ถั่วพูกินราก ของดีราชบุรี กินฝักก็ดี กินรากก็ได้ - บ้านและสวน
ถั่วพูกินราก

ถั่วพูกินราก ของดีราชบุรี กินฝักก็ดี กินรากก็ได้

หากถามว่า “ใครเคยรับประทานรากถั่วพูต้มให้ยกมือขึ้น” คงจะมีคนยกมือไม่มากนัก เพราะ “ถั่วพู” ที่หลายคนรู้จัก คือ ถั่วฝักสดที่นำมารับประทานคู่กับน้ำพริก หรือนำฝักมาผ่านความร้อน ปรุงเป็นเมนูอาหารรสเลิศ เช่น ยำถั่วพูกุ้งสด ผัดพริกแกงหมูใส่ถั่วพู แต่วันนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ถั่วพูกินราก ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า “สามารถนำรากมารับประทานได้ด้วย!!”

ถั่วพูกินราก
วิถีการต้มรากถั่วพูของคนในชุมชนอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ถั่วพูกินราก ที่กล่าวถึงนี้ เป็นหนึ่งในพืชท้องถิ่นของชุมชนอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีการปลูกสืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ในอดีตคนในชุมชนนิยมกินรากถั่วพูเพราะเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย บวกกับความเหนียวนุ่มและกลิ่นหอมเฉพาะของรากที่ต้มเสร็จก็ชวนรับประทาน จึงมีการปลูกสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงทุกวันนี้ กระทั่งมีการรวมกลุ่มผู้ปลูกถั่วพูกินรากแปลงใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอโพธารามเป็นพี่เลี้ยง คาดว่าจะได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เร็ว ๆ นี้

ถั่วพูกินราก
ลักษณะรากของถั่วพูที่ขุดขึ้นมาจากดิน

การปลูก ถั่วพูกินราก

ถั่วพูกินราก จัดเป็นถั่วพูพันธุ์หนัก ซึ่งเป็นพันธุ์เฉพาะที่สามารถบริโภครากได้ (ไม่ใช่ถั่วพูที่ปลูกรับประทานฝักทั่วไป) โดยเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง และเตรียมแปลงก่อนปลูกโดยหว่านเมล็ดปอเทืองเพื่อบำรุงดินให้ร่วนซุย ระบายน้ำดี และเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินในรูปแบบปุ๋ยพืชสด

เกษตรกรนิยมหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูฝน ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องการให้น้ำได้พอสมควร แปลงปลูกยกร่องสูง 20 – 30 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 100 x 100 เซนติเมตร ขุดหลุมลึก 2 – 3 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดหลุมละ 3 เมล็ด ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากหยอดเมล็ดจึงจะถอนรากขึ้นมารับประทานได้ ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี

นอกจากนี้ ยังนิยมปลูกถั่วพูกินรากผสมผสานกับข้าวโพด โดยหยอดเมล็ดข้าวโพดไปพร้อม ๆ กับถั่วพู เนื่องจากข้าวโพดโตเร็วจึงช่วยให้ร่มเงา เมื่อข้าวโพดเจริญเติบโตจนให้ผลผลิตก็เก็บฝักไปขาย จากนั้นจึงตัดส่วนยอดไปเลี้ยงโค ส่วนโคนต้นของข้าวโพดจะปล่อยไว้เพื่อใช้เป็นหลักให้ต้นถั่วพูเลื้อยขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องปักไม้ค้าง

ถั่วพูกินราก
แปลงถั่วพูที่เหลือส่วนโคนต้นข้าวโพดไว้ เพื่อใช้เป็นหลักให้ต้นถั่วพูเลื้อยขึ้น

การดูแลรักษา

ระยะแรกต้องรดน้ำทุกวัน เช้า-เย็น กระทั่งต้นเจริญเติบโตจึงเว้นระยะการให้น้ำตามสภาพอากาศ อาจพบโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิม โรคใบจุด เป็นครั้งคราว หรือพบโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรครากเน่า บริเวณที่ดินมีน้ำขัง และพบแมลงศัตรูเข้ากัดกินดอกอ่อนและฝักอ่อนประปราย ไม่รุนแรงนัก อาจเพราะในรอบ 1 ปี มีการปลูกถั่วพูเพียงครั้งเดียว และมีการพักแปลงไปปลูกพืชชนิดอื่นสลับกัน จึงช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูได้อีกช่องทางหนึ่ง

