะ และทำสมาธิ โดยทำบันไดลิงสำหรับปีนขึ้นไปเพื่อประหยัดพื้นที่
“เรามองว่าการออกแบบโดยแบ่งพื้นที่การใช้งานไปคนละชั้นเลยค่อนข้างตอบโจทย์มากกว่า คุณแม่คุ้นชินกับการใช้ชีวิตใกล้กับห้องครัว ส่วนคุณหนุ่มต้องการความเป็นส่วนตัวและพื้นที่สำหรับให้เพื่อนมาสังสรรค์โดยไม่รบกวนกัน แต่ทั้งสองวัยยังคงมาใช้เวลาร่วมกันในบริเวณพื้นที่รับประทานอาหาร ซึ่งเป็นจุดที่เราเบลนด์ทั้งสองวัย และความทรงจำเข้าไว้ด้วยกัน” สถาปนิกกล่าว
“Reflect” สะท้อนบริบทและชุมชนโดยรอบที่คุ้นเคย
ด้วยวิถีชีวิตที่คุ้นเคยกับชุมชนและมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านโดยรอบ ทำให้บ้านหลังนี้ไม่จำเป็นต้องปลีกตัวออกจากสภาพแวดล้อมที่ตั้งเพื่อความเป็นส่วนตัวมากนัก คุณหนุ่มมองว่าความมีชีวิตชีวาจากภายนอกช่วยเติมเต็มชีวิตให้บ้านหลังนี้เช่นกัน
“มีความทรงจำในที่แห่งนี้มากมาย และเราพยายามสะท้อนความทรงจำเหล่านี้ออกมาเป็นงานสถาปัตยกรรม” สถาปนิกออกแบบบ้านโดยนอบน้อมต่อบริบทดั้งเดิมของบ้านใกล้เรือนเคียง เมื่อบ้านเปิดเป็นพื้นที่โล่งทั้งสองฝั่ง สถาปนิกจึงออกแบบรั้วระแนงเหล็กโปร่งรอบบ้าน โดยหยิบยกภาษาของหลังคาจั่วของบ้านเดิมและบ้านโดยรอบมาใช้ เพื่อให้ยังคงสามารถรับรู้วิถีชีวิตภายนอกบ้าน มองเห็นเพื่อนบ้านเดินผ่านไปมาและทักทายกันได้ โดยยังคงความเป็นส่วนตัวเอาไว้ในระดับที่เหมาะสม และเป็นทางผ่านให้ลมและแสงสามารถผ่านเข้ามาได้ บรรยากาศสวนหรือคอร์ตของบ้านหลังนี้จึงค่อนข้างโปร่งเนื่องจากมีลมไหลเวียนเข้า-ออกตลอดเวลา
ประติมากรรมชิ้นเอกของบ้านที่เป็นมากกว่าบันได
สิ่งที่สะดุดตาเมื่อเข้ามายังพื้นที่ภายในบ้าน คงหนีไม่พ้นบันไดขาวโปร่งทั้งชิ้นด้วยวัสดุเหล็กเจาะรู (Perforated) เสมือนงานประติมากรรมชิ้นเอกที่ติดตั้งให้ลอยอยู่บริเวณกลางบ้าน พร้อมออกแบบแสงช่วยให้บันไดน่าสนใจและมีความไดนามิกมากยิ่งขึ้น โดยเน้นแสงเป็นเส้นสายที่คมชัดอยู่รอบนอกไปตามขั้นบันไดเท่านั้น และเพียงพอต่อการใช้งานให้สามารถมองเห็นทางขึ้น-ลงได้อย่างสะดวกอีกด้วย
“โจทย์ของเราคืออยากให้บันไดเปรียบเหมือนงานประติมากรรมชิ้นหนึ่ง ทำให้นึกถึงวิธีการพับกระดาษแบบโอริงามิ (origami) เราจะพับกระดาษแผ่นเดียวให้เป็นรูปทรงต่างๆ ทำให้กระดาษมีความแข็งแรงขึ้น เช่นเดียวกันกับบันไดเหล็กพับเมื่อมองดูผิวเผินจะไม่มีโครงสร้างรองรับแต่ยังคงสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง”
อินทีเรียร์ที่เรียบง่าย เพื่อเน้นการบอกเล่าตัวตนผ่านสีสันของเฟอร์นิเจอร์และงานอาร์ต
สถาปนิกออกแบบให้วัสดุภายในบ้านดูค่อนข้างจะเรียบง่าย เนื่องด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด พื้นและผนังเป็นพื้นคอนกรีตเปลือยแทนการติดตั้งกระเบื้องหรือทาสีเช่นเดียวกับภายนอก ซึ่งสามารถดูแลรักษาหรือทาสีทับในภายหลังได้ง่ายเพื่อปล่อยให้สเปซได้เติมแต่งสีสันด้วยสิ่งของสะสมที่เจ้าของบ้านชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นรูปแบบลอยตัวมากกว่าการบิลท์อิน และงานศิลปะที่สามารถหมุนเวียนเปลี่ยนได้เรื่อยๆ พื้นที่จึงแสดงตัวเป็นอาร์ตแกลเลอรี่สำหรับงานศิลปะหมุนเวียนทำให้บรรยากาศภายในบ้านมีความสดใหม่อยู่เสมอ
