รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ทึบ เติมแสงแต่งสีให้บ้านมีสุขภาวะที่ดี
รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ทึบ อายุ 30 ปี ให้ปลอดโปร่งมากขึ้น โดยมีการนำเส้นสายโค้งมาออกแบบให้สเปซดูลื่นไหล ลดทอนขนาดของพื้นที่ ทำให้ภาพรวมของบ้านดูน่ารักและเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น
Design Directory : สถาปนิก – ตกแต่งภายใน : Studio Mai Mai
รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ทึบ โดยมาจากจุดเริ่มต้นอันเรียบง่ายของ คุณเดือน – นันทิสา โชติรสนิรมิต ที่อยากมีบ้านขนาดกะทัดรัดเพียงพอต่อการอยู่อาศัย ใกล้กับที่ทำงาน และสามารถดูแลรักษาได้ง่าย เมื่อค้นหาก็ได้มาพบกับทาวน์เฮ้าส์เก่าสองชั้นอายุราว 30 ปี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานตามความต้องการ จึงตัดสินใจรีโนเวตบ้านโดยติดต่อให้ คุณต่อ – สุวิชญ์พงศ์ อาสนจินดา สถาปนิกจาก สตูดิโอใหม่ ใหม่ (Studio Mai Mai) มาออกแบบปรับปรุงบ้านหลังเก่าให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน เกิดเป็นเรื่องราวของบ้านที่ต้อนรับเราด้วยเส้นสายและวัสดุอันอ่อนน้อมต่อบริบทแวดล้อมหลังนี้
รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ทึบ โดยเก็บเอกลักษณ์บ้านเก่า นำมาเล่าด้วยดีไซน์ใหม่
เมื่อสถาปนิกได้สำรวจตัวบ้านเดิมก็พบว่าลักษณะการออกแบบบ้านในยุคนั้นยังคงมีเสน่ห์บางอย่างและน่าสนใจอยู่แล้ว จึงตั้งใจเลือกเก็บและโชว์บางองค์ประกอบ เช่น โครงสร้างหลังคาเดิมที่ออกแบบเป็นหลังคาเพิงหมาแหงนสองระดับ ทำให้เกิดเป็นจังหวะการทำช่องแสงที่นำแสงธรรมชาติเข้ามายังพื้นที่ภายในบ้าน เพียงแต่บ้านเดิมนั้นไม่เอื้อให้ใช้ประโยชน์จากแสงที่เข้ามาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากบดบังด้วยห้องนอนเต็มทั้งชั้นถึงสามห้อง สถาปนิกจึงเสนอดีไซน์ที่ทำให้บ้านปลอดโปร่งมากขึ้น
“เนื่องจากเจ้าของต้องการบ้านขนาดกะทัดรัดแค่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย จึงตัดสินใจทุบพื้นชั้นบนออกหนึ่งห้อง เพื่อเพิ่มคุณภาพการอยู่อาศัยให้ห้องนั่งเล่นชั้นล่าง มีฝ้าเพดานสูงแบบดับเบิลสเปซและแสงธรรมชาติเข้าถึง บรรยากาศภายในบ้านจึงดูปลอดโปร่งมากยิ่งขึ้น”
เมื่อเข้ามาภายในบ้านจะพบว่าพื้นบ้านมีการเล่นระดับ ซึ่งเป็นระดับของพื้นบ้านเดิมที่สถาปนิกตั้งใจเก็บไว้เพื่อคงมิติของพื้นที่ให้น่าสนใจ โดยออกแบบบให้ส่วนที่ระดับต่ำลงไปเป็นพื้นที่นั่งเล่น ความต่างระดับดังกล่าวช่วยสร้างขอบเขตของพื้นที่ให้ชัดเจน โดยไม่จำเป็นต้องมีการแบ่งกั้นห้องแต่อย่างใด ทั้งยังสร้างความรู้สึกเป็นมิตรชวนให้เข้าไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย
ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
มุมมองจากทางเข้าบ้านต้อนรับเราด้วยพื้นที่สวนและผนังอิฐของตัวบ้านที่ดูอบอุ่น เดิมบริเวณหน้าบ้านเป็นที่จอดรถ แต่ปรับเป็นพื้นที่สวนแทน มีห้องด้านหน้าบ้านซึ่งเป็นดีไซน์ของบ้านเดิม โดยปรับเป็นห้องอเนกประสงค์สำหรับเป็นพื้นที่ทำงาน หรืออาจปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนผู้สูงอายุในอนาคตได้ เนื่องจากออกแบบให้มีห้องน้ำในตัวจึงสะดวกต่อการใช้งานในระยะยาว
