บ้านเก่ารีโนเวตใหม่ จนกลายเป็น “บ้านชั้นเดียวดีไซน์อบอุ่น” ของครอบครัว
บ้านเก่ารีโนเวตใหม่ โดยนำวัสดุเเละโครงสร้างเดิมของบ้านมาจัดวางเเละปรับเปลี่ยนหน้าที่ใหม่ กลายเป็นบ้านชั้นเดียวดีไซน์อบอุ่น ตอบโจทย์เจ้าของเเบบน่าพอใจ ใช้งานได้ดี สวยงาม และเหมาะสมกับยุคสมัย
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: POAR
จุดเริ่มต้นของการรีโนเวตบ้านเก่าครั้งนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของ คุณพิมพจิตต์ และพันโทหญิงพิมพ์จิราภา ธนปรีดาพิชิต คู่แม่ลูกผู้เป็นเจ้าของบ้าน อยากเปลี่ยนแปลงบ้านหลังเดิมซึ่งทรุดโทรมให้สามารถใช้งานได้ดี สวยงาม และเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น โดยบ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านหลังเล็กในพื้นที่บ้านของครอบครัวใหญ่ กระทั่งปัจจุบันครอบครัวมีการขยายมากขึ้น จึงถึงเวลาเเล้วที่จะต้องมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยมีโจทย์ว่าจะต้องใช้วัสดุจากบ้านเดิมทั้งไม้ ประตู หน้าต่าง และโครงสร้างเดิมอย่างคุ้มค่าที่สุด
คุณพัชระ วงศ์บุญสิน คุณอรณิชา ดุริยะประพันธ์ และคุณประกาย วรนิสรากุล กลุ่มสถาปนิกจาก POAR มีแนวคิดในการใช้คุณสมบัติของวัสดุให้เด่นชัดขึ้น ที่สำคัญต้องอยู่ภายในงบประมาณที่เจ้าบ้านตั้งเอาไว้หรือใกล้เคียงมากที่สุดการปรับปรุงบ้านสองชั้นให้เหลือเพียงชั้นเดียวมีเหตุผลในเรื่องการใช้งานที่ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าพื้นที่สำหรับพักผ่อน นอนหลับทำอาหาร และความแข็งแรงปลอดภัย บ้านเดิมเป็นบ้านกึ่งปูนกึ่งไม้ กล่าวคือ ชั้นล่างเป็นปูน ชั้นบนเป็นไม้ ฐานรากก็เป็นฐานรากแผ่แบบเก่า จึงไม่เหมาะนักหากจะต่อเติมและทำให้บ้านรับน้ำหนักมากกว่านี้ จึงรื้อโครงสร้างไม้ชั้นบนออกและเหลือไว้เพียงชั้นล่างซึ่งเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คงงานระบบน้ำของห้องน้ำและครัวไว้ในตำแหน่งเดิม เพราะการเดินงานระบบน้ำใหม่ใต้พื้นบ้านเก่านั้นเป็นเรื่องยุ่งยากและอาจทำให้โครงสร้างบ้านเสียหายได้ทั้งนี้มีการปรับรูปทรงของห้องน้ำและครัวเล็กน้อยให้เข้ากับผังพื้นใหม่ที่ออกแบบมา
เนื่องจากตัวบ้านด้านนี้อยู่ติดกับสวน จึงมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าต่างเปิดโล่ง แต่ทิศนี้เป็นทิศตะวันตกmสถาปนิกจึงคิดถึงเรื่องการสร้างระแนงกรองแสง ระแนงจากไม้เก่าไม้ลูกกรงบันไดต่างๆ บวกกับเจ้าของบ้านปลูกองุ่นให้เลื้อยไปตามระแนง ก็ยิ่งช่วยให้บ้านดูร่มรื่นยิ่งขึ้นไปอีก
ร้อยเรียงกลายเป็นของใหม่
