พันธุ์องุ่น 4 สายพันธุ์ รับประทานผลสด ปลูกได้ดีในเมืองไทย - บ้านและสวน
พันธุ์องุ่น

4 พันธุ์องุ่นปลูกกินผลก็ดี ทำซุ้มให้ร่มเงาก็ได้ด้วย

องุ่น (Grape) เป็นผลไม้รับประทานสดอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา มีให้เลือกทั้ง พันธุ์องุ่น ผลสีเหลืองอมเขียว สีม่วงแดง และสีม่วงดำ ทั้งพันธุ์มีเมล็ดและไร้เมล็ด ผลมีน้ำตาลกลูโคส ซูโครส วิตามินซี เหล็ก และแคลเซียม ช่วยบำรุงสมอง บำรุงหัวใจ แก้กระหาย ขับปัสสาวะ และบำรุงกำลัง

องุ่น จัดเป็นไม้ผลเขตกึ่งร้อน ลำต้นของ พันธุ์องุ่น ทอดเลื้อย ชอบดินเหนียวปนดินร่วน แสงแดดตลอดวันหรือครึ่งวัน ไม่ทนน้ำท่วมขัง ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ ตอนกิ่ง ติดตา เสียบยอด และเสริมราก หากมีพื้นที่จำกัดควรเลือกปลูกพันธุ์ที่มีข้อสั้น สามารถปลูกได้ทั้งแบบลงดินหรือปลูกในกระถาง โดยเลือกกิ่งพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศร้อนและทนโรค

พันธุ์องุ่น
การปลูกองุ่นให้ประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วยพันธุ์ดี พื้นที่ปลูกเหมาะสม และการจัดการที่ถูกต้อง หากมีครบทั้ง 3 อย่างนี้ รับรองว่าคุณจะได้รับประทานองุ่นสด ๆ ที่ลงมือปลูกด้วยตนเองอย่างแน่นอน

การจะปลูกองุ่นให้ประสบความสำเร็จ ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ส่วน คือ

  1. องุ่นพันธุ์ดี
  2. พื้นที่ปลูกเหมาะสม
  3. การจัดการที่ถูกต้อง

ซึ่งพันธุ์ วิธีจัดการ และพื้นที่ปลูกนั้น มีความหลากหลายค่อนข้างมาก พันธุ์หรือพื้นที่ปลูกที่ต่างกัน จะมีผลทำให้ผู้ปลูกต้องใช้วิธีการจัดการที่ต่างกันตามไปด้วย หนึ่งในคำถามที่มักพบเป็นประจำจากผู้ที่สนใจจะปลูกองุ่นก็คือ “มีองุ่นพันธุ์ใดบ้างที่ปลูกได้ดีในสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของประเทศไทย”

เราจะพาทุกคนไปค้นหาคำตอบก่อนเลือกซื้อ พันธุ์องุ่น ไปปลูกกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ โดยได้รับข้อมูลจาก ผอ.วิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หนึ่งในนักวิจัยที่ศึกษาวิจัยเรื่ององุ่นมาอย่างต่อเนื่อง

พันธุ์องุ่น
อีกหนึ่งหลักการเลือกพันธุ์องุ่นไปปลูกก็คือ พันธุ์นั้นต้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ

หลักการเลือก พันธุ์องุ่น

  1. เป็นพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ เพราะองุ่นจะสร้างตาดอกได้ดีในสภาพที่มีอุณหภูมิไม่สูงเกินไป เช่น พันธุ์รูบี้ซีดเลส พันธุ์เฟรมซีดเลส จะออกดอกและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพอากาศค่อนข้างเย็น เมื่อนำองุ่น 2 พันธุ์นี้ไปปลูกในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง จะทำให้ติดผลได้ไม่ดีนัก
  2. เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตคุณภาพดี เช่น ลักษณะตรงตามพันธุ์ รสชาติหวาน หอม กรอบ และมีระยะเวลาตั้งแต่การตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตสั้น เพราะจะทำให้ง่ายต่อการจัดการ และลดความเสียหายที่เกิดจากฝน
  3. ควรหลีกเลี่ยงพันธุ์ที่มีข้อจำกัด เช่น อ่อนแอต่อโรคและแมลงบางชนิด หรือพันธุ์ที่ผลแตกง่าย
  4. เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ (กรณีปลูกเพื่อการค้า)

