บ้านไม้ไผ่ในสวน ที่มีน้องแมวกว่า 60 ตัว! - บ้านและสวน
บ้านไม้ไผ่ในสวน

บ้านไม้ไผ่ในสวน ที่มีน้องแมวอยู่ด้วยกว่า 60 ตัว

บ้านไม้ไผ่ในสวน ที่มีน้องแมวน่ารักๆกว่า 60 ตัวอยู่ด้วย ตัวบ้านมีแนวคิดหลักที่ลดการทำลายธรรมชาติให้มากที่สุด ใช้โครงสร้างหลักเป็นไม้ไผ่ประกอบกับดินผสมปูนโดยใช้ช่างพื้นถิ่น กลายเป็นที่พักสุดฟินของทาสแมว

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Mutchima Studio

การได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและสวนป่าที่ปลูกเองจากพรรณไม้พื้นถิ่น เป็นความตั้งใจแรกของ คุณจูดี้ – จุรีพร ไทยดำรงค์ ที่ตั้งใจหาพื้นที่พักผ่อนของตนในวัยหลังเกษียณ เนื่องจากอาชีพนักสร้างสรรค์งานโฆษณาของเธอนั้นทำให้เกิดภาวะเครียดและนอนไม่หลับ จึงอยากใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่สามารถเลือกเองได้ และด้วยความรักที่มีต่อแมวจรกว่า 60 ตัวที่อุปการะไว้ตั้งแต่ที่อาศัยอยู่กรุงเทพฯ จึงเกิดโครงการสร้างบ้านตากอากาศให้อยู่ร่วมกับหมู่แมวในบรรยากาศสวนป่า

บริเวณลานกิจกรรมที่ออกแบบให้เป็นลานกว้าง มีโซฟาเบดเอาต์ดอร์ขนาดใหญ่ให้น้องแมวได้มานอนอาบแดด ซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของสวน ที่สามารถมองเห็นบริเวณสวนแมวได้รอบ ใช้ทำกิจกรรมทั้งคนและแมว
คุณจูดี้ – จุรีพร ไทยดำรงค์ ผู้สร้างอาณาจักรแมวขึ้นด้วยความรัก
กลอนประตู โดยเจาะไม้ไผ่เป็นช่องและทำตัวคั่นแบบที่เราเคยเห็นกันในชนบท แต่แอบมีลูกเล่นเป็นหัวแมวน่ารัก

บ้านไม้ไผ่ ความยั่งยืนที่เริ่มจากแนวคิด

การออกแบบเบื้องต้น ฟังก์ชัน และคอนเซ็ปต์ได้ถูกวางโดย คุณนัท – ณัฐวุฒิ มัชฌิมา และทีม Mutchima Studio ซึ่งออกแบบให้คุณจูดี้เมื่ออยู่กรุงเทพฯ แต่เมื่อสถานที่ก่อสร้างอยู่ที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ จึงได้รับความช่วยเหลือจาก คุณเล็ก-วิศิษฏ์ จิวะกุล แห่ง Le Motif Architecture เป็นผู้ดูแลโครงการและให้ อาจารย์เดชา เตียงเกตุ จาก Bamboo Family และ คุณมิ้นท์ – จุลดิศ สิทธิบรรเจิด จาก Banjerd Atelier เป็นผู้ปรับแบบและก่อสร้างให้เหมาะสมกับพื้นที่ตั้งที่เป็นเนินเขา

ประตูหลักจะเป็นประตูสองชั้นแบบ Double Lock ที่ออกแบบให้มีฐานประตูสูงกันแมวออก
ประตูทางเข้าด้านในออกแบบให้เป็นเวิ้งโดยมีประตูด้านในอีกชั้นหนึ่ง เป็นสวนเล็กของน้องแมวที่ชอบสันโดษแยกตัวแต่ก็ยังปลอดภัย

