ตรวจรับบ้าน / คอนโด ฉบับมือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
สำหรับผู้ที่กำลังมองหาบ้านหรือคอนโด ขั้นตอนการตรวจรับถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากตรวจรับไม่ละเอียด หรือตรวจรับไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดปัญหากวนใจตามมาอีกมากมาย
โดยผู้ที่ต้องการ ตรวจรับบ้าน คอนโด ด้วยตนเอง บ้านละสวน School ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบไว้ดังนี้
1.อ่านสัญญาโดยละเอียด
สิ่งที่ต้องทำก่อนจะไปตรวจรับห้องชุดคือศึกษา “สัญญาจะซื้อจะขาย” ที่ทำไว้กับโครงการและศึกษาข้อมูลในโฆษณาของโครงการว่ามีเงื่อนไขอะไรบ้างโดยเฉพาะผลประโยชน์ที่โครงการได้สัญญาว่าจะให้ลูกค้าให้จดข้อมูลเหล่านั้นขึ้นมาให้หมด ข้อมูลนี้จะนำมาใช้ประกอบรายงานการตรวจรับห้องชุด เป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ซื้อให้มากที่สุดนั่นเอง
2.เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ให้พร้อม
การตรวจรับบ้านหรือคอนโดจำเป็นต้องเตรียมอุปกรณ์ดังต่อไปนี้ เพื่อตรวจสอบให้ละเอียดที่สุด
- อุปกรณ์จด เพื่อบันทึกว่าส่วนใดชำรุดเสียหาย ส่วนใดได้รับการตรวจสอบแล้ว แนะนำให้ใช้กระดาษมีเส้นบรรทัดขนาด A4 จะทำให้จดข้อมูลได้เป็นระเบียบและสะดวกในการทำสำเนา
- อุปกรณ์ทำเครื่องหมาย เช่น เทปพันสายไฟ โพสต์อิท ชอล์ก ใช้ทำเครื่องหมายจุดที่สั่งแก้ไข เมื่อพนักงานโครงการเข้ามาจะหาเจอได้ง่ายและรู้ว่าบริเวณไหนที่ต้องการให้แก้ไข
- ตลับเมตร เลือกชนิดที่ใช้ในงานก่อสร้าง มีแถบวัดระยะทำด้วยเหล็ก เพราะแข็งแรงและสามารถยืดได้ยาวเพื่อวัดระยะต่างๆ ของห้องชุดได้ง่าย
- ไม้ยาว เช่น ไม้หน้าสามที่ไสให้ตรงยาว 60 เซนติเมตรขึ้นไป ใช้สำหรับตรวจสอบระนาบของพื้นผิวว่าเรียบเสมอกันหรือไม่
- ลูกแก้วหรือลูกเหล็ก ใช้ตรวจสอบพื้นว่าลาดเอียงหรือไม่ และลาดเอียงไปทางไหน โดยวางลูกแก้วบนพื้นที่ ต้องการตรวจสอบ สำหรับลูกปิงปองมีน้ำหนักน้อยเกินไป ข้อมูลที่ได้อาจไม่แม่นยำนัก
- ขนมปัง ให้เตรียมขนมปังปอนด์ขาวไม่มีขอบ 4 - 5 แผ่น หากเป็นขนมปังธรรมดาให้ฉีกเฉพาะส่วนสีขาวมาใช้
สิ่งนี้เป็นตัวแทนปฏิกูลในการตรวจสอบชักโครกและท่อส้วม - ไฟฉาย สำหรับส่องดูตามจุดที่อยู่ในความมืดว่าชำรุดหรือไม่ เช่น บริเวณเหนือฝ้าเพดานด้านในช่องท่อ อาจใช้ไฟฉายของโทรศัพท์มือถือแทนก็ได้
- อุปกรณ์ตรวจปลั๊ก อุปกรณ์ที่แนะนำให้ใช้คือ “เครื่องตรวจสอบขั้วเต้ารับชนิดมีสายดิน” หรือ “Easy Check Outlet” อุปกรณ์ตัวนี้มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถตรวจสอบปลั๊กไฟว่า เดินสายไฟฟ้าภายในแต่ละเส้นถูกต้องหรือไม่ นับว่ามีประโยชน์มาก แต่หากไม่มีสามารถใช้ โคมไฟ พัดลมตัวเล็กหรือที่ชาร์จแบตเตอรี่มือถือตรวจสอบแทนได้ว่า มีไฟจ่ายออกมาหรือไม่
- ไขควงเช็คไฟ ใช้ตรวจสอบว่าจุดใดมีไฟฟ้าเดินผ่านหรือมี ไฟรั่วหรือไม่ และตรวจสอบการติดตั้งสาย ไฟฟ้าว่าถูกต้องหรือไม่ แต่ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานสายช่างหรือไม่มีความรู้และความชำนาญเรื่องช่าง เนื่องจากอาจได้รับอันตราย หากต้องการตรวจสอบด้วยอุปกรณ์นี้ควรเตรียมถุงมือยางและรองเท้ายางไปด้วย
3.นัดตรวจรับช่วงเช้า
ควรนัดตรวจรับห้องชุดตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อให้มีเวลาตรวจสอบได้ทั้งวัน ไม่แนะนำให้ตรวจในช่วงเย็น ค่ำหรือกลางคืน เพราะจะมีเวลาตรวจสอบน้อยเกินไปและมีแสงสว่างน้อยเกินไปทำให้ตรวจสอบหาข้อบกพร่องได้ยาก
4.ตรวจสอบอย่างมีระบบ
ในการเดินตรวจสอบห้องต้องเดินไล่ไปทีละพื้นที่ ทีละห้อง เริ่มจากส่วนกลาง แล้วเดินไปรอบพื้นที่ในทิศทางเดียว มองทีละส่วน ไม่เดินย้อนกลับมาทางเดิมจากนั้นจึงเข้าไปตรวจสอบภายในห้องทีละห้อง ห้ามเดินแบบไม่มีทิศทาง
5.อย่าลงชื่อรับบ้านหรือคอนโดจนกว่าจะแก้เรียบร้อย
ข้อนี้สำคัญมาก หากบ้านหรือคอนโดไม่พร้อมห้ามลงชื่อ “รับ” เด็ดขาด สาเหตุที่เน้นเช่นนี้ เพราะก่อนลงชื่อรับห้องชุดอำนาจในการสั่งแก้ไขยังเป็นของท่าน แต่วันใดที่ลงชื่อรับไปแล้ว อำนาจของท่านจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง อาจทำให้เกิดสารพัดปัญหาตามมาในภายหลัง เช่น เข้ามาแก้ไขล่าช้า ไม่แก้ไขตามมาตรฐานที่กำหนด หรือเพิกเฉยไม่เข้ามาแก้ไขสิ่งใดเลย
ว่าที่เจ้าของคอนโด / เจ้าของบ้านใหม่ ที่อยากตรวจรับคอนโดหรือบ้านด้วยตนเองอย่าลืมนำข้อมูลเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อความสบายใจ ไม่ต้องคอยปวดหัวในภายหลัง
ข้อมูลจาก: ตรวจสุขภาพคอนโดก่อนรับโอน ฉบับปรับปรุง
เรื่อง: วิญญู วานิชศิริโรจน
ภาพ: แฟ้มภาพนิตยสารบ้านและสวน นิตยสาร Room