“ผนังทั้งสองชั้นเลือกทาผนังเป็นสีขาวเฉพาะช่วงความสูงที่เจ้าของบ้านใช้ ที่เหลือปล่อยเป็นคอนกรีตเปลือย ห้องจึงมีลักษณะทูโทนเสมือนเป็นเฟรมผ้าใบของภาพที่เราขึงไว้สองในสามส่วน นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณแล้วเพื่อเจ้าของบ้านจะได้มีโอกาสตกแต่งเพิ่มองค์ประกอบต่างๆ ภายในบ้านด้วยตนเอง”
เฟอร์นิเจอร์และของสะสมต่างๆ ในบ้านได้มากจากการประมูลงานศิลปะซึ่งกลายเป็นความสนใจใหม่ของเจ้าของบ้าน ได้สนุกกับการแต่งแต้มอาร์ตแกลเลอรี่ส่วนตัวของตนเอง เกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับเจ้าของบ้านตามที่สถาปนิกได้ตั้งใจออกแบบไว้ ส่วนห้องนอนของคุณแม่ตกแต่งค่อนข้างแตกต่างจากห้องอื่นๆ พื้นห้องเป็นพื้นคอนกรีตทาน้ำยาย้อมผิวคอนกรีตแอซิดสเตน (Acid Stain) สีดำ คู่ไปกับเฟอร์นิเจอร์ไม้และของสะสมเดิมที่มีอยู่ เพื่อเก็บกลิ่นอายวิถีชีวิตในอดีตของคุณแม่เอาไว้ในบ้านหลังนี้
“หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้มาสองปี ผมยังเห็นมุมมองใหม่ภายในบ้านเกิดขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการออกแบบที่สถาปนิกตั้งใจคิดมาให้หมดแล้ว” คุณหนุ่มกล่าว
หัวใจสำคัญในการออกแบบบ้าน Reflection House เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว กับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน ถ่ายทอดออกมาผ่านพื้นที่และงานสถาปัตยกรรม โดยแทรกกิมมิกเล็กน้อยที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิก บ้านหลังนี้จึงสะท้อนทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นและทำให้บ้านมีชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องแต่งเติมในงานสถาปัตยกรรมมากจนเกินไป
Designer’s Tips
“การออกแบบบ้าน Reflection House ต้องคำนึงถึงงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด เราจึงออกแบบภาพรวมให้เรียบง่ายมากที่สุดโดยการเลือกใช้วัสดุเท่าที่จำเป็น ภายนอกบ้านจึงโชว์เป็นผนังปูนซีเมนต์แต่งผิวบาง (Skim coat) แทนการทาสีหรือปิดผิวด้วยวัสดุอื่นๆ ข้อดีของการใช้สกิมโค้ตคือสามารถมาทาสีทับเพื่อเปลี่ยนลุคบ้านในภายหลังได้ ซึ่งสอดคล้องกับการรองรับวิถีชีวิต และความชอบที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้อยู่อาศัยด้วย”
เจ้าของ : คุณณรงค์เกียรติ เฝ้าทรัพย์
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน: AUN Design Studio
ออกแบบแสง : ศาสตราจารย์พรรณชลัท สุริโยธิน อาจารย์วีระพงศ์ เอี๋ยวพานิช และ AUN Design Studio
วิศวกรโครงสร้าง : คุณสิทธิโชค ศิริวิวัฒน์ วิศวกรงานระบบ : คุณรณชัย ศิริธนารัตนกุล และคุณเอกสิทธิ์ รักษากุลเกียรติ
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล