รีโนเวตบ้านเก่า หลังคาทรงจั่ว ให้งดงามด้วยเส้นสายเรียบนิ่งทันสมัยสไตล์มินิมัล
รีโนเวตบ้านเก่า อายุ 40 ปี ย่านโชคชัย4 ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ภายใต้ลุคสีขาวสะอาดตาเเละฟังก์ชันที่เอื้อต่อการใช้งานในยุคปัจจุบัน พร้อมการบอกเล่าถึงพัฒนาการงานออกแบบที่เปลี่ยนผ่าน เชื่อมโยงจากยุคเก่ามาสู่ยุคสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Perspacetive Design Studio
เมื่อครอบครัวใหม่เริ่มขยายตัว การใช้ชีวิตในพื้นที่ขนาดย่อมภายในคอนโดมิเนียมแบบหนุ่มสาว ไม่สามารถตอบความต้องการของคู่สามีภรรยาได้อีกต่อไป คุณต๊อบ-เปรม และคุณกิ๊ฟ-วศินี ฉัตรมานพ จึงมองหาบ้านขนาดพอดีสำหรับครอบครัว โดยเริ่มต้นจากทำเลที่คุ้นเคย กระทั่งมาพบกับบ้านจัดสรรเก่าสไตล์โมเดิร์นยุคเริ่มเเรกอายุร่วม 40 ปี หลังนี้ เเต่จากสภาพที่ทรุดโทรมอย่างหนัก ทั้งคู่จึงต้อง รีโนเวตบ้านเก่า ให้กลับมาเหมือนใหม่น่าอยู่ ด้วยการรื้อพื้น ผนัง และเพดานที่ผุพังออกทั้งหมด เหลือไว้เพียงโครงสร้างเสา คาน เเละรูปแบบหลังคาทรงจั่ว
สลัดคราบบ้านเก่า เเก้ปัญหาโครงสร้าง
“ผมไปดูบ้านมาเเล้วหลายหลัง สุดท้ายก็มาถูกใจบ้านหลังนี้ ด้วยที่ดินรอบบ้านค่อนข้างกว้าง ทั้งหมด 100 ตารางวา ในรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งน่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรสมัยก่อน พอให้วิศวกรมาช่วยตรวจสอบโครงสร้างว่ายังแข็งแรงอยู่ จึงตัดสินใจซื้อเลย แต่ข้างในเก่าและทรุดโทรมมาก จนเราต้องให้ คุณหนุ่ม-สิทธิชัย ชมภู สถาปนิกจาก Perspacetive Design Studio มาช่วยรีโนเวตให้ โดยผมได้เห็นผลงานของเขาจากรายการ บ้านและสวน The Renovation แล้วชอบมาก เพราะมีแนวทางใกล้เคียงกันกับสไตล์ที่ผมอยากได้”
สิ่งแรกที่คุณหนุ่มหนักใจในงานรีโนเวตครั้งนี้ คือระดับบ้านที่อยู่ค่อนข้างต่ำกว่าถนนมาก แต่สิ่งที่ชอบมากก็คือหลังคาทรงจั่วของบ้านยุคเก่า เมื่อผสมกับสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องของการเปิดมุมมองจากในบ้านออกไปสู่สวนด้านข้างที่เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดกว้าง ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่จุดเริ่มต้นของแนวคิดการออกแบบบ้านให้มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 287 ตารางเมตรนี้ โดยคุณหนุ่มอธิบายไว้ว่า
“เราต้องยกพื้นบ้านให้สูงจากเดิมราว 30 เซนติเมตร นั่นทำให้ความสูงของพื้นที่ชั้นล่างลดลง จึงจำเป็นต้องเปิดฝ้าโชว์คานเพื่อดันเพดานไปให้สุด และบ้านหลังเดิมมีการต่อเติมพื้นที่หลายส่วน เราต้องรื้อออกหมดเหมือนกัน เพราะพื้น ผนัง และอื่น ๆ ผุพังมาก เราจึงจัดร้อยเรียงสเปซให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ที่เน้นการเปิดโล่งผ่านช่องแสงเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด”
ยกพื้น เปิดช่องเเสง เเละเชื่อมต่อพื้นที่
เริ่มจากการยกระดับพื้นของตัวบ้านให้สูงขึ้นจากระดับถนน และจัดเรียงสเปซภายในใหม่ ให้เน้นถึงการเปิดช่องแสง และการเชื่อมต่อมุมมองหรือฟังก์ชันระหว่างกัน จุดไฮไลต์หลักของบ้านยังอยู่ที่การเปิดมุมมองจากในบ้านผ่านผนังกระจกแนวยาวออกไปสู่สวนด้านข้าง ซึ่งตั้งใจให้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดกว้างที่เติมเต็มธรรมชาติให้บ้านในเมือง แล้วก็ใช้สเปซต่อสเปซมาเรื่อย ๆ ยึดไปกับรูปทรงตัวอาคารเดิมไว้ แต่ตัดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้อารมณ์ของบ้านมีความเรียบง่ายสบาย ๆ เหมือนตัวตนผู้เป็นเจ้าของ และสร้างบรรยากาศของบ้านให้มีความเป็นมิตรที่เชื้อเชิญ ใครเข้ามาก็ไม่รู้สึกเกร็ง เพราะจุดประสงค์หลักของบ้านก็คือเป็นที่ที่สามารถทิ้งตัวลงนอนได้อย่างสบาย หลังจากออกไปทำงานหนักมาทั้งวัน