            คุณจูดี้อยากให้โครงสร้างของสวนแมวและบ้านเป็นไม้ไผ่ ผู้ออกแบบจึงใช้โครงสร้างหลักเป็นไม้ไผ่ประกอบกับดินผสมปูนโดยใช้ช่างพื้นถิ่น ซึ่งมีแนวคิดหลักที่ลดการทำลายธรรมชาติให้มากที่สุด ใช้วัสดุและไม้ที่เหลือจากโรงงานมาประกอบกัน ที่สำคัญรูปแบบของอาคารโครงสร้างต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสภาพแวดล้อม ทำให้ทั้งแมวและคนไม่รู้สึกแปลกแยก และอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน คุณมิ้นท์บอกเราว่าความยากและท้าทายในการก่อสร้างนอกจากพื้นที่ซึ่งเป็นป่าแล้ว ยังเป็นเรื่องของการจัดการไม้ไผ่ ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอนกว่าจะนำมาใช้งานได้ ทั้งการเลือกใช้ช่างที่มีความชำนาญในการใช้เครื่องมือซึ่งเป็นช่างพื้นถิ่นทั้งหมด การนำเทคนิคใช้โครงสร้างไม้ไผ่โดยปราศจากโครงเหล็ก แต่ใช้ดินผสมปูนก่อให้เกิดความแข็งแรงคงทน ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์และความชำนาญทั้งสิ้น

ห้องพักรวมของน้องแมวที่มีส่วนภายนอกและภายในอาคาร ออกแบบให้มีหลังคาเป็นลักษณะเหมือนนกโอบปีกล้อมบ้านไว้ ในส่วนนี้ยังเป็นหอบริบาลสำหรับแมวป่วยเป็นระบบปิดอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้แมวติดโรคกัน โดยทำกำแพงดินผสมปูนมีความสูงเกือบจรดหลังคา แต่มีช่องว่างให้แสงธรรมชาติเข้าและระบายอากาศ
ด้านในก่อผนังดินเป็นทรงกลม และทำชั้นกับบ้านแมวทรงกล่องให้น้องแมวได้เลือกสรรจับจองได้ตามต้องการ
เรือนครัวใช้สำหรับเตรียมอาหารทั้งของคุณจูดี้และของแมว ออกแบบให้ใช้งานได้สะดวกโดยใช้สัดส่วนของคนและให้แมวได้เป็นที่พักมองวิวได้
โต๊ะรับประทานอาหารแบบบาร์อยู่ในบริเวณครัว ทำจากไม้ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีน้องแมวมาใช้บริการเป็นประจำร่วมกับคุณจูดี้ด้วยเสมอ

กลับมาอยู่กับธรรมชาติในบ้านต้นไม้

แรกเริ่มคุณนัทและทีมผู้ออกแบบได้วางผังบริเวณเป็นรูปแมวนอนขด เป็นสัญลักษณ์ของความอบอุ่นและปลอดภัย ประกอบด้วยลานกิจกรรมตรงกลาง เรือนนอนรวมของน้องๆที่ชอบอยู่เป็นกลุ่มและเป็นหอบริบาลสำหรับแมวป่วย มีบ้านต้นไม้แมวรายล้อมท่ามกลางสวนที่มีลำธารชุ่มชื้น และห้องครัวเมื่อบรรดาน้องแมวเริ่มปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ดีขึ้น คุณจูดี้ก็อยากใช้เวลาที่มีไปกับการได้อยู่ใกล้ชิดน้องแมวด้วย จึงได้สร้างบ้านต้นไม้ของตัวเองเพื่อใช้พักผ่อนดูแลแมวจากด้านบนซึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ ทำให้เห็นพื้นที่ได้รอบและสามารถชมวิวป่าเขาได้อย่างเต็มตา บ้านต้นไม้เป็นเพียงเรือนไม้ไผ่ 3 ชั้น ล้อมต้นไม้ใหญ่ มีทางขึ้น ชานพัก ระเบียงชมวิว และชั้นบนที่เป็นห้องใต้หลังคา จัดเป็นที่นอนโดยวางฟูก เครื่องนอน และมุ้งกันยุงแบบเรียบง่าย และใกล้ชิดธรรมชาติ มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเท่าที่จำเป็น ส่วนห้องน้ำได้สร้างไว้ภายนอกกรงสวนแมว ฝั่งเดียวกับบ้านต้นไม้ ซึ่งเดินเข้า-ออกได้อย่างสะดวกสบาย และมีห้องครัวแยกอยู่อีกเรือน

