รีโนเวตตึกแถว เป็นบ้านกึ่งแกลเลอรี่ศิลปะสร้างเสน่ห์ให้ชุมชนเมืองสงขลา

รีโนเวตตึกแถวสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ให้เป็นบ้านและแกลเลอรี่แสนสวย

รีโนเวตตึกเเถวจากบ้านเก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส เจ้าของบ้านได้ชุบชีวิตใหม่ให้เป็นบ้านโมเดิร์นร่วมสมัยที่สง่างาม และสร้างเสน่ห์ให้ชุมชนเก่าในเมืองสงขลาได้อย่างน่าทึ่ง

เจ้าของ-ตกแต่ง : คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย และคุณนพดล ขาวสำอางค์

ในวันที่มาเยี่ยมชมบ้านหลังนี้ แม้จะไม่ได้พบเจ้าของบ้าน แต่เรากลับไม่รู้สึกว่าบ้านดูเหงา เพราะทุกอย่างในบ้านดูสวยงามและมีชีวิต ซึ่งมาจากมุมมองทางศิลปะที่ยอดเยี่ยมของเจ้าของบ้าน คุณนพดล ขาวสำอางค์ ช่างภาพมืออาชีพ และ คุณเกล้ามาศ ยิบอินซอย ศิลปินเจ้าของบ้านหลังนี้ที่ รีโนเวตตึกแถว เก่าสไตล์ชิโน-โปรตุกีส กลางย่านถนนนครใน ให้เป็นบ้านโมเดิร์นร่วมสมัยที่สง่างามและสร้างเสน่ห์ให้ชุมชนเก่าในเมืองสงขลา มองจากภายนอกอาจเห็นเพียงโครงตึกเก่าสองชั้นที่ใช้โทนสีเทาเข้ม ทว่าก็สร้างความรู้สึกประทับใจได้ตั้งแต่แรกเห็น บริเวณหน้าบ้านวางกระถางต้นไม้เป็นแนว ช่วยให้บ้านตึกแถวริมถนนดูน่าอยู่และกลมกลืนไปกับชุมชนรอบ ๆ ทั้งยังรักษาความเป็นส่วนตัวของเจ้าของบ้านไว้ด้วย รีโนเวตตึกเเถว 

ตัวอาคารด้านนอกยังคงรูปทรงแบบตึกแถวสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งมีให้เห็นอยู่บ้างในย่านชุมชนริมทะเลสาบสงขลา สลับกับบ้านตึกแถวจากหลายยุคหลายสไตล์ ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของชุมชนเมืองสงขลา
renovatedhouse รีโนเวตตึกแถว
บริเวณหน้าบ้านปลูกต้นไม้เป็นแนวพร้อมเว้นระยะจากประตูบ้านไว้เล็กน้อย เพื่อให้บ้านตึกแถวที่อยู่ริมถนนได้ความรู้สึกสงบเป็นส่วนตัว
renovatedhouse รีโนเวตตึกแถว
ใช้ประโยชน์พื้นที่หลังตู้เป็นที่แขวนภาพ บอกเล่าเรื่องราวของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี

ภายในบ้านเน้นการตกแต่งแบบเรียบง่ายและใช้ข้าวของน้อยชิ้น มีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนเล็กๆเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานที่ต่างกัน เมื่อเดินมาถึงกลางบ้านจะเห็นคอร์ตยาร์ดที่เปิดโล่งรับแสงธรรมชาติ ทำให้ลืมภาพบ้านตึกแถวที่แคบและมีแสงสลัวๆไปเลย บริเวณนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของบ้านสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งมักเปิดโล่งและทำเป็นบ่อน้ำ ทว่าก่อนการปรับปรุงเจ้าของเดิมมุงหลังคากระเบื้องเพื่อป้องกันลมฝน คุณนพดลและคุณเกล้ามาศจึงออกแบบให้เปิดหลังคาออก เพื่อรับแสงแดดและลมได้เต็มที่  แต่เก็บบ่อน้ำของเดิมเอาไว้

