จากไม้ขีดไฟกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ ดูเขาทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ที่ IKEA of Sweden

จากไม้ขีดไฟกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ ดูเขาทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ที่ IKEA of Sweden

การได้มาเยือนสำนักงานใหญ่และร้านสาขาแรกของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ดังที่เมืองอัลม์ฮูลต์ (Almhult) เมืองเล็กๆทางตอนใต้ของประเทศสวีเดน ทำให้เราได้เห็นว่าก่อนที่ IKEA จะใหญ่โตไปทั่วโลกและมาเปิดสาขาที่ 330 ที่บางนา และกำลังจะเปิดอีกสาขาที่บางใหญ่ในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มต้นจากกิจการเล็กๆ ของเด็กสิบขวบที่เดินขายไม้ขีดไฟตามบ้านในช่วงปี 1940 ซึ่งเป็นยุคที่คนสวีเดนต้องปากกัดตีนถีบ

IKEA
Ingva Kamprad เมื่อครั้งยังมีชีวิต

หลังทำกำไรจากการซื้อไม้ขีดไฟมาแยกใส่กล่องขาย เด็กชายหัวการค้านามว่า อิงค์วา คัมปราด (Ingva Kamprad) ขยายกิจการต่อด้วยการนำเข้าปากกา นาฬิกา ไฟแช็ก เข็มขัด และกระเป๋าสตางค์ มาขายทางไปรษณีย์ และจดทะเบียนบริษัทชื่อว่า “IKEA” ชื่อนี้มาจากตัวอักษรนำหน้าของชื่อและนามสกุลตัวเอง ชื่อฟาร์ม (Elmtaryd) ตามด้วยชื่อหมู่บ้าน (Agunnaryd) ที่เขาอาศัยอยู่ จากนั้นก็ค่อยๆกลายมาเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และของตกแต่งบ้าน แรกๆ ก็ซื้อมาขาย หลังๆออกแบบและผลิตขายเองเลย

จากเพิงเก็บของหน้าบ้านหลังเล็กๆซึ่งเขาใช้เป็นที่เก็บสินค้า ปัจจุบัน IKEA สั่งผลิตสินค้าจากโรงงานทั่วโลกและมีคลังสินค้าขนาดเท่าเมืองย่อมๆอยู่หลายแห่ง ร้านของอิเกียโด่งดังจากการจัดแสดงแบบห้องจริง มีแคตตาล็อกที่จัดทำอย่างสวยงาม มีการขายสินค้าที่คนซื้อต้องนำไปประกอบเองที่บ้าน และที่สำคัญคือขายในราคาที่ต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ

คุณอิงค์วาจะเป็นเศรษฐีอันดับต้นๆของสวีเดน เมื่อตอนที่วัย 85 ปี เขายังคงขับรถเองและใช้บริการขนส่งมวลชนเป็นประจำ และยังคงพูดถึงการทำของดีในราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ซึ่งวันนี้เขาจะจากโลกนี้ไปอย่างสงบในวัย 91ปี

เราลองมาดูกระบวนการทำงานของแบรนด์นี้ที่ผู้คนรู้จักกันทั่วโลกไปพร้อมกันครับ

“Maskros”(มัสครูส เป็นภาษาสวีเดน แปลว่า ดอก Dandelion หรือดอกวัชพืชที่มีเกสรเป็นพุ่มกลมๆ) เกิดจากความคิดของ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเพิ่มโคมไฟแขวนเพดานดีไซน์ล้ำๆในคอลเล็กชั่นโคมไฟเดิมซึ่งส่วนมากจะเป็นแบบเรียบๆ เพื่อให้คนเห็นว่า IKEA ก็มีสินค้าดีไซน์เหมือนกับแบรนด์อิตาลีนะ แต่ราคาห้ามแพงมาก และต้องบรรจุใส่กล่องเล็กๆได้ด้วย Marcus Arvonen นักออกแบบผลิตภัณฑ์ จับรูปทรงของช่อเกสรเล็กๆเบาๆลอยๆมาออกแบบเป็นโคมไฟ โดยเลือกกระดาษพิเศษสำหรับทำซองจดหมายด่วน ราคาไม่แพง หาไม่ยาก กันน้ำได้ และเหนียว มาตัดเป็นรูปดาวกระจายดอกเท่าๆกัน ยึดติดกับโครงสร้างพลาสติกรีไซเคิลและซี่ลวด สามารถถอดออกเป็นชิ้นเล็กๆเพื่อให้ง่ายต่อการบรรจุกล่องและขนส่งด้วย
“Maskros” โคมไฟแขวนเพดานดีไซน์ล้ำๆในคอลเล็กชั่นโคมไฟเดิมซึ่งส่วนมากจะเป็นแบบเรียบๆ

ดูคนออกแบบ

Product Developer คือ ฝ่ายที่คิดว่าควรจะทำอะไรมาขาย สไตล์ไหน ราคาเท่าไร อยู่ตรงไหนในตลาด ส่วน Product Designer คือ ฝ่ายที่รับโจทย์มาออกแบบ หาวัตถุดิบที่เหมาะสม และหาวิธีผลิต เพื่อให้ขายได้ในราคาที่กำหนด วิธีการทำงานจะเป็นในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายช่วยกันเลี้ยงลูกไปตลอดทาง ซึ่งจะต้องผ่านคณะกรรมการอีกหลายด่านกว่าจะได้ไปอยู่ใน แคตตาล็อกเล่มงามในอีกสองปีข้างหน้า

“Lovet” โต๊ะรูปใบไม้คือสินค้าชิ้นแรกที่ออกแบบให้ “Flat Pack” หรือแยกร่างบรรจุในกล่องแบนๆได้ รุ่นนี้วางขายมาตั้งแต่ปี 1956
ภาพถ่ายลูกค้า IKEA ขนของขึ้นหลังคารถเพื่อนำไปประกอบเองที่บ้าน คนไทยชอบของดี ราคาไม่แพง แต่จะยอมขนไปประกอบเองไหม อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว

ดูคนทดสอบ

สิ่งสำคัญในการส่งสินค้าออกไปขายทั่วโลกคือ ต้องทำให้แน่ใจว่าถูกกฎหมายของทุกประเทศก่อน บริษัทลูกชื่อ IKEA Test Lab ทำหน้าที่ทดสอบผลิตภัณฑ์ทุกชิ้น และรายงานผลกลับไปให้ผ่ายพัฒนาและออกแบบ นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของมาตรากฎหมายทั่วโลก โดยจะถือเอากฎหมายที่โหดที่สุดของแต่ละประเด็นมาเป็นเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นความทนทาน ความปลอดภัย อายุการใช้งาน การติดไฟ การปล่อยสารระเหย การใช้วัสดุต้องห้าม รวมไปถึงการทดสอบความเหนียว การตกสี การซับน้ำของผ้าชนิดต่างๆ ฯลฯ

ทดสอบความทนทานของเฟอร์นิเจอร์ ด้วยการเลียนแบบสภาพการใช้งานจริง
ในห้องทดสอบการติดไฟของวัสดุที่จะใช้ทำโซฟา นักทดสอบจะวัดว่าใช้เวลาเท่าไรกว่าจะติดไฟ และดูว่าในสิบนาทีความเสียหายเกิดขึ้นขนาดไหน หรือมีสารพิษที่ออกมากับควันแค่ไหน แล้วนำข้อมูลไปเทียบกับเกณฑ์ที่กฎหมายของแต่ละประเทศกำหนด

ดูคนทำแคตตาล็อก

เมื่อผลิตของได้มาตรฐานที่ต้องการแล้ว ก็ถึงเวลาทำให้คนรู้ว่ามีอะไรขาย ราคาเท่าไร หน้าตาเป็นอย่างไรเมื่ออยู่ในบ้าน และที่สำคัญที่สุดคือทำให้ลูกค้าเดินทางมาซื้อที่ร้าน เครื่องมือสำคัญของการขายแบบนี้คือแคตตาล็อกสินค้าประจำปีสำหรับแจกฟรี ซึ่งกว่าจะได้เป็นเล่มต้องเตรียมการกันล่วงหน้าเป็นปี เพราะต้องออกแบบและก่อสร้างฉากทั้งหมดภายในโรงถ่ายทำขนาดใหญ่ ต้องวิเคราะห์ว่าแต่ละตลาดในโลกมีรสนิยมเฉพาะที่แตกต่างกันอย่างไร เพื่อจะได้ตกแต่ง จัดแสง และหานายแบบนางแบบให้เหมาะสม แคตตาล็อกแต่ละฉบับจะมียอดพิมพ์หลายล้านเล่มใน 32 ภาษา และมีหลายเวอร์ชั่นสำหรับตลาดต่างๆ