การเก็บเกี่ยว

ขุดรากเมื่อถั่วพูมีอายุประมาณ 6 เดือน นับจากวันที่หยอดเมล็ด ตัดแต่งรากฝอยออก แล้วนำไปล้างทำความสะอาด จนได้รากถั่วพูที่ขาวสะอาด

คนในชุมชนกำลังทำการเก็บเกี่ยวรากถั่วพู โดยฤดูกาลเก็บเกี่ยวรากถั่วพูคือประมาณปลายเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี
ทำการตัดแต่งรากถั่วพูก่อนนำไปล้างทำความสะอาด
รากถั่วพูที่คัดเกรดและตัดแต่งรากแขนงออกเป็นที่เรียบร้อย พร้อมนำไปล้างน้ำทำความสะอาด

การต้ม ถั่วพูกินราก

หลังจากล้างทำความสะอาดรากถั่วพูเรียบร้อยแล้ว นำไปต้มประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อรากเริ่มนิ่มจึงใส่น้ำตาลทรายลงไปเล็กน้อยเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ ต้มต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงจึงใส่เกลือลงไป ระหว่างนี้ต้องเพิ่มไฟให้แรงขึ้น และต้มต่ออีกประมาณ 15 นาทีเพื่อให้น้ำตาลและเกลือซึมเข้าถึงเนื้อในของราก ก็เป็นอันเสร็จกระบวนการ รับประทานได้

รากถั่วพูที่ล้างทำความสะอาดแล้ว พร้อมนำไปต้ม
ใช้เวลาต้มรากถั่วพูประมาณ 4 ชั่วโมงจึงจะรับประทานได้
ถั่วพูกินราก
รากถั่วพูต้มมีสัมผัสเหนียวนุ่ม กลิ่นหอมชวนรับประทาน
คัดคุณภาพรากถั่วพู และจัดจำหน่ายตามออเดอร์ที่มีการสั่งจองล่วงหน้าข้ามปี

อนึ่ง เรื่องราวของถั่วพูกินรากที่นำมาฝากนี้ สื่อให้เห็นถึง

  1. ในแต่ละท้องถิ่น แต่ละชุมชน น่าจะมีพืชที่เป็นอัตลักษณ์ซึ่งสามารถนำมาสร้างเรื่องราวและจุดเด่นเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพให้กับคนในชุมชนนั้น ๆ ได้
  2. ถั่วพูกินรากเป็นพืชที่หนึ่งปีมีผลผลิตให้รับประทานหนึ่งครั้ง จึงเป็นจุดขายที่น่าสนใจ และช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตมีมากเกินความต้องการของตลาด
  3. การปลูกพืชผสมผสานระหว่างรอถั่วพูให้ผลผลิต เช่น การปลูกข้าวโพด หรือพืชชนิดอื่นที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ทำให้มีรายได้อีกหนึ่งช่องทาง
  4. การพักแปลงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรู
  5. มาตรฐานความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญ คนในชุมชนจึงพร้อมใจกันปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรีและสำนักงานเกษตรอำเภอโพธาราม ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงปลูกถั่วพูกินรากของสมาชิกลุ่มและให้ความรู้เรื่องการทำมาตรฐาน GAP

เรื่อง : แดนไทย

ข้อมูลและภาพ : คุณภณกฤด อุ่นพิพัฒน์ และคุณภรณ์ทิพย์ สุจจิตร์จูล สำนักงานเกษตรอำเภอโพธาราม กรมส่งเสริมการเกษตร

 

ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ สู้วิกฤติแบบฟาร์มโกติ๊ก จ.ภูเก็ต

เล้าไก่และแปลงผัก อยู่ด้วยกันแบบพึ่งพา