ตัวอย่างพันธุ์องุ่นรับประทานผลสดที่มีศักยภาพและปลูกได้ดีในประเทศไทย

พันธุ์องุ่น

พันธุ์บิวตี้ซีดเลส (Beauty Seedless)

ผลผลิตมีคุณภาพดี ผลทรงกลมรีสีดำ ขนาดกลาง ไม่มีเมล็ด เจริญเติบโตเร็ว ค่อนข้างแข็งแรง ให้ผลผลิตสูงทุกฤดูที่ตัดแต่งกิ่ง ปลูกได้ดีในทุกระดับความสูงของพื้นที่ในประเทศไทย

พันธุ์องุ่น

พันธุ์ลูสเพอร์เลท (Loose Perlette)

ผลผลิตมีคุณภาพดีมาก ผลทรงกลมสีเหลืองอมเขียวถึงเหลืองทอง ขนาดเล็ก ไม่มีเมล็ด ความหวานสูง กลิ่นหอม เนื้อแน่นกรอบ เปลือกผลบาง แต่ผลจะแตกง่ายหากได้รับน้ำมากหรือไม่สม่ำเสมอในระยะผลใกล้แก่ ให้ผลผลิตได้ดีในทุกระดับความสูงของพื้นที่ในประเทศไทย

พันธุ์แบล็คโอปอล (Black Opal)

ผลผลิตมีคุณภาพดี ผลทรงกลมสีดำ ขนาดกลาง ไม่มีเมล็ด เป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูงทุกฤดูที่ตัดแต่ง ปลูกได้ในทุกระดับความสูงของพื้นที่ในประเทศไทย

พันธุ์องุ่น

พันธุ์เฟรมซีดเลส (Frame Seedless)

ผลผลิตมีคุณภาพดีมาก ผลทรงกลมสีแดง ขนาดกลาง ไม่มีเมล็ด เนื้อแน่นกรอบ เปลือกผลบาง ต้องการอากาศค่อนข้างเย็น การปลูกในพื้นที่ราบพบว่าให้ผลผลิตไม่ดีเท่ากับพื้นที่สูง เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ออกดอกและให้ผลผลิตได้ดีในสภาพอากาศเย็น

ผอ.วิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กับนวัตกรรมการปลูกองุ่นต้นเตี้ย ซึ่งทำให้สะดวกต่อการปฏิบัติงานและลดต้นทุนการผลิต เหมาะสมต่อการผลิตองุ่นแบบประณีตและคุณภาพสูง ที่สำคัญคือ เหมาะต่อการทำงานของเกษตรกรที่สูงอายุหรือมีปัญหาด้านร่างกาย

หลังจากได้ทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับพันธุ์องุ่นรับประทานผลสดที่มีศักยภาพและปลูกได้ดีกับสภาพอากาศในประเทศไทยกันไปแล้ว โอกาสหน้าจะมาแนะนำเทคนิคการปลูก การดูแลและจัดการแบบง่าย ๆ แต่ถูกหลักวิชาการ ซึ่งผู้สนใจที่อยากจะปลูกองุ่นไว้รับประทานเองที่บ้านก็สามารถทำได้ โดยอาจปลูกเป็นซุ้มไม้เลื้อยช่วยบังแดดในลานจอดรถ หรือลานอเนกประสงค์หน้าบ้านทั้งยังได้กินผลด้วย

เรื่อง : แดนไทย

ข้อมูลและภาพ : ผอ.วิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)