ป่ากับคนต้องอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อ - บ้านและสวน

ป่ากับคนต้องอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อ

ป่ากับคนต้องอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อ
คุยกับ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันลูกโลกสีเขียว เรื่อง พ.ร.บ. ป่าชุมชน

การประกาศพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมาจะส่งผลอย่างไรต่อการจัดการป่าชุมชน ประชาชนที่ดูแลรักษาป่าในปัจจุบันต้องทำอะไรบ้าง และอะไรคือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าของประเทศเรา โอกาสนี้ ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการบริหารสถาบันลูกโลกสีเขียว และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์เพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น

 

สถานการณ์ป่าไม้ของเมืองไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย ทั้งชายฝั่งทะเล ที่ราบ ภูเขา มีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการขึ้นอยู่ของพืชนานาพันธุ์ ความสูงของพื้นดินจากระดับน้ำทะเลสู่ยอดเขามีสภาพดินที่ต่างกัน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มีป่าประเภท

ต่างๆ มากกว่าประเทศอื่นในโลก ถ้าเรามองจากทะเลขึ้นไปจะพบป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าไม้สัก ป่าไม้สน และบนยอดเขาคือป่าดิบเขา เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าประเภทของป่าในประเทศไทยค่อนข้างจะมีหลากหลายเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

ถ้าย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน ประเทศไทยมีป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีพื้นที่ประมาณ ร้อยละ 60 ของพื้นที่

ทั้งประเทศ หรือประมาณ 170 ล้านไร่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา มีประชากรเพิ่มขึ้น การพัฒนาประเทศไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบสาธารณูปโภค สร้างปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ในที่สุดปัจจุบันคงเหลือป่าไม้อยู่ประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 102 ล้านไร่ (ที่มา: กรมป่าไม้)

ในอนาคต ผมก็เชื่อว่าป่าไม้ของเราน่าจะเพิ่มขึ้น โดยที่มีหลายปัจจัย คือ

  1. รัฐบาลได้เอาจริงเอาจังในเรื่องการพลิกฟื้นคืนป่า มีการจับกุมผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ที่มีการสร้างรีสอร์ทต่างๆ ซึ่งก็ได้พื้นที่ป่าคืนมาหลายแสนไร่
  2. ประชาชนส่วนใหญ่ ได้มีกิจกรรมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ประชาชน นักธุรกิจ ซึ่งก็น่าดีใจ
  3. มีกฎหมายออกมาหลายฉบับ ที่สนับสนุนให้มีการฟื้นฟู ปลูกป่ามากขึ้น เช่น พ.ร.บ.ป่าไม้ ที่มีการแก้ไขมาตรา 7 ซึ่งไม้ที่หวงห้ามในปัจจุบันสามารถที่จะปลูกเองได้ สามารถตัดได้ หรือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ที่สามารถให้คนอยู่ในอุทยานฯ ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีขอบเขตที่จำกัด เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ป่าเพิ่มขึ้น
  4. กระแสโลกที่พยายามให้เกิดการอนุรักษ์ป่าไม้ขึ้นมา เพื่อให้มีการลดสภาวะโลกร้อน

เพราะฉะนั้นในอนาคตข้างหน้าผมถึงเชื่อว่าป่าของประเทศไทยคงจะเพิ่มขึ้น และมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นและเชื่อเหลือเกินว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งประเทศ คือ 121 ล้านไร่ คงไม่ห่างไปจากที่เราได้ปักธงเอาไว้

พ.ร.บ. ป่าชุมชน มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างไร

พ.ร.บ. ป่าชุมชน มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้มีการยกร่างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งในขณะนั้นการยกร่าง ก็ได้มีการรวมกลุ่มกัน ทั้งจากชุมชน นักพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มนักวิชาการ ซึ่งก็มีแนวคิดว่า “ป่ากับคนต้องอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อ” เพราะฉะนั้นจึงมีความตั้งใจว่า ในอนาคตควรจะให้ชุมชนเข้ามาช่วยในการรักษาป่า ซึ่งกระบวนการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 2557 ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ ได้เสนอเรื่อง พ.ร.บ. ป่าชุมชน เข้าไปที่ ครม. ซึ่ง ครม. ก็ได้มีการพิจารณาปรับปรุงและส่งเข้าพิจารณาในที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในที่สุด หลังจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกันแล้ว ก็ได้มีการเชิญชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักอนุรักษ์ มารับฟังความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะและปรับปรุง ซึ่งกฎหมายนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2562 และได้มีผลบังคับใช้แล้ว

