DOD Café & Bistro คาเฟ่ผนังอิฐในสวนทรอปิคัล
อิฐดินเผาเรียงซ้อนกันบนกำแพง เป็นชั้นระดับสูงต่ำและหนาบางไม่เท่ากัน เกิดมิติและมุมมองที่เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาที่แสงตกกระทบ
สร้างจุดเด่นที่ดูต่อเนื่องกับกำแพงซุ้มทางเข้าหลักที่ติดอักษรเบรลล์ไว้เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของที่นี่ ด้วยจุดประสงค์ที่ คุณดอส – ปณัฐ สุมาลย์โรจน์ นักจัดสวน บริษัท เพอโกล่าร์ จำกัด และเจ้าของร้าน DOD Café & Bistro แห่งนี้ ต้องการให้ลูกค้าเข้ามาสัมผัส ทั้งเห็นรูป ชิมรส สูดกลิ่น และฟังเสียงของธรรมชาติด้วยตนเอง
จากทางเข้าเมื่อผ่านซุ้มประตูเหล็กเข้ามาภายในมีอาคารสองหลัง คือ อาคารคาเฟ่และร้านอาหาร ซึ่งแน่นอนว่า อาคารสองหลังนี้ใช้อิฐดินเผาเป็นวัสดุหลัก โดยให้ตัวอาคารถูกออกแบบให้ใช้กั้นขอบเขตเป็นรั้วด้วยในตัว เพราะการเดินทางเข้ามาคาเฟ่แห่งนี้ ต้องผ่านสวนมะพร้าวที่ให้บรรยากาศแบบชานเมือง เมื่อมาเจอพื้นที่ที่เป็นสเปซใหญ่ มีรั้วอิฐและสวนธรรมชาติ จึงสร้างความน่าสนใจได้ระดับนึงเลยทีเดียว “ที่นี่เป็นพื้นที่ของเราเอง ครั้งนี้โจทย์จึงไม่ได้มาจากลูกค้าที่ว่าจ้างจัดสวน แต่เป็นโจทย์ที่เดาใจลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการแทนว่าต้องการอะไร แล้วนำความต้องการนี้มาผสมผสานกับตัวตนของเราและสิ่งที่ชอบ”
“คอนเซ็ปต์ของร้านอาหารกับคาเฟ่ผมวางไว้ไม่ให้เหมือนกัน คนที่มาร้านอาหารส่วนใหญ่มักมาเป็นกลุ่มและใช้เวลานั่งคุยกันนานกว่า ผมจึงออกแบบตัวร้านให้มีความเป็นส่วนตัวจากภายนอก ส่วนคาเฟ่คนที่มาต้องการนั่งพักผ่อน จึงออกแบบอาคารเป็นเรือนกระจกให้สามารถมองจากข้างในออกมา ผมเชื่อว่าคนทำงานด้านต้นไม้หรือนักจัดสวนอยากมีความรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในกลาสเฮ้าส์ที่ล้อมด้วยต้นไม้ ซึ่งตัวผมเองก็อยากได้ความรู้สึกแบบนั้น นั่งจิบกาแฟในห้องกระจกที่มองออกมาแล้วเห็นสวนน้ำตก จึงปลูกต้นไม้ไว้ภายในส่วนหนึ่ง แล้วสร้างสวนทรอปิคัลเรนฟอเรสต์ล้อมรอบ”
เนื่องจากพื้นที่ของที่นี่กว้างถึง 6 ไร่ การออกแบบจึงแบ่งออกเป็น 2 โซนหลัก สวนด้านหน้ากำหนดพื้นที่ไว้ ประมาณกว่าไร่ครึ่งเป็นส่วนของคาเฟ่ ร้านอาหาร และสวนทรอปิคัลเรนฟอเรสต์ ซึ่งเป็นไฮไลต์ของที่นี่ มีน้ำตกและลำธาร ที่ไหลเวียนต่อเนื่องระหว่างสองอาคาร โดยซ่อนหัวน้ำตกไว้ด้านหลังของคาเฟ่ ปลูกไม้ยืนต้นทรงลีลาอย่างต้นหว้า จิกน้ำ ประดู่ และไม้ที่คุณดอสชื่นชอบอย่างเสม็ดแดง เสริมด้วยพืชน้ำตามขอบลำธารและน้ำตกโดยรอบ อย่าง กกน้ำด่าง กกแก้ว ว่านน้ำ ฯลฯ เพื่อสร้างมิติที่แตกต่าง ลดการใช้ไม้พุ่มเพื่อไม่ให้บดบังมุมมองจากห้องกระจก เปลี่ยนผ่านพื้นที่แต่ละส่วนด้วยซุ้มคั่น จังหวะ ซึ่งมีทั้งซุ้มหินที่ต่อเนื่องจากน้ำตก และซุ้มร่วมสมัยที่ทำจากวัสดุเหล็กและอิฐตามสไตล์คุณดอส ดูเรียบง่ายร่วมสมัยและกลมกลืนกับตัวอาคาร
“ที่เลือกจัดสวนรูปแบบนี้เพราะมองว่าคาเฟ่ในแถบนี้ยังไม่มี อีกทั้งสวนยังเป็นตัวตนของเรา ที่ผ่านมาแม้จะจัดสวน หลาย ๆ สไตล์ แต่ก็เติบโตมากับงานทรอปิคัล จึงสร้างสรรค์ต้นกำเนิดของเราออกมาในรูปแบบสวนที่ใกล้เคียงที่สุด ซึ่งก็คือ สวนทรอปิคัลเรนฟอเรสต์หรือสวนป่าฝนครับ”
พื้นที่ถัดไปคือสวนด้านในที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ จึงทิ้งสเปซของสนามหญ้ากว้างไว้รอบบ่อขนาดใหญ่ ปลูกต้นจามจุรีเพื่อให้ร่มเงาเป็นระยะ พื้นสนามออกแบบเป็นเนินสูงต่ำเพื่อให้เกิดมิติในการมอง ขอบบ่อเป็นทุ่งดอกไม้ หิน และหญ้าประดับ โดยออกแบบศาลาริมบ่อที่สร้างความเป็นส่วนตัวไว้โดยรอบสนามหญ้ากว้างแห่งนี้ ตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดงาน เป็นมุมกางเต็นท์ และยังเป็นพื้นที่ให้สัตว์เลี้ยงได้วิ่งเล่น ซึ่งลูกค้าที่มาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัวและคนวัยเกษียณ จึงไม่ลืมที่จะออกแบบพื้นที่สำหรับการใช้วีลแชร์ให้เข้าถึงได้สะดวก
นอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับคนทุกวัย ที่นี่ยังไม่เน้นปลูกต้นไม้จนเต็มพื้นที่แต่แรก แต่ค่อย ๆ รอวันเวลาให้ต้นไม้เติบโตเต็มรูปฟอร์มตามสไตล์นักจัดสวนที่เข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริง
หนังสือ 15 BEST GARDENS โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน
เจ้าของ-ออกแบบ คุณปณัฐ สุมาลย์โรจน์