บริเวณระเบียงชั้น 2 ของบ้านออกแบบให้เป็นระเบียงกว้างเหมือนฐานทัพ สามารถมองวิวภายนอกสวนแมวและภายในสวนแมวได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง
บ้านต้นไม้ของคุณจูดี้ที่ใช้พักผ่อนใช้ชีวิตร่วมกับน้องแมว เป็นโครงสร้างไม้ไผ่ล้อมต้นไม้ใหญ่เพื่อให้รู้สึกแนบชิดและกลมกลืนไปกับธรมชาติ
ในบ้านต้นไม้ชั้น 1 ทำเคาน์เตอร์บาร์ยาวไว้จิบกาแฟตอนเช้าชมวิวและมีน้องแมวนั่งเป็นเพื่อนไม่ขาด
ชั้น 2 เป็นส่วนพักผ่อนนั่งเล่นแบบเปิดโล่งให้พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติแบบยั่งยืน ออกแบบไฟแสงสว่างซ่อนในกระบอกไม้ไผ่ที่ดูกลมกลืนกับเสาบ้าน
อีกด้านของส่วนพักผ่อนชั้น 2 เป็นระเบียงกว้างอยู่กลางแจ้งใต้ร่มไม้สำหรับชมวิวทั้งภายนอกสวนแมวและภายในสวนแมว
ชั้น 3 เป็นบริเวณส่วนนอนซึ่งคุณจูดี้เรียกว่า “ห้องใต้หลังคา” เป็นโถงโล่งที่มีเพียงชุดเครื่องนอนที่จำเป็น แต่อยู่เย็นสบายภายใต้โครงสร้างไม้ไผ่ ซึ่งน้องแมวก็จะผลัดเปลี่ยนกันมานอนข้างๆอย่างอบอุ่น
มุมมองจากระเบียงเห็นการสร้างอาคารที่อยู่ร่วมกับบริบทอย่างกลมกลืน
ห้องน้ำออกแบบแยกการใช้งานเป็นสัดส่วน ทั้งในโซนอาบน้ำที่เป็นอ่างวงกลมขนาดใหญ่เปิดโล่งเห็นวิวธรรมชาติ

สวนของแมวในอ้อมกอดของหุบเขา

            การอพยพน้องแมวจรจากกรุงเทพฯ มาอยู่ท่ามกลางสวนป่าธรรมชาติและหุบเขาที่มีพื้นที่กว่า 300 ไร่ เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด -19 เพราะต้องการให้มีคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดี ไม่ต่างจากคุณจูดี้เองที่หลงใหลความเป็นสวนป่า โดยจัดวางเลย์เอาต์เป็นเนินต่ำขั้นบันได ซึ่งผู้ออกแบบพยายามใช้แนวดินเดิม แต่เพิ่มเติมสวนแบบทรอปิคัล โดยปลูกพืชสมุนไพรที่แมวชอบแทรกเข้าไป เช่น กัญชาแมว ไผ่แมว ตะไคร้หอม ตำแยแมว ซึ่งมีสรรพคุณให้น้องแมวผ่อนคลาย ขจัดก้อนขน แก้เบื่ออาหาร ไล่ยุง ขับพิษแก้ไขให้อาเจียนได้ตามลำดับ และแบ่งสวนให้มีลำธารไหลผ่าน เลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด ทุกพื้นที่เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินและสะพานขนาดเล็กที่คนเดินได้แมวเดินดี แล้วยังมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างต้นไม้ให้น้องแมวเดินเล่นได้รอบ มองวิวได้ทั้งด้านล่างและด้านบนทำให้น้องไม่เบื่อและอึดอัด

ออกแบบสวนให้มีลำธารไหลผ่าน เพื่อสร้างระบบนิเวศให้แมวและให้ความรู้สึกชื่นฉ่ำผ่อนคลาย
สะพาน Sky Walk เชื่อมจากต้นไม้หนึ่งไปยังต้นไม้หนึ่งโดยรอบ ให้แมวได้เดินดูวิวและเปลี่ยนอิริยาบถให้เหมาะสมกับการเป็นนักล่า 