หลักการสำคัญของ พ.ร.บ.ป่าชุมชนนี้ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการบำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน เนื่องจากที่ผ่านมา กฎหมายว่าด้วยป่าไม้และกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ ยังมีข้อจำกัดในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่ พ.ร.บ.ป่าชุมชนนี้ จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมของประเทศมีความสมบูรณ์และยั่งยืน

โดยสรุป เหตุผลที่ว่า คนกับป่าจะต้องอยู่ร่วมกัน ซึ่งคนจะขาดป่าก็ไม่ได้ ก็ให้เขามาร่วมจัดการด้วย เพราะลำพังแค่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็คงจะไม่มีกำลังเพียงพอที่จะมาดูแลได้ ชุมชนมีความสำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ของประเทศให้ยั่งยืนได้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

พ.ร.บ.ป่าชุมชน จะทำให้ป่าเพิ่มขึ้นอย่างไร

การอนุรักษ์จะได้ผลมากขึ้น เพราะคนที่อยู่กับป่า เขาต้องรักป่าอยู่แล้ว เพราะชีวิตเขาต้องอาศัยป่า ถ้าเขา “ไม่มีป่า น้ำก็ไม่มี อาหารก็ไม่ดี” เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดผมคิดว่าพวกเขาต้องมีจิตใจที่จะต้องดูแลป่าให้อย่างดี

เมื่อชุมชนเข้มแข็งแล้ว เขาก็สามารถที่จะขยายผลต่อไปให้ความรู้กับคนอื่นได้ สุดท้ายผมคิดว่าป่าที่สร้างขึ้นมาโดยชุมชน ก็จะช่วยเพิ่มเป้าหมาย 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 128 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าถ้าเรามีป่าชุมชนแล้วก็สามารถที่จะเพิ่มป่าได้

มีตัวอย่างในหลายๆ ประเทศที่ทำเรื่องป่าชุมชนแล้วป่าเพิ่มขึ้น เช่น

  • ประเทศจีน มีหมู่บ้านป่าไม้ ฟาร์มป่าไม้ ป่าครอบครัว ซึ่งรัฐร่วมจัดการป่ากับชุมชน สนับสนุนความรู้
  • ประเทศฟิลิปปินส์ มีการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกป่า สร้างป่าชุมชน โดยใช้ระบบวนเกษตร ในการสร้างป่าเป็นการปลูกป่าและทำเกษตรร่วมกันไป
  • ประเทศอินเดีย มีป่าหมู่บ้าน มีป่าชุมชน
  • ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าป่าชุมชนหรือป่าเอกชน มีบทบาทสูงมาก มีสมาคมป่าไม้ มี พ.ร.บ.ป่าไม้ มีการแบ่งเขตการจัดการป่าไม้ระหว่างรัฐ เอกชน และชุมชน
  • ประเทศคอสตาริกา ในช่วง 20 ปี สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ประมาณร้อยละ 40-50 เพราะรัฐมีการให้ความรู้กับคนในพื้นที่ โดยให้คนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการป่า

ดังนั้น พ.ร.บ. ป่าชุมชนมีประโยชน์ในการที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าไม้

ผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว และการทำงานร่วมกับชุมชนอนุรักษ์ของสถาบันลูกโลกสีเขียว ได้มีส่วนสนับสนุนการจัดทำ พ.ร.บ.ป่าชุมชน อย่างไร

ผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้อภิปรายในช่วงที่มีการพิจารณา พ.ร.บ.ป่าชุมชนในสภาฯ โดยได้ยกตัวอย่างว่า ชุมชนมีความพร้อมมากในการบริหารจัดการป่า มีผลงานที่เป็นประจักษ์ นั่นคือการได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว

ซึ่งทางสถาบันลูกโลกสีเขียว มอบให้แก่ชุมชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ จากฐานของความรู้และผลงานรางวัล ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา มีชุมชนที่ได้รางวัล 140 ชุมชน หลายชุมชนแสดงให้เห็นว่าเมื่อเขาดูแลรักษาป่าแล้วเขาจะได้ประโยชน์ และสามารถที่จะทำให้ป่าคงไว้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะชุมชนที่ได้รับรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ทำให้เห็นว่าประชาชนสามารถรักษาป่าได้จริงๆ โดยมีการวางมาตรการ กติกา บทลงโทษของชุมชน ในลักษณะเดียวกันกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่ได้จัดทำขึ้น แนวทางที่สอดคล้องกันนี้เองจะยิ่งช่วยในการจัดการป่าชุมชนได้เพิ่มมากขึ้นอีก

 

 

