บ้านใต้ถุนสูง ริมคลอง ความสุขตามวิถีชีวิตแบบไทย
บ้านใต้ถุนสูง ริมคลอง ที่ยกใต้ถุนสูงหนีน้ำท่วม หนีปลวก ทำหลังคาทรงสูงให้อากาศไหลเวียน ชายคายื่นยาว มีช่องหน้าต่างและช่องคอสองช่วยระบายความร้อน ภายในบ้านค่อนข้างเปิดโล่งให้ทุกพื้นที่ต่อเนื่องกัน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Arsom Silp Institude of the Arts
อาจเปรียบชีวิตได้กับหยดน้ำที่กลั่นจากเวิ้งฟ้าโปรยลงบนผืนโลก ซึมลงดินเปลี่ยนเป็นความชุ่มชื้นส่งต่อชีวิตสู่อีกชีวิต บ้างตกบนผิวน้ำต่างกระเพื่อมเป็นวง ต่างกระทบและสัมพันธ์กัน เปลี่ยนแปรไม่หยุดนิ่ง จึงต้องเรียนรู้ให้เข้าถึงใจและปรับสู่ดุลยภาพของวิถีชีวิต บ้านใต้ถุนสูงริมคลอง
เฉกเช่นวิถีเรียบง่ายและงดงามด้วยสมดุลธรรมชาติซึ่ง คุณปาม-พงศกร ตุ้มปรึกษา สถาปนิก บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด ตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ของครอบครัวเมื่อ 3 ปีก่อน บนที่ดินเนื้อที่ 340 ตารางวา ย่านบางขุนเทียน ริมคลองบางมดที่ยังดำรงวิถีชีวิตริมน้ำ ทั้งยังเป็นจุดบรรจบของสายน้ำอีกสองสายไหลมารวมกัน บ้านสวนริมคลอง
“คุณพ่อเป็นคนคลองอัมพวา คุณแม่เป็นคนบ้านแป้งซึ่งเป็นชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสิงห์บุรี จึงมีความผูกพันกับแม่น้ำในสายเลือด เป็นความฝันของครอบครัวเราที่อยากมีบ้านสวนริมคลองที่อยู่เย็นเป็นสุขตามวิถีชีวิตคนไทย ทุกวันนี้เราได้ฟังเสียงนกยามเช้า ชมแสงดาวยามค่ำคืน เห็นชาวบ้านพายเรือเป็นปกติทุกวัน มีเรือรับส่งนักเรียน เสียงเรือหาปลาวิ่งไล่ความเงียบงันยามค่ำคืน ยิ่งช่วงงานบุญวัดบัวผันจะมีเรือวิ่งกันขวักไขว่ เป็นวิถีชุมชนเรียบง่ายที่มีเสน่ห์ ซึ่งสัมพันธ์กับพื้นที่และการออกแบบบ้าน”
แสงแดดยามเช้าของช่วงปลายฝนต้อนรับการมาเยือนของเราอย่างเป็นใจ แดดทอแสงอ่อนๆ ผ่านกิ่งใบต้นแคป่าหน้าประตูทางเข้าที่ถูกเลื้อยคลุมด้วยเถาฟักข้าวอวดผลสีส้มสด ทางเข้าด้านถนนนี้เป็นด้านหลังบ้านเพราะหน้าบ้านหันหน้าเข้าหาคลองตามวิถีไทย ใต้ถุนบ้านยกสูงใช้เป็นที่จอดรถและกั้นพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นห้องทำงาน ด้านหน้าบ้านทำบันไดกลางแจ้งขึ้นชั้นบน มีชานเรือนอยู่ด้านหน้า ภายในบ้านค่อนข้างเปิดโล่งให้ทุกพื้นที่ต่อเนื่องกัน โดยมีพื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหารอยู่กลางบ้าน ฝั่งหนึ่งเป็นห้องครัวและอีกฝั่งเป็นห้องนอน ซึ่งคุณปามได้อธิบายถึงหลักการออกแบบบ้านนี้ 3 เรื่อง คือ