พื้นที่ชั้นล่างเป็นส่วนรับประทานอาหารพร้อมกับที่นั่งเล่นริมหน้าต่างคล้ายตั่ง ซึ่งเชื้อเชิญให้นั่งเล่นแบบเป็นกันเอง ถัดจากพื้นที่ประทานอาหารจะเป็นส่วนของเคาน์เตอร์บาร์ซึ่งอยู่ติดกับห้องครัว และส่วนนั่งเล่นอยู่บริเวณด้านใน บ้านหลังนี้วางผังแบบโอเพ่นแปลน พื้นที่ภายในจึงค่อนข้างยืดหยุ่นและเอื้อให้ลมสามารถพัดผ่านเข้าภายในบ้านได้ในทุกพื้นที
บริเวณชั้น 2 ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น จากเดิมมีห้องนอนเต็มพื้นที่ถึง 3 ห้องและห้องน้ำเพียง 1 ห้อง สถาปนิกได้ปรับลดห้องนอนเหลือเพียง 2 ห้อง ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งาน และมีห้องน้ำในตัวเพื่อความสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยยังคงมีพื้นที่ระเบียงให้แต่ละห้องนอนอีกด้วย
สถาปนิกเล่าเพิ่มเติมว่า “ห้องนอนบริเวณด้านหลังซึ่งอยู่ติดกับหอพัก ได้ออกแบบให้ห้องร่นระยะเข้าไปกลายเป็นพื้นที่ระเบียงเพื่อลดการปะทะกับอาคารใกล้เคียง โดยใช้การก่ออิฐเว้นช่องเพื่อบดบังสายตาจากภายนอกแทนผนังทึบ และมุงหลังคาด้วยวัสดุแบบโปร่งแสงเพื่อนำลมและแสงธรรมชาติเข้ามาภายในห้องนอนส่วนนี้ได้ โดยยังคงมีความเป็นส่วนตัว”
สีสัน วัสดุ และเส้นสายโค้งเว้า บอกเล่าความมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น
หนึ่งในโจทย์การ รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ทึบ ที่เจ้าของบ้านให้สถาปนิกคือ ต้องการให้บ้านมีเส้นสายโค้งเว้าอยู่ด้วย เพื่อให้ภาพรวมของบ้านดูไม่แข็งหรือดูโมเดิร์นมากจนเกินไป สถาปนิกจึงนำองค์ประกอบของเส้นโค้งไปใส่ในรายละเอียดต่างๆ ทั้งความโค้งของพื้น ผนัง ช่องซุ้มโค้ง ราวระเบียง เพื่อร้อยเรียงบรรยากาศให้เป็นภาษาเดียวกัน และเพิ่มความอ่อนโยนกับพื้นที่โดยไม่รบกวนสัดส่วนหลักของอาคาร “การเล่นเส้นสายโค้งช่วยให้สเปซดูลื่นไหล ลดทอนขนาดของพื้นที่ ทำให้ภาพรวมของบ้านดูน่ารักและเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น”
อีกหนึ่งองค์ประกอบที่น่าสนใจอย่างมาก คือ การเลือกใช้วัสดุหลากหลายเพื่อแต่งแต้มสีสันให้บ้านด้วยการใช้วัสดุอย่างอิฐ ไม้ และหินขัด เพื่อมอบโทนสีอบอุ่นและสร้างความชัดเจนให้เส้นสายโค้งมากกว่าการใช้โทนสีขาวล้วน โดยยังเลือกเก็บวัสดุพื้นเดิมไว้บางส่วน เช่น พื้นไม้ปาร์เกต์ เพื่อคงกลิ่นอายและเอกลักษณ์ของบ้านเดิมเอาไว้
ไม่ว่าบ้านจะสวยเพียงไร ก็ไม่เท่ากับการทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่อย่างมีความสุข “มุมโปรดคือบริเวณห้องนั่งเล่น ไม่คิดว่าการมีแสงธรรมชาติส่องลงมา จะสร้างมิติให้บ้านมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ทำให้บรรยากาศภายในบ้านมีความพิเศษ และสามารถอยู่ได้อย่างสบาย เพราะมีลมและแสงแดดอ่อนๆ ตลอดวัน” เจ้าของบ้านเล่าความประทับใจ ซึ่งน่าจะแสดงถึงการออกแบบที่สัมฤทธิ์ผล
เจ้าของ : คุณนันทิสา โชติรสนิรมิต
ออกแบบสถาปัตยกรรม – ออกแบบตกแต่งภายใน : Studio Mai Mai โดยคุณสุวิชญ์พงศ์ อาสนจินดา
เรื่อง : Nantagan
ภาพ : อภินัยน์ ทรรศโนภาส