ปลูกผักเลี้ยงปลา ด้วยระบบอะควาโปนิกส์แบบคนเมือง- บ้านและสวน

คุณหมอเคน : อะควาโปนิกส์ อยู่ในเมืองพื้นที่จำกัดก็ปลูกผักเลี้ยงปลาได้

นอกจากข้อจำกัดในการปลูกผักในเมืองจะเป็นเรื่องขนาดพื้นที่แล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่คุณหมอเคน – ทพ. กษิดิศ วชิรปราการสกุล บอกกับเราคือเรื่องดิน การปรุงดินเองที่ต้องใช้เวลายาวนานหรือการหาแหล่งซื้อดินที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับคนเมือง การทำระบบอะควาโปนิกส์ จึงเป็นคำตอบที่เหมาะกับเขามากที่สุด จากนั้นจึงศึกษาเรียนรู้ และลงมือทำ

ปลูกผักเลี้ยงปลา

อะควาโปนิกส์ เป็นรูปแบบการปลูกพืชที่ประยุกต์มาจากการปลูกพืชด้วยน้ำหรือไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponics) ผสมผสานกับการเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำ (Aquaculture) โดยใช้น้ำที่เป็นของเสียจากการเลี้ยงปลาเป็นปุ๋ยให้พืชผัก ผ่านกระบวนการย่อยสลายตามธรรมชาติโดยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีเหมาะแก่การเลี้ยงปลา เป็นระบบ Eco System การพึ่งพากันของสิ่งมีชีวิต ใช้พื้นที่น้อยแต่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูง ทั้งยังประหยัดน้ำมากกว่าการทำเกษตรทั่วไปได้ถึง 90% และมีพื้นที่แค่เพียง 2 x 2 เมตร ก็ทำอะควาโปนิกส์ฉบับทดลองปลูกได้

ข้อดี ประโยชน์ของการทำอะควาโปนิกส์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคุณหมอเคน ทำให้เขาศึกษา เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วลงมือออกแบบ หาวัสดุอุปกรณ์ เรียนรู้เรื่องการปลูกผัก เลี้ยงปลา รวมทั้งทำงานช่างสร้างระบบด้วยตัวเอง พัฒนาจนได้ระบบอะควาโปนิกส์แบบไฮบริดหรือระบบลูกผสม ที่ควบคุมการไหลของน้ำทั้งในบ่อเลี้ยงปลาและกระบะปลูกผัก ทั้งแปลงปลูกด้วยน้ำลึก (DWC) แปลงปลูกแบบที่ใช้วัสดุปลูก (Media Bed) ติดตั้งกาลักน้ำ และแปลงปลูกแบบวิคกิ้ง (Wicking Bed) ซึ่งพืชผักได้รับน้ำทางรากอย่างทั่วถึง ช่วยลดเวลาในการให้น้ำและประหยัดน้ำในช่วงหน้าร้อนได้มากด้วย

“พืชที่ปลูกต้องเป็นพืชที่ชอบน้ำในระดับหนึ่ง เพราะแปลงปลูกจะต้องมีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา เลือกที่เป็นผักใบเขียว อย่างสลัด สวิสชาร์ส ผักกาดขาว เคล วอเตอร์เคส จะปลูกง่าย ผักกินผลบางชนิดก็ปลูกได้อย่างมะเขือเทศ ผักที่ปลูกจะเติบโตเร็ว สะอาด ไม่มีสารปนเปื้อนจากดิน และปลูกได้ตลอดทั้งปี”

ปลาที่เลี้ยงในบ่อสามารถเลือกเลี้ยงได้ทั้งปลานิล ปลาตะเพียน ปลาดุก ซึ่งสามารถบริโภคในครัวเรือนได้ด้วย ทั้งนี้คุณหมอเคนยังแนะนำเพิ่มว่าหากจะประยุกต์กับการเลี้ยงปลาคาร์บ ในบ่อปลาสวยงามก็ทำได้เช่นกัน เพียงต่อต้องระวังในเรื่องของยาและอาหารของปลา เพื่อให้พืชผักปลอดสารเคมีตกค้าง

“ปัจจัยที่ต้องระวังจะเป็นเรื่องของแมลงศัตรูพืช เพราะไม่สามารถใช้สารกำจัดแมลงใดๆ ได้เลยแม้กระทั่งสมุนไพรไล่แมลงเพราะจะส่งผลกระทบกับปลา การสร้างโรงเรือนจึงมีความจำเป็นหากทำในสเกลขนาดใหญ่” หมอเคนเล่า

แปลงอะควาโปนิกส์ควรวางในตำแหน่งที่มีแสงตลอดทั้งวัน มีพื้นที่ตั้งแต่ 2 x 2 เมตรก็ทดลองปลูกเป็นงานอดิเรกได้ สะดวกต่อคนเมืองตรงที่ใช้พื้นที่น้อย และจัดการดูแลง่ายๆ หากมีการวางระบบที่ดีจะมีพืชผักให้เก็บเกี่ยวทั้งปีได้

จากแนวคิดและความรู้ในการทำอะควาโปนิกส์ ถ่ายทอดสู่ไอเดียการออกแบบโซน Garden&Farm ภายใต้คอนเซ็ปต์ Farming Together

– Aquaponic Hall อะควาโปนิกส์ ปลูกผักและเลี้ยงปลาในที่เดียวกัน อีกหนึ่งรูปแบบการทำเกษตรในเมืองที่นอกจากจะประหยัดพื้นที่ด้วยการปลูกเป็นสวนแนวตั้งแล้ว ยังช่วยลดเวลาในการดูแล ประหยัดน้ำ ใช้พื้นที่น้อย