ออกแบบบ้านให้สอดคล้องกับภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทย ด้วยหลักการของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นไทยภาคกลางซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ใช้กันมาหลายร้อยปี จึงเป็นสถาปัตยกรรมที่เข้าใจเรื่องแดด ลม ฝน และสร้างสมดุลในบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข เพียงแค่เราน้อมเรียนรู้และนำมาต่อยอดให้เหมาะกับวัสดุสมัยใหม่ ทั้งการยกใต้ถุนสูงหนีน้ำท่วม หนีปลวก การทำหลังคาทรงสูงให้อากาศไหลเวียน ชายคายื่นยาว มีช่องหน้าต่างและช่องคอสองช่วยระบายความร้อน มีชานไว้ตากผ้า ตากปลา มีระเบียงซึ่งเป็นพื้นที่เปิดโล่งใต้ชายคาไว้นั่งเล่นรับลม และผ่อนความร้อนก่อนถึงตัวบ้าน มุงหลังคาด้วยไม้ซึ่งมีคุณสมบัติไม่อมความร้อน และมีสวนรอบบ้านช่วยสร้างร่มเงาและรักษาความชุ่มชื้นให้พื้นดินเย็นตลอดเวลา
สถาปัตยกรรมต้องส่งเสริมวัฒนธรรมของครอบครัว ซึ่งเดิมครอบครัวคุณปามอยู่ทาวน์เฮ้าส์ จึงเจอหน้ากันทุกวัน พูดคุยกันบนโต๊ะอาหารมื้อเย็น เป็นความอบอุ่นที่สัมผัสได้มาทั้งชีวิต บ้านหลังนี้จึงออกแบบเป็นพื้นที่ค่อนข้างเปิดโล่ง เชื่อมส่วนนั่งเล่น โต๊ะรับประทานอาหาร และครัวให้ต่อเนื่องกัน เพื่อให้ทุกคนได้อยู่ร่วมกันแบบอบอุ่นเหมือนเดิม
พอดีกับงบประมาณ เป็นการเริ่มต้นสร้างบ้านด้วยงบประมาณจำกัด หากสร้างเกินตัวก็จะลำบาก ด้วยภูมิปัญญาไทยที่สอนให้เริ่มทำแต่พอดีตัว เมื่อมีความพร้อมหรือมีการขยายครอบครัวก็ค่อยขยับขยายต่อเรือนเพิ่มโดยเชื่อมกับชาน เช่นเดียวกับเรือนไทยในอดีต
ความภูมิใจที่สุดซึ่งคุณปามบอกเราคือ “การได้สร้างบ้านให้คนที่เรารักอยู่อย่างมีความสุข เป็นความภูมิใจที่สุดในความเป็นลูกและความเป็นสถาปนิก ซึ่งมีแบบอย่างคือคุณพ่อที่เคยรับราชการเป็นสถาปนิกกองช่าง แม้คุณพ่อจะจากไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ท่านก็ยังได้มาใช้ชีวิตร่วมกันในบ้านนี้”
ส่วนคุณแม่ก็บอกด้วยรอยยิ้มว่า “มีความสุขกับการปลูกต้นไม้ อยู่ในบ้านที่ร่มเย็นและดีใจที่พ่อมีโอกาสมาอยู่ด้วยกัน”
แน่นอนว่าไม่มีสิ่งใดคงรูปถาวรได้ จากหยดน้ำร่วงหล่นผ่านกาลล่วงเลยก็ระเหยลอยไปกลับสู่วัฏจักรธรรมชาติเพื่อสร้างดุลยภาพ เช่นเดียวกับบ้านที่เป็นโลกของชีวิตครอบครัวที่เรียนรู้และสอดรับกับธรรมชาติ ซึ่งแม้จะกรำพายุฝนฝ่าแดดกล้าก็กลับสู่การอยู่เย็นเป็นสุขได้ด้วยการออกแบบที่ดีและใจที่สมดุล
เจ้าของ: ครอบครัวตุ้มปรึกษา
สถาปนิก : บริษัทสถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด
ออกแบบ: คุณพงศกร ตุ้มปรึกษา
เรื่อง : ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
ผู้ช่วยช่างภาพ : ญาณิกา เกียรติโอภาส
เรื่องที่น่าสนใจ