เจ้าของบ้านทั้งสองพยายามคงเสน่ห์ของของเดิมในบ้านนี้ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคารเดิม ระดับของฝ้าเพดานที่สูงโปร่ง บันไดไม้เดิมทาสี  พื้นไม้เก่าที่ทำความสะอาดใหม่และรักษาพื้นผิวขรุขระตามธรรมชาติของไม้ไว้ โดยไม่มีการขัดมันลงแวกซ์

renovatedhouse รีโนเวตตึกแถว
ตู้ไม้เก่าบานกระจกใสที่เป็นเสมือนบันทึกความทรงจำของเจ้าของบ้าน เพราะเป็นที่เก็บของใช้และของสะสมที่ประทับใจ
renovatedhouse รีโนเวตตึกแถว
ครัวไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่เตรียมอาหารก่อนปรุงค่อนข้างเยอะ การวางโต๊ะไม้ไว้กลางครัวจึงกลายเป็นตัวช่วยชั้นดี แถมยังกั้นพื้นที่ทางเดินให้เป็นสัดส่วนอีกด้วย
renovatedhouse รีโนเวตตึกแถว
คอร์ตโปร่งกลางบ้านที่ให้แสงและลมผ่านได้ดี ถือเป็นเอกลักษณ์ของบ้านชิโน-โปรตุกีส ช่วยให้บ้านตึกแถวดูสดชื่นและไม่อึดอัด
renovatedhouse รีโนเวตตึกแถว
โครงสร้างและงานตกแต่งของเดิมที่ยังคงสภาพดีเจ้าของบ้านก็เก็บรักษาไว้ เช่น บันไดไม้ หรือพื้นไม้
renovatedhouse รีโนเวตตึกแถว
มุมรับแขกตกแต่งแบบร่วมสมัย ระหว่างการใช้โทนสีเทาเรียบเท่แบบโมเดิร์นกับชุดรับแขกแบบจีนเพื่อให้ได้กลิ่นอายบรรยากาศสงขลา ซึ่งมีคนจีนค้าขายอยู่เป็นจำนวนมาก
renovatedhouse รีโนเวตตึกแถว
เนื่องจากบ้านตึกแถวในสมัยก่อนมักออกแบบให้ตัวบ้านแคบแต่มีความลึก อย่างบ้านนี้ก็ตั้งอยู่ระหว่างถนนสองสาย ดังนั้นห้องทำงานซึ่งอยู่ด้านในสุดของตัวบ้าน หากเปิดม่านออกก็จะได้วิวของถนนคนละสายกับฝั่งหน้าบ้าน ภายในห้องนี้ก็เน้นความเรียบโล่งเช่นกัน มีเพียงของใช้ที่จำเป็น
พื้นที่บริเวณชั้นสองดูคล้ายห้องจัดแสดงงานศิลปะ เน้นการเปิดโล่งและจัดวางเฟอร์นิเจอร์เฉพาะที่เจ้าของบ้านต้องการ

ส่วนที่ต่อเติมใหม่คือบริเวณดาดฟ้าที่ออกแบบเป็นห้องพักแขก มีการกรุหน้าต่างกระจกใสรอบห้องนี้ เพื่อให้มองเห็นความสวยงามของบรรยากาศเมืองเก่าริมทะเลสาบสงขลา ทั้งยังให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพราะส่วนต่อเติมนี้ไม่บดบังหรือรบกวนสายตาบ้านเรือนข้างเคียง

บรรยากาศที่สวยงามของบ้านหลังนี้ยังเกิดจากการจัดวางเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น ทว่าแต่ละชิ้นให้ความรู้สึกเหมือนงานศิลปะ เมื่อรวมกับโทนสีสบายตาอย่างสีเทา ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและอยู่สบาย  นอกจากนี้การใช้วัสดุอย่างหินอ่อน เหล็ก และกระจก ก็ช่วยให้บ้านมีความเท่แบบโมเดิร์นที่ดูลงตัว

ต่อเติมชั้นดาดฟ้าเป็นห้องพักแขกแบบโปร่งๆ ภายในมีการแบ่งระดับเพื่อแยกส่วนใช้งาน ผ้าม่านโปร่งผืนยาวนอกจากจะช่วยแบ่งกั้นพื้นที่แล้ว ยังทำให้ห้องเรียบๆดูอ่อนหวานนุ่มนวลขึ้นด้วย

บ้านหลังนี้ยังถือเป็นครอบครัวหนึ่งของชุมชนขนาดใหญ่บนถนนนครใน จังหวัดสงขลา ที่เห็นคุณค่าของของเดิม ไม่มีการทำลายเพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดูแปลกแยก หากแต่เป็นการปรับปรุงให้ดูสวยงามและมีความร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งยังเป็นแรงกระตุ้นให้คนในละแวกนั้นเริ่มกลับมาปรับปรุงบ้านในย่านเมืองเก่าให้น่าอยู่อีกครั้ง

เรื่อง : รนภา นิตย์

ภาพ : สังวาล พระเทพ, ธนพัฒน์ เจริญพิพัฒน์สกุล

สไตล์ : ภควดี พะหุโล