บรรยากาศการถ่ายทำแคตตาล็อก แม้ทุกอย่างจะจัดเซ็ตในโรงถ่ายขนาดใหญ่ ทว่ารูปที่ปรากฏในแคตตาล็อกจะดูอบอุ่นสมจริงมากๆ นอกจากจะต้องทำแคตตาล็อกแล้ว ทีมสไตลิสต์และนักออกแบบยังต้องคิดลูกเล่นที่จะนำไปใช้ในเว็บไซต์ด้วย
หน้าตาของแคตตาล็อกฉบับปัจจุบัน

ดูแคตตาล็อกได้ที่นี่

ดูคนขนส่งสินค้า

การสั่งผลิตทีละมากๆทำให้ต้นทุนต่ำ ราคาขายก็จะต่ำลงด้วย แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากในจัดการสินค้า การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทจึงอยู่ที่การบริหารการจัดเก็บและขนส่งให้รวดเร็ว แม่นยำ และประหยัด ก่อนจะเปิดสาขาใหม่ จึงต้องปรับส่วนนี้ให้รองรับปริมาณการสั่งของให้ได้ก่อน คลังสินค้าที่เราได้ไปเยี่ยมเป็นเพียงหนึ่งใน 30 ของทั้งหมดในโลก ซึ่งเป็นจุดกระจายสินค้าให้ตลาดยุโรปเหนือเท่านั้น ขนาดใหญ่โตมโหฬารมากแต่ใช้แรงงานคนน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ

กล่องบรรจุใหญ่ๆจะมีฐานติดอยู่เป็น ”พาเลตกระดาษ” ซึ่งบางและเบากว่า “พาเลตไม้” ทั่วไป ทำให้สามารถบรรจุเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ได้มากกว่า  เมื่อมาถึงคลังสินค้าเจ้าหน้าที่จะยกมาวางบนพาเลตไม้ ก่อนจะส่งลงสายพานเพื่อกระจายเก็บในคลัง
ภายในคลังสินค้ามีขนาดใหญ่มาก ถ้าไม่มีรถพามาคงไม่สามารถดูได้ทั้งหมดในวันเดียว ชั้นวางกล่องสินค้าบางส่วนสูงกว่าตึก4ชั้น แต่แทบไม่มีคนอยู่ในนี้เลย ของทุกชิ้นจะถูกตรวจสอบด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งจะเก็บข้อมูลว่าสินค้าไปอยู่มุมไหนของคลัง เพียงมีรายการสั่งของเข้ามา คอมพิวเตอร์ก็จะวิ่งไปหยิบสินค้ารุ่นนั้นที่เข้ามาอยู่ในคลังนานที่สุดออกมาให้
ภาพเปรียบเทียบโรงเก็บของเล็กๆที่เรียกได้ว่าเป็นคลังสินค้าแห่งแรกของ IKEA เมื่อกว่า 70 ปีก่อน กับหนึ่งในสามสิบคลังสินค้าที่มีในปัจจุบัน
“ระยะเวลาตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาด วางคอนเซ็ปต์ ออกแบบ พัฒนา คำนวณต้นทุน ผลิต ทดสอบ แก้ไข ถ่ายรูปเพื่อลงแคตตาล็อก และวางแผนการขนส่ง ใช้เวลาประมาณ 2 ปี ก่อนที่เราจะเห็นสินค้าวางอยู่ในร้าน IKEA”

 


ตามไปรู้จัก Ingvar Kamprad ผู้ก่อตั้งอีเกีย

ส่องสินค้าน่าซื้อจากแคตตาล็อกอิเกีย2018