5 โรคกุหลาบ พึงระวังและวิธีรักษาให้กลับมาสวย
สำหรับคนที่ชื่นชอบ”กุหลาบ”และอยากมีกุหลาบมาประดับสวนคงต้องเหนื่อยใจกับความขี้โรคของต้นไม้ชนิดนี้กันสักหน่อย ด้วย “5 โรคกุหลาบ” ต้องระวัง
โรคกุหลาบต้องพึงระวังเพราะกุหลาบเองก็เหมือนกับต้นไม้เมืองหนาวชนิดอื่นๆ ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น กุหลาบอังกฤษ กุหลาบเลื้อย เราจึงขอรวบรวม “5 โรคกุหลาบ” ที่พบมากในกุหลาบมาฝาก พร้อมวิธีการรักษาเบื้องต้นให้คุณได้ลองไปสังเกตและปรับใช้กับอาการกุหลาบในสวนของคุณดูครับ
1.ใบจุดสีดำ
อาการคือพบรอยจุดสีดำหรือน้ำตาลที่ขอบจุดไม่ชัดเจนคล้ายหยดหมึกที่แพร่ตามใบ จากนั้นใบจะเริ่มเหลืองและร่วงหลุดไปเรื่อยๆ มักพบในฤดูฝน สาเหตุเกิดจากใบเปียกในเวลากลางคืนทำให้เชื้อราแพร่กระจายได้ง่าย ดังนั้นวิธีป้องกันคือการทำให้ใบไม่เปียก
สำหรับผู้ที่ปลูกกุหลาบมืออาชีพจะเลือกใช้วิธีการปลูกในโรงเรือนที่กันฝนได้หรือใช้ถุงพลาสติกใสคลุมต้น แต่หากเลือกใช้สารเคมีฉีดพ่น ที่นิยมกันก็จะมี Mancozep , Triforine , Chlorathalonil หรือ Hexaconazole ตามสะดวก
สำหรับต้นที่เป็นโรคดังกล่าวแล้วควรตัดใบที่เป็นโรคออก รวมถึงใบเก่าและเศษใบที่ร่วงบริเวณโคนต้นให้หมด เพราะขณะที่ฝนตกหรือรดน้ำไปเชื้อราดังกล่าวก็ร่วงลงบริเวณโคนต้นด้วย เป็นสาเหตุของการระบาดต่อไป ดังนั้นผู้ปลูกกุหลาบจึงควรรดน้ำกุหลาบในแปลงตอนเย็นในช่วงบ่ายสามเพื่อให้มีเวลาที่น้ำตามใบแห้งสนิท
2.โรคตากบ
เป็นโรคกุหลาบ ที่มีอาการมีลักษณะคล้ายโรคใบจุดสีดำที่กล่าวมา แต่ขอบจุดชัดเจนไม่เป็นรอยคล้ายหยดหมึก ตรงกลางมีลักษณะเป็นจุดแห้งบางจุดคล้ายกับดวงตาของกบ ซึ่งลักษณะการป้องกันและกำจัดก็คล้ายกับโรคใบจุดที่เกิดจากการระบาดของเชื้อราอันเกิดจากความเปียกในเวลากลางคืน
3.โรคราแป้ง
อาการคือบริเวณใบเหมือนมีฝุ่นแป้งมาจับและพองงอ มักพบในช่วงเวลากลางวันที่มีอากาศร้อนจัดและกลางคืนอากาศเย็นชื้น ซึ่งพบในฤดูฝน วิธีป้องกันและรักษาขั้นแรกคือตรวจดูว่าต้นกุหลาบได้รับแสงแดดเพียงพอหรือไม่ หากอยู่ในที่ร่มควรนำตากแดดในทันทีและฉีดน้ำให้ใบในเวลากลางวันเปียกเรื่อยๆ ควบคู่กับใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ Triforine , Carbendazim หรือ Hexaconazole
4.โรคราน้ำค้าง
อาการคือส่วนใบอ่อนดูตก ใต้ใบแห้งเป็นสีม่วงแดง ถ้าเป็นมากจะเหี่ยวและแห้งไป ส่วนใบแก่ ก้านดอกและกลีบเลี้ยงจะเป็นแผลรูปริ้วสีน้ำตาลคล้ายสนิม สังเกตได้ง่ายเพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ใบร่วงในเวลารวดเร็ว ซึ่งหากเชื้อแพร่ไปทั่วลำต้นก็จะโทรมและตายในที่สุด พบได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาว การป้องกันคือในช่วงที่อากาศเริ่มเย็นควรฉีด Mancozep และตรวจสอบอาการผิดปกติอยู่เสมอ หากพบว่าเริ่มมีอาการของโรคดังกล่าว ควรตัดกิ่งที่เกิดอาการไปทำลายทันทีและฉีดพ่นสาร Metalaxy หรือ Cymoxanil เพื่อกำจัดโรคดังกล่าว
5.โรคราสีเทา
อาการคือดอกกุหลาบตุ้มไม่ยอมบานออกจนกลีบนอกเริ่มเหี่ยวแห้งหรือทำให้ดอกกุหลาบเหี่ยวง่ายเร็วกว่าปกติ พบในกุหลาบบางสายพันธุ์ที่อ่อนต่อโรค นอกจากนั้นยังทำให้ทั่วทั้งกิ่งเหี่ยวแห้งตามไปจนถึงโคนต้นได้อีกด้วย โดยวิธีป้องกันคือตัดกิ่งดังกล่าวเพื่อกำจัดและฉีดสาร Iprodione , Benomyl หรือ Captan
นอกจากโรคกุหลาบ ดังกล่าวยังมีโรคอื่นที่พบในกุหลาบอื่นๆ อีก รวมไปถึงศัตรูพืชอย่างหนอน เพลี้ยไฟ ไรแดง และเพลี้ยหอยที่คอยมากวนใจอีก ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมในหนังสือ “กุหลาบ” จากสำนักพิมพ์บ้านและสวนครับ
เรื่อง : “ปัญชัช”
ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน
คำถามสุดฮิตกุหลาบปลูกยากจริงหรือ
ชมสวนกุลาบสวยๆของมือใหม่หัดจัด
หนังสือกุหลาบ ROSES (ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม)