รวม แบบบ้านสไตล์ปักษ์ใต้ ที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศแบบฝนตกชุก
ด้วยสภาพภูมิอากาศที่ต้องเผชิญกับลมมรสุม ทำให้ แบบบ้านสไตล์ปักษ์ใต้ ต้องรับมือกับแดด ลม ฝน ได้ดี เราจึงมักเห็นบ้านพื้นถิ่นภาคใต้นิยมใช้หลังคาปั้นหยาที่พัฒนามาจากหลังคาจั่ว แต่มีชายคาลาดเอียงทั้งสี่ด้าน สามารถกันแดดกันฝนได้รอบ เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของภาคใต้ที่ร้อนและมีฝนตกชุก
นอกจากนี้ แบบบ้านสไตล์ปักษ์ใต้ ยังมีเอกลักษณ์จากวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นงานช่าง งานหนัง งานผ้า ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบบ้านให้ดูน่าสนใจและมีเรื่องราว เรามีตัวอย่างบ้านกลิ่นอายปักษ์ใต้บ้านเรามาให้ชมกัน
บ้านไม้สไตล์ปักษ์ใต้ร่วมสมัยแห่งพัทลุง
- เจ้าของ : ครอบครัวรอดสุด
- สถาปนิก : ตื่น ดีไซน์ สตูดิโอ และคุณอรวี เมธาวี
- ก่อสร้าง : คุณบุญฤทธิ์ สมุหเสนีโต
บ้านไม้สไตล์ปักษ์ใต้ที่เกิดขึ้นจากภาพความทรงจำในวัยเด็กของเจ้าของที่มีต่อบ้านหลังเดิมของคุณตาคุณยาย โดยออกแบบบ้านให้มีพื้นที่น่าใช้สอย เช่น การวางเรือนตามเเนวตะวัน ออกแบบบันไดให้อยู่ทางทิศตะวันตกเพื่อกันเเดดบ่าย วางห้องน้ำไว้ทางทิศตะวันออก แล้วเปิดทิศเหนือและทิศใต้ให้โล่งที่สุดเพื่อที่จะเชื่อมบ้านกับสวนเข้าด้วยกัน เป็นการผสานภาพร่างของความทรงจำเหล่านั้นให้เป็นจริง >> อ่านต่อ
เรือนไม้โบราณหลังนี้หัวใจไม่เคยลืม
- เจ้าของ : คุณธีรพงษ์ – คุณสิริพันธ์ พฤฒิพิบูลธรรม
- สถาปนิก : คุณศรัณย์ สาเมือง
- มัณฑนากร : คุณไอริณ ประสงค์ชัยกุล
เรือนไม้โบราณหลังงามริมถนนตลาดใหม่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัวบ้านเป็นเรือนไม้มนิลาซึ่งเป็นการผสมระหว่างหลังคาจั่วกับหลังคาปั้นหยา โดยแบบหลังเป็นเอกลักษณ์ของบ้านในภาคใต้ และยังคงเก็บรายละเอียดของอาคารไม้หลังเก่าได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของหน้าต่างไม้ที่มีช่องกระจกสีด้านบน พื้นกระดานไม้เคี่ยมซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน หรือช่องลมลายฉลุที่บอกเล่าถึงความประณีตของงานช่างสมัยก่อน เฟอร์นิเจอร์และของประดับส่วนใหญ่เป็นของเก่าที่สมาชิกในครอบครัวเก็บสะสมเอาไว้ หรือของที่หาได้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ด้วยความต้องการของเจ้าของบ้านที่ไม่อยากให้ศิลปะพื้นถิ่นหายสาบสูญไป บ้านหลังนี้ยังได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2554 อีกด้วย >> อ่านต่อ
เสน่ห์บ้านไม้เก่า กลิ่นอายพื้นถิ่นภาคใต้
- เจ้าของ – ตกแต่ง : คุณทรงพร – คุณฟองทิพย์ วุฒิวงศา
บ้านไม้เก่า กลิ่นอายพื้นถิ่นใต้ หลังนี้ ปรากฏร่องรอยของการผ่านร้อนผ่านหนาวบนท่อนไม้เก่า ซึ่งเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติอันยากที่จะลอกเลียนแบบ ผสมผสานการตกแต่งแบบ “บ้านชาวบ้านพื้นถิ่น” ด้วยเครื่องเรือน ของใช้เก่าๆ และกลิ่นอายวัฒนธรรมภาคใต้ จนกลายเป็นรูปแบบอันสวยงามแปลกตาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว >> อ่านต่อ
บ้านคอนกรีตเสริมเหล็กสีสดที่เต็มไปด้วยศิลปะของผู้สืบสานโนราโรงครู
- เจ้าของ : ครอบครัวทวีคูณ (แสงเกลี้ยง อ่อนเจริญ อ่อนศรี และชิตพิทักษ์)
- ออกแบบ : ทวีคูณสถาปนิก โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.เขียนศักดิ์ แสงเกลี้ยง
บ้านของผู้สืบสานโนรา ศิลปะการแสดงพื้นเมืองอย่างหนึ่งของภาคใต้ บ้านหลังนี้สร้างใหม่บนที่ดินเดิมของครอบครัว โดยรื้อบ้านไม้เดิมออกและแปรสภาพเป็นวัสดุในการสร้างบ้านใหม่ เป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้นที่สะดุดตาด้วยการใช้สีสดตัดกัน โดยได้แรงบันดาลใจจากสีสันเครื่องแต่งกายของโนรา และการผสมผสานองค์ประกอบงานเหล็ก ไม้ และคอนกรีตได้อย่างมีศิลปะ ขณะที่ภายในบ้านเน้นพื้นที่เปิดโล่งที่เชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งสองชั้น >> อ่านต่อ
เรียบเรียง : Tarnda
ภาพ: คลังภาพบ้านและสวน