ฝักบัวไหลช้า วิธีซ่อมอุปกรณ์ห้องน้ำ - ช่างประจำบ้าน โดย บ้านและสวน

งานช่างในห้องน้ำ ที่ใครๆ ก็ทำได้

ฝักบัวไหลช้า สายชำระรั่วซึม หรือฝารองนั่งพัง สารพัดปัญหาที่ทำให้เราหงุดหงิดทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ มาดูวิธีซ่อมแซมแบบง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้กัน

1. ฝักบัวไหลช้า เวลาอาบน้ำ

ฝักบัวไหลช้า น้ำพุ่งไม่ค่อยแรง ทั้งที่แรงดันน้ำยังปกติดี ปัญหานี้อาจเกิดจากการอุดตันบริเวณทางน้ำออกหรือหัวฝักบัว อันเนื่องมาจากตะกอนต่างๆ ที่มากับน้ำนั่นเอง

ขั้นตอนการแก้ไข

ฝักบัวไหลช้า

1. ให้ถอดฝาครอบฝักบัวอาบน้ำออกมา แล้วนำไปแช่น้ำยาขัดพื้นหรือน้ำยากันสนิมเพื่อทำความสะอาด

ฝักบัวไหลช้า

2. สังเกตดูแหวนยางรอบฝักบัวว่ามีการชำรุดเสียหายหรือไม่ ถ้าชำรุดให้เปลี่ยนใหม่

3. จากนั้นใช้เข็มหรือแปรงสีฟันเก่าๆมาแทงหรือขัดรูฝักบัวเพื่อให้ตะกอนต่างๆหลุดออกไป แล้วประกอบฝักบัวเข้าตามเดิม

2. หัวฉีดและสายฉีดชําระรั่วซึม

ปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยครั้งภายในห้องน้ำก็คือ หัวฉีดหรือสายฉีดชำระรั่วซึม ซึ่งเกิดจากการใช้งานที่ไม่ระมัดระวัง  ตกกระแทกพื้นบ่อยๆ ทําให้เกิดรอยร้าวที่ก้านฉีดน้ำ น้ำจึงรั่วหรือหยดออกมา  หรืออาจเกิดจากการใช้งานมานาน

ขั้นตอนการแก้ไข

เปลี่ยนหัวฉีดสายชำระ

ลองเช็กดูว่าอุปกรณ์ส่วนใดชํารุดบ้าง  เช่น ก้านหัวฉีดแตกหักใช้งานไม่ได้ สายฉีดรั่วซึม ก็ไปหาซื้ออุปกรณ์ชิ้นนั้นมาเปลี่ยนใหม่  โดยสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างทั่วไป  ก่อนเปลี่ยนหัวฉีดหรือสายฉีดชำระที่ซื้อมาใหม่  อย่าลืมพันด้วยเทปพันเกลียวที่ข้อต่อประมาณ 3-5 รอบ เพื่อป้องกันการรั่วซึม จากนั้นขันเกลียวหัวฉีดหรือสายฉีดชำระเข้าไปในท่อน้ำให้แน่นดังเดิม

3. เปลี่ยนฝารองนั่งโถสุขภัณฑ์

หากฝารองนั่งโถสุขภัณฑ์ที่ผ่านการใช้งานมานาน เกิดการชำรุด หรือเกิดคราบเหลือง ดูแล้วไม่สบายตา คงต้องถึงเวลาเปลี่ยนใหม่กันแล้ว

ขั้นตอนการแก้ไข

วิธีเปลี่ยนฝารองนั่งชักโครก

1. ก่อนซื้อฝารองนั่งโถสุขภัณฑ์มาเปลี่ยน ควรรู้ขนาดคร่าวๆ ของฝารองนั่งก่อน เช่น ทรงกลมหรือทรงรี และอย่างน้อยก็ต้องรู้ความกว้างของสุขภัณฑ์ และความยาวของตำแหน่งรูสกรูถึงปลายฝารองนั่ง โดยเราสามารถเลือกขนาดที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้

วิธีเปลี่ยนฝารองนั่งชักโครก

2. เมื่อนำฝารองนั่งใหม่มาทาบกับโถสุขภัณฑ์เดิม ถ้าตรงยี่ห้อและรุ่น การติดตั้งก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ตรงรุ่น อาจเกิดปัญหาเรื่องจุดยึกสกรูลอยสูงกว่าโถสุขภัณฑ์ ให้ใส่ยางรองที่มีมาในชุดลงไป และใช้นิ้วกดที่ตำแหน่งยึดสกรู ก็จะยึดฝารองนั่งได้พอดีและไม่กระดก


เรื่อง : คันยิก้า

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล


ติดตามบ้านและสวน www.facebook.com/baanlaesuanmag