วิธีแยกหน่อกล้วยด่าง ปลูกขายได้ราคาดี
คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากกล้วยมาแต่โบราณ ทั้งใบตอง หยวกกล้วย ปลีกล้วย เครือกล้วย หรือแม้แต่เหง้ากล้วย ก็หมักทำน้ำปุ๋ยหมักเหง้ากล้วยไว้บำรุงต้นไม้ได้อีก แต่สำหรับเทรนด์ไม้ประดับช่วงนี้ ขอยกให้ “กล้วยด่าง” แม้บางชนิดผลกินไม่ได้ แต่ก็สวยงาม แถมยังขายได้ราคาสูงลิบลิ่ว แยกหน่อกล้วยด่าง
วันนี้พามาชมกล้วยด่างที่คุณโอ๊ต-อัศวเดช ตั้งโยธาพิพัฒน์กุล ปลูกไว้ที่บ้าน “ผมสะสมกล้วยด่างมาสี่ปีแล้วครับ ต้นแรกคือกล้วยตานีด่างครับ” คุณโอ๊ตชี้ไปที่ต้นกล้วยตานีที่ปลูกไว้ข้างบ้าน ต้นสูงใหญ่กว่า 5 เมตร ลำต้นเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่บ้านเดี่ยวในหมู่บ้านใหญ่จะมีกล้วยด่าง เป็นป่ากล้วยขนาดนี้ แยกหน่อกล้วยด่าง
“ครั้งแรกที่เลี้ยงก็เพราะชอบลายด่าง ปลูกง่ายไม่ยากเลยครับ แล้วก็สะสมเพิ่มมาเรื่อยๆ จนมาช่วงปีนี้ ราคาจะสูงขึ้นมาก ผมเลยเริ่มปลูกและผลิตต้นอย่างจริงจัง”
นอกจากกล้วยตานีด่างแล้ว คุณโอ๊ตปลูกกล้วยด่างไว้รอบบ้านอีกหลายชนิดทั้งกล้วยน้ำว้าค่อมด่าง กล้วยน้ำว้าไอศกรีมอเมริกา กล้วยเทพพนม กล้วยป่าหินอ่อน “ผมใช้กาบมะพร้าวสับปูตามพื้นดินเลย เพื่อรักษาความชื้นในดินให้สม่ำเสมอ กล้วยจะเติบโตและให้หน่อที่แข็งแรง
“ผมให้ปุ๋ยละลายช้าสูตรเสมอ มูลไก่ และมูลไส้เดือน ทุก 2 สัปดาห์ เสริม เพื่อให้หน่อสมบูรณ์แข็งแรงขึ้น และฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราพวกไตรโคเดอร์มา รดตามพื้นและฉีดพ่นตามใบด้วย ก็เติบโตงามอย่างที่เห็น ถ้าดูแลต้นแม่ให้แข็งแรง เราก็จะได้หน่อเพิ่ม ตัดไปขยายพันธุ์และขายได้ แต่การแทงหน่อไปปลูกขายต่อก็มีสิ่งที่ต้องระวังครับ เดี๋ยวมาดูกันครับ”
คุณโอ๊ตเดินไปที่กอกล้วยน้ำว้าค่อมใบด่าง พร้อมกับสาธิตการแยกหน่อกล้วยด่างไปปลูกเริ่มจาก
Step 1 เลือกต้นแม่ที่มีหน่อใหม่อวบอ้วน แข็งแรงและให้ใบแล้ว 3-4 ใบ มีใบด่างสม่ำเสมอ
Step 2 ขุดดินรอบๆ หน่อที่ต้องการแยก ระวังอย่าให้โดนหน่อเล็กๆ ข้างๆ ต้นแม่ ให้ลึกลงไปประมาณ 20-30 เซนติเมตร จนเห็นราก
Step 3 ใช้ชะแลงเหล็กปักระหว่างต้นแม่และหน่อลูก แล้วใช้ค้อนปอนด์ตอกชแลงเพื่อตัดหน่อให้ขาด
Step 4 ใช้ชะแลงค่อยๆ งัดหน่อขึ้นจนรากลอย
Step 5 ล้างแผลที่หน่อลูกให้สะอาด ผึ่งให้พอแห้งแล้วใช้ปูนแดงทาบริเวณบาดแผลเพื่อป้องกันหน่อเน่า
Step 6 อย่าลืมทาปูนแดงตรงแผลรอยตัดที่ต้นแม่ด้วย
Step 7 เตรียมกระถางพร้อมกาบมะพร้าวสับที่ผ่านการแช่น้ำแล้ว ผสมกับเพอร์ไลท์ประมาณหนึ่งกำมือ แล้วนำหน่อกล้วยลงปลูก
Step 8 รดด้วยสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อรากับสตาร์บี 1 ให้ชุ่มชื้น
Step 9 ให้น้ำไหลออกจากกระถาง รอจนสะเด็ดน้ำ ยกกระถางในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่นด้วยเทปกาว
Step 10 วางกระถางในที่มีแสงรำไร โดยไม่ต้องรดน้ำเพิ่ม