บ้านในสวนระบบปิด

การออกแบบสวนสำหรับแมวเป็นระบบปิด คือ ก่อสร้างกรงขนาดใหญ่มีรั้วรอบขอบชิด สร้างระบบนิเวศภายในโดยครอบต้นไม้เดิมเกือบทั้งหมด ทำบ้านเล็กๆบนต้นไม้ที่เหมาะสำหรับแมวที่ชอบอยู่ลำพังไม่สุงสิงกับใคร มีส่วนกลางที่คนกับแมวใช้ร่วมกันคือ ลานวงกลมที่เสมือนเป็นแลนด์มาร์กของสวน เป็นจุดที่ให้คนกับแมวได้ใช้นั่งเล่น ผึ่งแดด และสามารถมองเห็นได้รอบบริเวณ ทั้งนี้ผู้ออกแบบยังคำนึงถึงความปลอดภัยของคนกับแมว โดยออกแบบให้ประตูทางเข้า-ออกทั้งสามจุดเป็นประตูสองชั้นแบบ Double Lock เพื่อกันแมวลอดออกไปได้

บ้านต้นไม้ของน้องแมว ออกแบบโดยอิงจากต้นไม้เดิมที่มีอยู่แล้ว สร้างเป็นบ้านหลังเล็กๆสำหรับแมวที่ชอบอยู่อย่างสันโดษ ทำจากไม้เก่าที่มีอยู่ในโรงงานและบันไดเหล็กแบบบันไดลิงแต่ให้แมวปีน ทำทางเชื่อมเป็น Sky Walk ระหว่างต้นไม้ด้วยไม้ไผ่ผูกกันลักษณะเป็นสะพานเชื่อมต้นไม้แต่ละต้น
โครงหลังคาเกิดจากการมัดและดัดลำไผ่ให้เกิดเป็นรูปทรงและมุงด้วยใบหญ้าคา ออกแบบให้มีความสูงเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี
ช่องแสงจากขวด ใช้ก้นขวดแก้วตัดแล้วมาประกอบกับผนังดินผสมปูนเพื่อให้เกิดช่องแสง จัดวางเป็นจังหวะเป็นลูกเล่นตกแต่งผนังอย่างสวยงาม
ตั้งเสาบนฐานปูนพันด้วยเชือกให้เป็นทั้งตัวจบงานและให้น้องแมวได้ใช้ฝนเล็บได้อีกด้วย
เข้าเดือยไม้ ประกอบโครงไม้ไผ่ด้วยการทาบและประกบ แล้วยึดด้วยเดือยไม้ โชว์การจัดเรียงโครงสร้างที่สวยงาม

คุณจูดี้ได้เล่าให้ฟังแบบอมยิ้มว่า ความตั้งใจแรกนั้นจะอยู่ที่นี่ใช้ชีวิตอยู่กับแมวทั้งฝูง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะแบ่งปันให้คนที่รักน้องแมวและอยากใช้ชีวิตแบบเธอได้ทดลองอยู่กับน้องแมวบ้าง หลังจากอยู่เองได้ระยะหนึ่งจึงเปิดให้คนที่รักแมวเหมือนกันได้เข้ามาเล่นกับน้องแมวในตอนกลางวัน และสามารถจองห้องพักในบ้านต้นไม้ให้ได้ฟินแบบคุณจูดี้อย่างทุกวันนี้ ติดตามได้ที่เพจ Suan Meow Cat Garden Mae Wang

เจ้าของ : คุณจุรีพร ไทยดำรงค์

ควบคุมโครงการ : Le Motif Architecture

ออกแบบ : Mutchima Studio โทรศัพท์ 08-1629-4163 

ออกแบบและก่อสร้าง : Bamboo Family โทรศัพท์ 0-5200-0187 และ Banjerd Atelier โทรศัพท์ 08-1595-9517

ออกแบบสวน : คุณอรรฒพร เสลานนท์ โทรศัพท์ 06-4845-3783


เรื่อง : Jeedwonder

ภาพ  : ฤทธิรงค์ จันทองสุข, อภินัยน์ ทรรศโนภาส  

สไตล์ : Suntreeya

รวมแบบบ้านไม้ไผ่ อยู่ได้จริง อยู่ได้ยาวนาน

วิธีสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่