เรื่องสำคัญในการประหยัดงบก่อสร้างคือการใช้ของเดิมที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด บ้านเดิมซึ่งมีส่วนประกอบของไม้อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นบานประตูหน้าต่าง พื้นไม้ ราวลูกกรงบันได ไม้จันทันของโครงสร้างหลังคา และไม้ระแนงต่างๆ ทั้งหมดนำมาร้อยเรียงใหม่ในท่วงทำนองของสถาปนิกเกิดความงามจากการใช้ของเดิม (Reuse) แต่ส่วนไหนที่ต้องการความแข็งแรงเพิ่มเติมก็จำเป็นต้องใช้ของใหม่ เช่น โครงหลังคาใช้โครงเหล็กและติดตั้งหลังคาเมทัลชีตพร้อมฉนวนกันความร้อน หรือส่วนโครงสร้างเหล็กติดตั้งระแนงด้านหน้าก็เป็นโครงเหล็กกล่อง ทำให้ดูนุ่มนวลด้วยการประกบแผ่นไม้พื้นเก่ารอบเสา
ภายในบ้านเน้นความโปร่งโล่ง ใช้ผ้าม่านในการกั้นพื้นที่แทนผนังทึบตัน เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เจ้าของเป็นคนนำเข้ามาตกแต่งเอง พื้นไม้ที่เห็นเป็นไม้เก่าจากชั้นสองของบ้านเดิมนำมาขัดและทาน้ำยาเคลือบอีกครั้ง
งานที่วัดกันที่หน้าไซต์
สถาปนิกบอกกับเราว่า งานปรับปรุง (Renovate) เป็นงานที่ต้องเข้ามาดูหน้างานบ่อยมากกว่างานที่ออกแบบและสร้างใหม่หมด ยิ่งมีเรื่องของการใช้วัสดุเก่าด้วยแล้ว บางรายละเอียดเราไม่สามารถเขียนเป็นแบบได้ ต้องมาคุยกับช่าง มาเขียนแบบกันที่หน้างาน และให้เจ้าของบ้านช่วยตัดสินใจในบางจุดด้วย สิ่งที่ยากที่สุดของงานนี้ไม่ใช่เรื่องของการออกแบบให้สวย แต่เป็นการทำให้บ้านหลังนี้ลงตัวด้วยวัสดุเดิมที่มีอยู่มากกว่า ฉะนั้นช่างผู้รับเหมามีส่วนมากในการก่อสร้างบ้านหลังนี้โชคดีที่ได้ช่างที่มีความรู้และใส่ใจในการทำงาน กล้าที่จะลองอะไรใหม่ ๆ ไปด้วยกัน
ระแนงไม้เก่าผสมไม้ลูกกรงบันได นำมาจัดวางใหม่เป็นระแนงกรองแสง สิ่งสำคัญคือ การคำนวณจำนวนไม้ที่มีกับพื้นที่ที่ต้องใช้ว่าพอดีกันหรือไม่ และโครงสร้างรองรับต้องมีความแข็งแรง ซึ่งบ้านหลังนี้ใช้โครงเหล็กกล่องขนาด 5 × 10 เซนติเมตรเป็นโครงหลัก
บานประตูหน้าต่างเก่าที่นำมาจัดเรียงใหม่เสริมให้แข็งแรงด้วยไม้จันทันตั้งเป็นกรอบรอบหน้าต่างข้อดีอีกอย่างของไม้เก่าคือ ผ่านการยืดและหดตัวจนคงที่แล้ว ไม้จึงอยู่ตัวและแข็ง นำพื้นไม้เก่า ขนาด 1 × 6 นิ้ว มาประกบเสาเหล็กช่วยลดความแข็งกระด้างเว้นระยะห่างไม่ให้ติดพื้นเล็กน้อยเพื่อไม่ให้สัมผัสน้ำตลอดเวลาอีกทั้งยังทำให้โครงสร้างเสานี้ดูเบาลอยด้วย
เริ่มจากของเก่าที่มีจดบันทึก วัดขนาดและลงรายละเอียดลงไปในแบบใหม่ให้มากที่สุดเพื่อป้องกันความผิดพลาดในการคำนวณราคาและการก่อสร้างรื้ออย่างระมัดระวังแจ้งช่างก่อนว่าจะนำกลับมาใช้ใหม่
สุดท้าย ต้อง “พอ” ใจ
ไม่ว่าระหว่างทางนั้นจะเกิดอะไรขึ้น แต่สุดท้ายบ้านที่เสร็จก็ยังคงต้องเป็นบ้านที่เจ้าของบ้านพอใจ หนึ่งในเรื่องนั้นคืองบประมาณ บางครั้งเรามีความคิดฝันใหญ่โตแต่ลืมมองกลับมาที่ตัวเองว่ามีความจำเป็นแค่ไหน การมีบ้านที่ดี น่าอยู่ ไม่ได้หมายถึงการสร้างสิ่งใหม่เสมอไป แต่เป็นการทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ให้สามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมและพอใจ
เจ้าของ : คุณพิมพจิตต์ - พันโทหญิง พิมพ์จิราภา ธนปรีดาพิชิต
ออกแบบสถาปัตยกรรม : POAR
เรื่อง : เอกราช ลักษณสัมฤทธิ์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, บริษัทพอ สถาปัตย์ จำกัด