บ้านที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เเละใกล้ชิดกับธรรมชาติ
ด้วยโทนสีและการเลือกใช้วัสดุที่ผสมผสานกันอย่างนุ่มนวลแบบทูโทนระหว่างผนังสีควันบุหรี่กับสีของไม้ ช่วยยืนยันแนวคิดของบ้านที่เรียบง่ายและผ่อนคลายไว้ได้อย่างชัดเจน ภายใต้พื้นที่เปิดโปร่งถึงกันจากส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหารและแพนทรี่ จัดวางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวเท่าที่จำเป็น โดยมีจุดเด่นอยู่ตรงแนวเปิดของผนังกระจกด้านข้างที่ยาวเกือบตลอดแนวผนังบ้าน เพื่อเชื่อมมุมมองออกไปสู่สวนสีเขียวด้านนอก และกลายเป็นดีไซน์ที่ถูกใจเจ้าของทั้งคู่เป็นอย่างมาก
“มันทำให้เราใช้พื้นที่กลางบ้านนี้ได้ตลอดทั้งวัน อย่างเมื่อก่อนกิ๊ฟอยู่คอนโดฯ เวลาต้องเข้าครัวมักจะรู้สึกถูกตัดขาดจากคนอื่นตลอด บ้านนี้เราแยกฟังก์ชันก็จริงแต่การเปิดโล่งทำให้เรายังมีปฏิสัมพันธ์กันได้อยู่ ถ้าต๊อบนั่งที่โต๊ะทำงานข้าง ๆ หรือลูกเล่นอยู่แถวโซฟา เราทำครัวอยู่ก็ยังมองเห็นกันได้อย่างอุ่นใจ และฟังก์ชันของบ้านยังเอื้อให้เราปรับเปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์ได้ง่าย อย่างตอนนี้เรามีลูกเล็กก็พยามเปิดพื้นที่กว้าง ๆ ให้เขาได้วิ่งเล่น ถ้าโตขึ้นก็ค่อยแต่งเติมเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ ต่อไปค่ะ” คุณกิ๊ฟเล่า
แม้จะเน้นการเปิดช่องแสง แต่ก็ต้องคงความเป็นส่วนตัวภายในบ้านไว้ด้วย ซึ่งบริบทของบ้านหลังนี้ค่อนข้างดีเพราะฝั่งที่เป็นสวนนั้นมีกำแพงของทาวน์เฮ้าส์ข้าง ๆ กั้นไว้อยู่แล้ว จึงสามารถเปิดผนังด้านนี้ได้อย่างเต็มที่ เอื้อประโยชน์ให้คนในบ้านได้สัมผัสกับพื้นที่สีเขียวได้มากขึ้น ซึ่งคุณหนุ่มบอกว่า
“เราทำพื้นเฉลียงยื่นออกมาในสวนให้เป็นลานอเนกประสงค์ที่ใช้งานเชื่อมต่อมาจากส่วนรับประทานอาหารในบ้านได้เลย ส่วนช่องแสงมุมอื่นเราก็ใช้วิธีซ้อนและเหลื่อมมุมมองกันไป เพื่อให้พรางสายตาแต่ยังคงได้แสงสว่างที่เข้าถึงพื้นที่ในบ้านได้ดีอยู่”
ฟังก์ชันที่เพิ่มเติมไว้บริเวณชั้นล่างยังมีส่วนของครัวไทยที่กั้นห้องแยกไว้อยู่หลังบ้านกับห้องนอนอีกหนึ่งห้อง ขณะที่ชั้นบนจัดสรรไว้ได้อีก 3 ห้องนอน โดยมีห้องนอนใหญ่อยู่ติดกับมุมสวน เพื่อสามารถเปิดมุมมองออกไปชมธรรมชาติได้เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนกลางชั้นล่าง
จากบ้านทรงจั่วสมัยเก่าที่ถูกทิ้งร้างมานาน กระทั่งได้รับการรีโนเวตใหม่ด้วยการลดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นลงให้ดูเรียบง่ายทันสมัย โดยคงโครงสร้างแบบเดิมไว้และเพิ่มเติมครีบกันแดดด้านหน้าซึ่งเป็นดีไซน์เส้นแนวตั้งสวย ๆ จนกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวให้แก่บ้านหลังนี้ นอกจากนั้นที่นี่ยังถือเป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถบอกเล่าถึงพัฒนาการงานออกแบบที่เปลี่ยนผ่าน โดยเชื่อมโยงจากยุคเก่ามาสู่ยุคสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดีด้วย
เจ้าของ : คุณเปรม – คุณวศินี ฉัตรมานพ
สถาปนิก : Perspacetive โดยคุณสิทธิชัย ชมภู
เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์