ฝากอะไรให้กับชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน

สำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ

  1. ทำการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ ให้ชุมชนเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน อย่างดีและต่อเนื่อง เพราะถ้าชุมชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน แล้ว ผมก็เชื่อว่าเขาอาจจะร่วมมือกับภาครัฐได้ดี
  2. ให้ความรู้ทางวิชาการเรื่องป่าไม้ เช่น การจัดการอย่างยั่งยืน บทเรียนการจัดการป่าในประเทศต่างๆ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชุมชน
  3. ออกกฎหมายลูก กฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้
  4. ให้มีการจัดทำข้อมูลสารสนเทศให้สมบูรณ์ โดยการสำรวจพื้นที่ป่าชุมชนว่ามีเท่าไหร่
  5. มีการศึกษา วิจัย เช่น มิติในการจัดการป่าชุมชน (วิธีการ ปัญหา อุปสรรค)

 

สำหรับชุมชน

  1. เตรียมความพร้อมในด้านการจัดการป่าชุมชนให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน
  2. ศึกษารายละเอียด พ.ร.บ.ป่าชุมชน ให้เข้าใจอย่างดี เพื่อให้การบริหารจัดการไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ที่กำหนดไว้
  3. สร้างความเข้าใจร่วมกับสมาชิกป่าชุมชน ให้มีความเข้าใจถึงการจัดการป่าชุมชน ภายใต้ พ.ร.บ.ป่าชุมชน
  4. ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ

ผมหวังว่าการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบกับชุมชนคงเป็นไปได้ด้วยดี บรรลุผลสำเร็จตามเหตุผลการประกาศใช้กฎหมาย และสุดท้ายคงทำให้ป่าไม้ของประเทศเพิ่มขึ้นและอนุรักษ์อย่างยั่งยืนให้ลูกหลานไว้ต่อไป

สิ่งที่ควรรู้

แม้ว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชน เริ่มบังคับใช้แล้วนั้น แต่ได้มีการยกเว้นให้บางหมวด บางมาตราให้มีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ พ.ร.บ. นี้ 180 วัน อันได้แก่หมวดที่ 4 ถึงหมวด 8 และมาตรา 97 ถึง 103 ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชน โดยเฉพาะการจัดตั้งป่าชุมชน นั่นคือ

ในช่วงเวลา 180 หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะตรงกับ วันที่ 25 พฤศจิกายน ชุมชนยังสามารถที่จะขอจัดตั้ง ขึ้นทะเบียนป่าชุมชนภายใต้ระเบียบ ขั้นตอนการจัดทำโครงการป่าชุมชนที่กำหนดโดยกรมป่าไม้ซึ่งมีกระบวนการขั้นตอนหลักดังนี้

  • จัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ และมีมติจัดตั้งป่าชุมชน คัดเลือกคณะกรรมการป่าชุมชนหมู่บ้านและร่วมกันลงลายมือชื่อจัดทำโครงการ (แบบ ปชช.1)
  • ตรวจสอบพื้นที่จัดทำโครงการป่าชุมชน (แบบ ปชช.2) และประชุมคณะกรรมการป่าชุมชนจัดทำโครงการป่าชุมชน (แบบ ปชช.เสนอท้องถิ่นและอำเภอที่ตั้งพิจารณา กรณีที่ไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้
  • เสนอสำนักจัดการป่าชุมชน ตรวจสอบเอกสารและเสนออธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาอนุมัติโครงการป่าชุมชน

ในส่วนป่าชุมชนที่หมดอายุ ถ้ามีความประสงค์ในการต่ออายุจะต้องทำการประเมินผลโดยใช้แบบ ปชช.4 โดยเจ้าหน้าที่ แล้วส่งให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องที่ประเมิน ถ้าผ่าน เจ้าหน้าที่ส่งเสริมป่าชุมชน ผู้นำประชุมประชาคมเพื่อขอต่ออายุโครงการป่าชุมชน แล้วยื่นขอต่ออายุโดยใช้แบบ ปชช. 4 ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องที่ตรวจสอบเอกสาร และส่งให้สำนักจัดการป่าชุมชนตรวจสอบและเสนออธิบดีกรมป่าไม้พิจารณาอนุมัติโครงการ โดยสามารถเข้าไปศึกษาขั้นตอนการจัดการป่าชุมชนโดยละเอียดใน คู่มือการปฏิบัติงานตามแนวทางการจัดการป่าชุมชนของกรมป่าไม้ ซึ่งป่าชุมชนที่ขึ้นทะเบียนช่วงนี้จะถูกรับรองโดยอัตโนมัติตามมาตรา 99