ประมาณ 10 วันเปิดถุงดูว่ามีรากหรือไม่ ถ้ารากจะเริ่มดิน อาจรดยากันยาอีกครั้งแล้วใส่ถุงรักษาความชื้นต่ออีก 10 วัน ลองแกะดูอีกครั้งคราวนี้ถ้ารากเจริญถึงก้นกระถาง รอจนครบ 30 วัน เอาไปปลูกลงแปลงดินต่อได้เลยครับ”
คุณโอ๊ตแนะนำว่า กล้วยด่างที่ปลูกกันมีทั้งที่ไม่กลายกลับและกลายกลับเป็นใบเขียวปกติ “บางชนิดไม่กลายกลับอย่าง กล้วยหอมด่างที่กลายจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะไม่กลายกลับ ส่วนชนิดที่กลายกลับประมาณ 70 เปอร์เซนต์คือ น้ำว้าแคระ น้ำว้าแคระไอศกรีม และตานี ส่วนกล้วยด่างฟลอริด้าโอกาสกลายเป็นเขียวแค่ 5 เปอร์เซนต์ ที่เหลืออีก 95 เปอร์เซนต์คือให้ใบด่างหรือใบเผือก (ไม่มีสีเขียว) สำหรับมือใหม่ผมแนะนำให้ปลูกกล้วยน้ำว้าค่อม ไอศกรีม และตานีจะเลี้ยงและดูแลง่าย
คุณโอ๊ตพาเดินชมกล้วยด่างพันธุ์ต่างๆที่ปลูกไว้รอบๆ บ้าน พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “บ้านเราปลูกกล้วยกันทั่วไปไว้กินผลกันอยู่แล้ว เพราะกล้วยปลูกไม่ยาก แต่การจะปลูกกล้วยด่างให้ได้หน่อด่างไว้ขายได้ตลอดไม่กลายกลับเป็นเขียว เราต้องแทงหน่อเขียวออกครับ แต่บางพันธุ์หน่อเขียวไปปลูกขายได้ อย่างน้ำว้าไอศกรีมที่กลายเป็นเขียวก็ยังมีคนต้องการ ขายได้ราคาดีนะครับ ลองปลูกกล้วยด่างสักต้นไหมครับ” คุณโอ๊ตพูดพร้อมกับยื่นกล้วยด่างให้หนึ่งต้น…
ดีใจเป็นที่สุดที่ได้มาเยี่ยมสวนโอ๊ตโตะ และยังได้รับหน่อกล้วยด่างกลับมาปลูกอีก รับรองว่าจะดูแลอย่างดี เผื่อแตกหน่อไว้ขายกับเขาบ้าง ขอบคุณคุณโอ๊ตสำหรับไม้มิตรภาพที่แบ่งปันให้กันค่ะ
ชมกล้วยด่าง
กล้วยด่างฟลอริด้า เลี้ยงยากตอนต้นยังเล็ก พอต้นแข็งแรงเลี้ยงง่ายมาก ปลูกแสงแดดร้อย แตกหน่อเก่งและให้หน่อด่างถึง 80 เปอร์เซนต์
กล้วยแดงอินโด เป็นกล้วยด่างที่ราคาสูงลิบลิ่วในยุคนี้ เลี้ยงง่าย แตกหน่อเก่ง
กล้วยน้ำว้าค่อมด่าง มีราคาค่อนข้างสูง ปลูกประดับสวยงาม ผลก็กินได้ สารพัดประโยชน์
กล้วยน้ำว่าด่างไอศกรีม อเมริกา เลี้ยงง่าย ใบสวย ผลกินได้ แต่มักให้หน่อเขียวมาก ต้องคอยแทงหน่อออก
กล้วยป่าด่างสโนว์ เป็นกล้วยป่าที่ให้ลายใบสวยงามมาก
กล้วยเทพพนมด่าง เป็นกล้วยด่างที่มีต้นแข็งแรง สูงใหญ่และให้ผลดูแปลกตา
กล้วยเสือพราน เป็นกล้วยด่างที่ปลูกประดับในบ้านเรามานานกว่า 40 ปีแล้ว
กล้วยเสือพรานด่าง กลายพันธุ์เองในธรรมชาติ เกิดลายด่างสีขาวแทรกบนแผ่นใบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
กล้วยป่าลายหินอ่อน มีลายด่างสวยงามสมชื่อ
อ่านเทคนิคการปลูกกล้วยเพิ่มเติมใน Garden & Farm vol.4 นานาสารพัดกล้วย และเทคนิคขยายพันธุ์พืช
โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน
เรื่อง วิฬาร์น้อย
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณอัศวเดช ตั้งโยธาพิพัฒน์กุล แห่งสวนกล้วยด่างโอ๊ตโตะ
Facebook : Assawadet Musaotto Tangyothapipatkul