ล้ง 1919 หมุดหมายใหม่ของฝั่งธนฯ

ล้ง 1919 หมุดหมายใหม่ของฝั่งธนฯ

ล้ง 1919 ในอดีตจังหวัดธนบุรีเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของไทยซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ทางจังหวัดพระนคร ซึ่งเมื่อย้ายความเจริญของเมืองใหญ่ออกไป ทำให้ฝั่งธนบุรีในปัจจุบันยังคงรุ่มรวยเสน่ห์ความงามจากอดีตไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเก่าแก่ ร้านอาหารดั้งเดิม พื้นที่เกษตรกรรม วัดวาอารามและสถาปัตยกรรมโบราณที่ผสมผสานอยู่กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ล้ง 1919

 

ล่าสุด ฝั่งธนฯ กำลังจะมีหมุดหมายใหม่ที่เกิดจากสถาปัตยกรรมจีนโบราณซึ่งครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองอย่างมากเมื่อช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ได้หลับใหลผ่านกาลเวลามายาวนาน จนกระทั่งทางตระกูลหวั่งหลี ได้มองเห็นเสน่ห์ในมรดกเชิงศิลปวัฒนธรรมขอตระกูล จึงได้มอบหมาย คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี เจ้าของ PIA Interior Company Limited ทำการปัดฝุ่นหมู่อาคารจีนโบราณแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ ผ่านงานอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิง Heritage ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ที่มาของ “ล้ง 1919” (LHONG 1919)

ชื่อ “ล้ง” มาจากชื่อเดิมของที่นี่ว่า “ฮวย จุ่ง ล้ง” หมายถึง ท่าเรือกลไฟ เพราะเคยเป็นท่าเรือการค้าและโกดังเก็บสินค้าจากจีน สิงคโปร์ และฮ่องกง ฯลฯ จนเมื่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยเติบโต “ฮวย จุ่ง ล้ง” ก็ลดบทบาทลง กระทั่งปี ค.ศ.1919 นายตัน ลิบ บ๊วย ต้นตระกูลหวั่งหลีจึงได้เข้ารับช่วงเป็นเจ้าของต่อจากตระกูลพิศาลบุตร และปรับท่าเรือเก่าให้เป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าทางการเกษตร พร้อมกับเป็นที่อยู่อาศัยของคนงานและเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) หรือชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า MAZU นั่นคือที่มาของการเรียกที่นี่ใหม่ว่า “ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย – จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรม มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและงานฝีมือของเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ และพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย-จีนให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้เรียนรู้

ทำไมต้องไปดู “ล้ง 1919”

1. เสน่ห์แรกเริ่มของ “ล้ง 1919” อยู่ที่หมู่สถาปัตยกรรมจีน “ซาน เหอ ย่วน” ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นตัวอาคารก่ออิฐถือปูน 3 หลังเชื่อมต่อกันเป็นรูปเกือกม้า ปูพื้นไม้แผ่นใหญ่ หลังคาเป็นกระเบื้อง โดยมีอาคารด้านในที่ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอาคารประธานและเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ส่วนที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารทั้งสามเป็นลานอเนกประสงค์ นับเป็นอาคารจีนโบราณที่เหลือเพียงไม่กี่หลัง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและเปิดให้เราเข้าไปชื่นชม

 

2. มีการค้นพบจิตรกรรมฝาผนังโบราณอายุ 167 ปีซ่อนตัวอยู่ภายใต้สีที่ฉาบทับซ้ำไปซ้ำมาหลายชั้นและ เป็นเวลานาน เป็นการเขียนสีด้วยพู่กันลงบนผนังปูน ทั้งด้วยลักษณะการออกแบบและขนาดแต่ละห้องที่ แตกต่างกันยังสะท้อนให้เห็นว่าที่นี่เป็นแหล่งศูนย์ช่างฝีมือของชาวจีนในอดีต โดยลวดลายของจิตรกรรมนั้นแตกต่างกันไปตามกลุ่มฝีมือช่างชาวจีนที่อยู่อาศัยในแต่ละอาคาร

คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้บริหารโครงการ “ล้ง 1919” ท่าประวัติศาสตร์ไทย – จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เน้นหลักการรักษาโบราณสถานให้คงความงดงามตามสภาพที่เหลืออยู่ จึงเน้นการใช้สีที่ตรงกับของเดิมมากที่สุด คงรักษารูป ลายเส้น สี และรายละเอียดให้ครบตามต้นแบบ ไม่เติมแต่งของใหม่ลงไป ผนังอิฐที่แตกล่อนก็คงสภาพเดิมไว้ ใช้ปูนจากธรรมชาติแบบโบราณมายาช่วงรอยต่อที่แตก โครงสร้างไม้สักที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นของอาคารมาต่อเติม และขอบประตูหน้าต่างก็คงสภาพเดิมไว้ด้วยวิธีแบบโบราณ

สีที่พบในภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบจีน วาดด้วยสีฝุ่นลงบนผนังปูนแห้ง มีลักษณะพิเศษแบบสีเบญจรงค์ งานอนุรักษ์ภาพเดิมจึงเลือกใช้สีน้ำ เพราะซ่อมได้ง่ายและรวดเร็ว โดยใช้วิธีการผสมสีขึ้นใหม่ให้ใกล้เคียงเฉดเดิมมากที่สุด ใช้สีแต่น้อยผสมน้ำจำนวนมากเพื่อให้เจือจาง แล้วแต้มด้วยการลากเส้นตรงแนวดิ่งจากบนลงล่าง ไม่แต่งเติมภาพใหม่ที่ไม่เห็นหลักฐานเดิมปรากฏ แล้วเคลือบด้วยน้ำยาเคมีเพื่อรักษาสภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณไว้ให้สมบูรณ์ยาวนาน

3. ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) หรือชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า MAZU เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และศูนย์รวมใจของชาวจีน ที่เดินทางเรือมาอยู่ในแผ่นดินไทย ทั้งอยู่คู่กับ “ฮวย จุ่ง ล้ง” มาตั้งแต่แรกเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 องค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ทำจากไม้ มี 3 ปาง คือ ปางเด็กสาว ตามตำนานว่าท่านชอบปฏิบัติธรรม ให้พรด้านการขอบุตร ปางผู้ใหญ่ ให้พรด้านการค้าขายเงินทอง และปางผู้สูงอายุ เชื่อว่าท่านประทับอยู่บนสวรรค์ มีเมตตาสูง คนจีนที่เดินทางจากโพ้นทะเลนิยมกราบสักการะองค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่ช่วยให้เดินทางปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ

4. “ล้ง 1919” ในปัจจุบันจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ของฝั่งธนฯ ด้วยมีร้านอาหารชื่อโรงสี ร้านกาแฟชื่อกาฟงกาแฟ ร้านนายห้าง ร้านจำหน่ายงาน Art & Craft จากศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ พร้อม Co-Working Space ในบรรยากาศเก๋ๆ และอาคารจัดงานอีเว้นต์ต่างๆ รวมถึงลานกิจกรรมกลางแจ้ง ตลอดจนระเบียงนั่งเล่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีท่าเรือหวั่งหลีที่อำนวยความสะดวกในการสัญจรทางแม่น้ำโดยเฉพาะ นอกเหนือจากการเดินทางมาด้วยรถยนต์ซึ่งมีที่จอดรถพร้อมให้บริการ

 

 

“ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่บนถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน พร้อมเปิดให้บริการภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/LHONG-1919-472273323122096 โทรศัพท์ 09-1187 – 1919